“สถานีเกษตรแบ่งปัน” พาชุมชนสู่พลเมืองอาหารเพื่อสุขภาวะ

“สถานีเกษตรแบ่งปัน” พาชุมชนสู่พลเมืองอาหารเพื่อสุขภาวะ

ปัจจุบัน การทำเกษตรแบบอินทรีย์ดูจะมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากการที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจและใส่ใจกับสุขภาพตัวเองยิ่งกว่าเดิม หลังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 มา เห็นได้ชัดเจนจากมุมขายผักปลอดสาร ที่ข้าวของเครื่องใช้ออร์แกนิกส์ในซูเปอร์มาร์เก็ตได้รับการขยับขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น นอกจากนี้ ตลาดนัดหลายแห่งก็แบ่งพื้นที่ให้พืชผักผลไม้ปลอดสารด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงพบว่า มีสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ที่เกินค่ากำหนดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในห้างค้าปลีก ตลาดค้าส่ง รวมถึงอาหารในโรงเรียน ขณะเดียวกันเมื่อมีการวิเคราะห์ข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจชาวบ้านในชุมชน ก็พบด้วยว่า ยังคงมีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรเพื่อรองรับความต้องการผลผลิตที่สวยงามและมีปริมาณมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบอาหารที่ยังไม่มั่นคงนั่นเอง

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าวที่ว่ามา ทำให้มีการจัดตั้ง ‘สถานีเกษตรแบ่งปัน’ ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนชุมชนสู่พลเมืองอาหารเพื่อสุขภาวะ ภายใต้ระบบอาหารที่มีความมั่นคงและยั่งยืน

01 6 Gindee Club กินดี คลับ

ราชบุรีโมเดล ตัวอย่างสถานีเกษตรแบ่งปัน

ราชบุรีโมเดล คือ แหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ของอำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่มีการเชื่อมโยงแหล่งบริโภคอย่างครอบคลุม ตั้งแต่กลุ่มเด็ก เยาวชน พ่อบ้าน แม่บ้าน ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ไปจนถึงแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีการพัฒนาแหล่งผลิตที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พืชผัก ผลไม้ และไข่ไก่

รูปแบบของราชบุรีโมเดลเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยวิถีการผลิตการบริโภคผลผลิตอินทรีย์ บนจิตสำนึกของสมาชิกผู้เข้าร่วม ด้วยบรรยากาศของการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้ และร่วมกันออกแบบให้เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของวัฒนธรรมชุมชน

จนได้รับการพัฒนาเป็น ‘โครงการสถานีเกษตรแบ่งปัน ณ ราชบุรี การพัฒนาต้นแบบชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะเชิงบูรณาการสู่วิถีชุมชน’ ด้วยการสนับสนุนของ สสส. มีบาทหลวง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย อ่องนาวา แห่งชุมชนคาทอลิก วัดนักบุญอักแนส เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการฯ 

02 10 edited Gindee Club กินดี คลับ

ผลลัพธ์สถานีเกษตรแบ่งปัน ออกดอกผลเป็นต้นแบบโมเดลต่างๆ

การเกิดขึ้นของโครงการสถานีเกษตรแบ่งปัน ณ ราชบุรี การพัฒนาต้นแบบชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะเชิงบูรณาการสู่วิถีชุมชน ส่งผลต่อการการพัฒนาองค์ความรู้ มีการถอดบทเรียนและต่อยอด ช่วยพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งการส่งเสริมกระบวนการผลิต เพื่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และถูกหลักโภชนาการ ร่วมกับสมาชิกในชุมชน รวมถึงภาคีเครือข่าย ในด้านการเป็นต้นแบบและโมเดลต่างๆ คือ

– ต้นแบบแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มีสำนักงานเกษตรอำเภอสวนผึ้งใช้เป็นต้นแบบในการจัดคณะต่างๆ มาศึกษาดูงาน
– ต้นแบบการผลิตที่มีความเชื่อมโยง สอดคล้อง เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์
– ต้นแบบการพัฒนาแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีผลผลิตต่อเนื่องและมีคุณภาพ
– ต้นแบบการพัฒนาแกนนำชุมชน เพื่อให้เกิดชุมชนเกษตรแบ่งปัน
– โมเดลการขับเคลื่อนชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะ
– โมเดลระบบเศรษฐกิจชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะ
– หลักสูตรการพัฒนาชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะ ตามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ
– ผลิตภัณฑ์ต้นแบบอาหารเพื่อสุขภาวะ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนอาหาร 

03 3 Gindee Club กินดี คลับ

หมุดมายที่อยากไปให้ถึง ของสถานีเกษตรแบ่งปัน

บาทหลวงผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร.วุฒิชัย อ่องนาวา ผู้ดูแลรับผิดชอบสถานีเกษตรแบ่งปัน เล่าถึงโครงการฯ ว่า สิ่งที่ตั้งเป้าไว้ คือ อยากให้มีสถานีเกษตรแบ่งปันอำเภอละแห่งในจังหวัดราชบุรี เพื่อสะดวกในการเข้าถึง หากต้องการทำให้เกิดความยั่งยืนต้องมีแบบนี้ ซึ่งตอนนี้ค่อยๆ สะสมต้นทุนทั้งกำลังคน การบริหารจัดการ การบริหารเครือข่าย ต้องมองไปถึงองค์รวมการสร้างชุมชน

โครงการฯ ต้องการให้ชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ แล้วจัดการให้เป็นระบบ โดยโครงการฯ ออกแบบการปลูกทุกสัปดาห์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ มีการเชื่อมโยงส่งผักให้กับครัวโรงพยาบาลสวนผึ้ง และส่งครัวโรงเรียน มีรถสถานีเกษตรแบ่งปัน ซึ่งนัดส่งผักไปยังจุดรับตามพรีออเดอร์ และมีจุดจอดประจำทุกวันพุธที่โรงพยาบาลสวนผึ้ง

นอกจากการออกแบบการผลิตแล้ว สถานีเกษตรแบ่งปันยังให้ความสำคัญกับการขายด้วย ทั้งการจัดชุดผักให้สอดคล้องกับการบริโภคของครัวเรือนขนาดเล็กและขายในราคาเดียวกัน ออกแบบแพ็กเกจจิ้งอย่างมีมาตรฐาน รวมถึงมีการจัดการเรื่องมาตรฐานความสะอาดของคนขาย สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างในการที่จะนำสถานีเกษตรแบ่งปันไปสู่ความยั่งยืน คือ การดำเนินการที่สามารถตอบโจทย์วิถีของคนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะส่งต่อสิ่งที่ทำอยู่นี้ไปสู่รุ่นต่อไปได้

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ได้มีการพลิกผืนแผ่นดินจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับชุมชนเล็กๆ ด้วยการทำให้ชาวบ้าน คนในชุมชน ได้เห็นคุณค่าของการทำเกษตร ทุกสิ่งที่ลงมือล้วนมีมูลค่า และยังได้พัฒนาวิธีคิด ได้เรียนรู้ แบ่งปันข้อมูลว่าการปลูกอย่างละน้อย แต่หลากหลาย ต่อเนื่อง และเริ่มต้นจากปลูกให้ตัวเองกิน จากนั้นจึงนำส่วนที่เหลือไปจำหน่ายจ่ายแจก นับเป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิต 

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.