4 มาตรการจากองค์การอนามัยโลก เพื่อลดการบริโภคโซเดียม และป้องกัน NCDs
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้เปิดตัวรายงาน Global report on sodium intake reduction ซึ่งเป็นรายงานเรื่องการลดการบริโภคโซเดียมในระดับโลก ผลของรายงานฉบับนี้ยังคงสะท้อนข้อกังวลต่อสถานการณ์การบริโภคโซเดียมของประชากรทั่วโลก ด้วยว่ายังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ระบุว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการบริโภคโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 ตามเป้าที่องค์การอนามัยโลกได้เคยกำหนด โดยในปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 5 ของสมาชิกองค์การอนามัยโลก 194 ประเทศ ที่มีการบังคับใช้กฎนโยบายที่คุ้มทุน และมีประสิทธิภาพในการลดการบริโภคโซเดียม
เป้าหมายนี้ถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 เมื่อประเทศสมาชิกเห็นพ้องในความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการลดการบริโภคโซเดียมของประชากรลง 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 ทว่าความคืบหน้าที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า และมีเพียงไม่กี่ประเทศสมาชิกที่สามารถลดปริมาณการบริโภคของโซเดียมได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีประเทศไหนที่สามารถทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย จึงได้มีการพิจารณาขยายเป้าหมายออกไปถึงปี 2573
ซึ่งหากทุกประเทศสามารถดำเนินนโยบายที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการลดการบริโภคโซเดียมในระดับประชากรได้ตามเป้า จะสามารถลดการเสียชีวิตของประชากรโลกได้มากถึง 7 ล้านคน ภายในปี 2573
ทั้งนี้ นโยบายที่ครอบคลุมในการลดการบริโภคโซเดียมในระดับประชากรนั้น หมายรวมไปถึงการบังคับใช้นโยบาย และมาตรการที่มีความคุ้มค่า หรือ ‘WHO best buy’ ทั้ง 4 มาตรการ ที่จะช่วยลดการบริโภคโซเดียมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประชากร ซึ่งประกอบด้วย
4 มาตรการ ที่จะช่วยลดการบริโภคโซเดียมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
1.การปรับสูตรอาหารให้ลดปริมาณโซเดียม และตั้งเป้าหรือเพดานเพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหาร
2.การดำเนินนโยบายจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ เพื่อจำกัดปริมาณโซเดียมในอาหาร หรืออาหารที่มีโซเดียมสูงในสถานที่ของรัฐ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ทำงาน สถานเลี้ยงเด็ก เป็นต้น
3.การดำเนินนโยบายฉลากโภชนาการหน้าบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้ออาหารที่มีโซเดียมต่ำได้
4.การทำการสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการรณรงค์สาธารณะเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากร
การลดการบริโภคโซเดียม นับเป็นการดำเนินงานที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ทุกประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งองค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกพัฒนาเพดานของปริมาณโซเดียมในอาหารแปรรูป ตามแนวทางของ WHO Global Sodium Benchmark และบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง
เพราะการบังคับใช้นโยบายและมาตรการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมนั้น จะมีประสิทธิภาพมากกว่าให้มีการดำเนินมาตรการแบบสมัครใจ เนื่องจากจะมีความครอบคลุมมากกว่า และปกป้องประชาชนจากการแสวงหากำไรของภาคธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของภาคอุตสาหกรรมอาหาร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีเพียง 9 ประเทศเท่านั้น ที่มีการบังคับใช้นโยบายที่ครอบคลุมในการลดการบริโภคโซเดียมตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือประเทศบราซิล ชิลี สาธารณรัฐเช็ก ลิทัวเนีย มาเลเซีย เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย สเปน และอุรุกวัย
ในรายงานฉบับนี้ ยังได้มีการนำเสนอ Sodium country scorecard Sodium Country Score Card | Global database on the Implementation of Nutrition Action (GINA) (who.int) ซึ่งเป็นการให้คะแนนประเทศ ตามจำนวนของมาตรการลดโซเดียมที่มีการดำเนินงานและบังคับใช้ ซึ่งมีระดับของคะแนนอยู่ที่ 1-4
โดยทั้ง 9 ประเทศที่กล่าวในข้างต้น คือประเทศที่ได้รับ 4 คะแนน จากการบังคับใช้มาตรการลดการบริโภคโซเดียมหลายมาตรการ และมีการดำเนินงาน WHO best buy ครบทั้ง 4 มาตรการ ส่วนประเทศไทยได้ 3 คะแนน เนื่องจากมีการบังคับใช้การแสดงปริมาณโซเดียมหน้าบรรจุภัณฑ์อาหารบรรจุภาชนะพร้อมจำหน่าย
จากรายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่าการผลักดันและขับเคลื่อนให้ผู้คนได้บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตและการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงระบบการผลิตอาหารในอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการบริโภคโซเดียม น้ำตาล และไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากเกินไป
โดยจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาหารมากที่สุดประมาณ 1.89 ล้านคนต่อปี มาจากการบริโภคโซเดียมเกิน และการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 4,310 มิลลิกรัมต่อวัน ก็สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าควรบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ซึ่งการลดการบริโภคโซเดียมเป็นหนึ่งในวิธีที่คุ้มค่าที่สุด ในการแก้ปัญหาสุขภาพและลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และมาตรการทั้ง 4 (WHO best buy) ก็เป็นมาตรการที่ทุกประเทศควรเร่งดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้การบริโภคโซเดียมของประชากรโลกลดลงอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้