สนุกเรียนรู้ ดูแลช่องปากเด็กวัยเรียนด้วยการเลือกกินให้เป็น ผ่านการ์ดเกม Snack Time
หากพูดถึงเกมมิฟิเคชั่น (Gamification) หลายคนคงสงสัยว่าคืออะไร แต่หากพูดถึงการ์ดเกม คงร้องอ๋อ…กันเป็นแถว เกมมิฟิเคชั่น เป็นการใช้เทคนิคในรูปแบบของเกม หรือกลไกเกม ช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่สนุกสนาน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เกมเพื่อการเรียนรู้ผ่าน การ์ดเกม ‘Snack Time’ มาจากไอเดียของ ‘โครงการผลของการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียนในจังหวัดแพร่’ โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้กลไกของเกม ซึ่งได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการขับเคลื่อนนโยบายเครือข่ายลดบริโภคหวานและสื่อสารสร้างความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.
ทพญ.หทัยขวัญ มงคล หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นการ์ดเกม Snack Time เกมสนุกๆ ที่สร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียนในจังหวัดแพร่ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ทำงานกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. และภาคีเครือข่าย แก้ปัญหาช่องปากเด็กในโรงเรียนมายาวนาน 10-20 ปี
ตั้งแต่ยุคที่เด็กๆ ดื่มน้ำอัดลมเยอะมาก มีการส่งเสริมการแปรงฟัน มาตรการควบคุมการบริโภคน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ ทั้งในโรงเรียนและรอบโรงเรียน ขับเคลื่อนจนเกิดมาตรการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ ครอบคลุมเต็มพื้นที่ในจังหวัดแพร่
ทว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีคนเข้าออกตลอดเวลา ผู้อำนวยการ ครู นักเรียนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน แม้ในแต่ละปีจะมีการกำกับดูแลติดตามสถานการณ์โรงเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอุปสรรคอะไร ดูแลให้คำแนะนำสม่ำเสมอ โรงเรียนก็ให้ความร่วมมืออย่างดี จนกลายเป็นงานประจำ แต่พฤติกรรมเด็กยังดื่มยังกินน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มรสหวานเยอะอยู่ดี
“ก่อนเริ่มโครงการฯ นี้ เราร่วมกับโรงเรียนดำเนินการควบคุมความหวานในเครื่องดื่มที่จำหน่ายในโรงเรียน โดยนำเครื่องมือตรวจวัดความหวานไปตรวจ พบว่าเครื่องดื่มที่ชงขายหวานมาก จึงหารือกับคนขายให้ปรับสูตรลดส่วนผสมของน้ำตาลให้เป็นเครื่องดื่มหวานน้อย ค่อยๆ ลดในกลุ่มเด็กโตเพื่อให้เด็กปรับตัวได้
“ส่วนเด็กเล็กเราใช้วิธีลดหวานทันที ช่วงแรกมีเสียงบ่นบ้าง แต่เราก็เตรียมน้ำเย็น น้ำเปล่าไว้ให้เป็นทางเลือก จะเห็นว่าการจัดการปัญหาช่องปากเด็กวัยเรียนจังหวัดแพร่ มีมาตรการหลายอย่างในการดูแลทำให้ฟันผุลดลง
“เด็กๆ ฟันผุลดลง จากค่าเฉลี่ยเกือบ 2 ซี่ เด็กมีฟันผุไม่ถึง 1 ซี่ แต่เป้าหมายของเราคือ เด็กฟันไม่ผุเลย ขณะที่พฤติกรรมเสี่ยงยังอยู่รอบตัว แปรงฟันน้อย ก่อนนอนไม่แปรง เครื่องดื่มรสหวานก็ยังกินอยู่ ดังนั้นเป้าหมายที่จะทำให้เด็กมีฟันผุลดเป็น 0 จะต้องหากลไกเสริม ไม่ใช่สร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงเท่านั้น
“นั่นจึงเป็นที่มาของการประยุกต์นำเกมมิฟิเคชั่น มาจัดการเรียนรู้สุขภาพช่องปากให้สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ และสามารถเข้าถึงเด็กได้ง่าย เพื่อปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติในการบริโภคอาหารที่เหมาะสม ลดการบริโภคหวาน เกิดความตระหนักด้วยตัวเอง”
อย่างที่เกริ่นในตอนแรก การ์ดเกม Snack Time คือเกมมิฟิเคชั่นที่ไม่ใช่เกมที่เราแค่เล่นเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่กลไกของเกมจะกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ทพญ.หทัยขวัญ บอกถึงวัตถุประสงค์ว่า นอกจากต้องการให้เด็กมีความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากแล้ว สิ่งสำคัญคือ มีพฤติกรรมการเลือกกินขนมที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยมุ่งกระบวนการเรียนรู้ที่รู้สึกว่าเล่นไม่ได้เรียน เกิดแรงจูงใจในตัวของเขาเอง
“การ์ดเกม Snack Time ชุดนี้ คุณหมอ คุณครู ได้ร่วมกันออกแบบเกมที่เหมาะสมกับเด็ก เป็นการ์ดเกมง่ายๆ รูปขนมที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เรารวบรวมขนมทั้งหมดให้มาอยู่ในการ์ด แล้วให้เลือกหยิบขนมที่ชอบกิน การ์ดจะบอกว่าขนมชนิดไหนมีน้ำตาลเท่าไหร่ ทำให้เห็นภาพชัดว่าหากกินน้ำตาลเกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชาต่อวัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และเกิดฟันผุได้
“โดยที่ก่อนหน้านี้เด็กไม่รู้เลยว่า ควรกินน้ำตาลวันละเท่าไร ขนมเมื่อกินเข้าไปจะมีเวลาอยู่ในช่องปากนานเท่าไร ถ้ากินขนมกรอบๆ ส่วนใหญ่คือแป้ง ลูกอมน้ำตาลเยอะ เป็นต้น ส่วนขั้นตอนการเล่นก็ให้น้องๆ ทันตาภิบาล ทดลองนำไปเล่นกับเด็ก ร่วมกับการสอนแปรงฟันปกติ”
โครงการฯ นี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบ Two group pretest-posttest design มีกลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 360 คน ในโรงเรียนที่ดำเนินโครงการโรงเรียนต้นแบบเด็กแพร่ไร้ฟันผุ สุขภาพดี สูงดีสมส่วน และปลอดโรค 41 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 20 แห่ง จำนวน 180 คน กลุ่มควบคุม 21 แห่ง จำนวน 180 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากโดยกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้กลไกของเกม ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับทันตสุขศึกษาปกติ
ผลวิจัยพบว่า กระบวนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากด้วยกลไกเกมมิฟิเคชั่นผ่านการ์ดเกม SnackTime ส่งผลต่อการเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากของกลุ่มตัวอย่างได้จริง โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่เสี่ยงต่อฟันผุ และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือไม่ ปัจจุบันผลิตการ์ดเกม SnackTime จำนวน 50 ชุด เพื่อให้โรงเรียนละ 2 ชุด
“สิ่งที่ได้ นอกเหนือจากความรอบรู้ด้านสุขภาพ คือการที่บรรยากาศของการทำงาน ภาพของทันตาภิบาลกับหมอฟันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนปกติเด็กจะกลัวหมอฟัน เห็นหมอฟันมาโรงเรียนทีไรกลัว วิ่งหนีทุกที แต่พอเราเอาเกมเข้าไปเล่นกับเด็ก หมอกลายเป็นเพื่อน ถามคุณหมอว่าจะมาเล่นเกมอีกเมื่อไหร่ ก็เป็นการสร้างทัศนคติที่ดี
“รวมถึงความสัมพันธ์ของคุณครู คุณหมอ ที่การทำงานร่วมกันทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น คุณครูก็มองเราเปลี่ยนไป มีทิศทางที่ดีในการทำงาน หมอมองว่าความเป็นทีมเวิร์กสำคัญในพื้นที่ เราเป็นพระเอกหรือคนนำตลอดเวลาไม่ได้ เรื่องฟันเราจะเก่งที่สุด แต่สุขภาพปากพระเอกต้องเป็นตัวเขาเท่านั้น”
การ์ดเกม SnackTime จึงไม่ได้เป็นเพียงกลไกหรือเครื่องมือที่สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากเท่านั้น แต่เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ให้หมอได้ถอดความเป็นหมอ แต่เป็นเพื่อนเป็นครูอีกคนของนักเรียนกับคุณครู
“เมื่อทำงานร่วมกัน เรารู้ว่าเรามีทิศทาง มีเป้าหมายเดียวกัน คือสุขภาพช่องปากที่ดีของเด็กๆ”