นคร ลิมปคุปตถาวร “เจ้าชายผัก” แห่งเกษตรยั่งยืน

นคร ลิมปคุปตถาวร “เจ้าชายผัก” แห่งเกษตรยั่งยืน

เขาเป็นคนที่สนใจเรื่องการทำสวนผัก และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทำงานขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ในเมืองมาตั้งแต่เริ่มต้น เขาคนนั้น คือ นคร ลิมปคุปตถาวร เจ้าของสมญานาม ‘ปรินซ์’ หรือ ‘เจ้าชายผัก’ ซึ่งเป็นชื่อที่คนในกลุ่มการทำสวนผักในเมืองมอบให้

จุดเริ่มต้นของนครกับความสนใจทำสวนผักอินทรีย์เกิดขึ้นตอนเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่นั่นถือเป็นที่แรกที่มีวิชาเกษตรยั่งยืน ซึ่งมันทำให้เขาสงสัยว่า เกษตรกรรมที่ทำกันอยู่ มันไม่ยั่งยืนอย่างนั้นหรือ?

อาจารย์ชนวน รัตนวราหะ อาจารย์ผู้สอนของนครในตอนนั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรยั่งยืนในไทย ให้คำตอบแก่เขาว่า ถ้าเกษตรจะยั่งยืน ต้องมี 3 คำ ได้แก่ การพึ่งตนเอง ความหลากหลาย และความผสมผสานเกื้อกูล

การเรียนที่เน้นให้ได้ประสบการณ์จริงจากผู้รู้และลงมือทำ รวมถึงการได้ไปฝึกงานที่ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ทำเกษตรอินทรีย์ในยุโรปมากที่สุดขณะนั้น ทำให้ชีวิตของนครหยั่งรากลงไปในวิถีเกษตรยั่งยืนด้วยความเต็มใจ และเมื่อประกอบกับความเป็นวัยหนุ่มที่ต้องการเรียนรู้แสวงหา มันก็นำพาตัวเขาไปสู่สิ่งที่สนใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ผ่านโอกาสที่เข้ามาในรูปแบบการทำงานและการทำปริญญาโท ที่แน่นอนว่า เขายังปักหลักการเรียนด้านเกษตรกรรมยั่งยืน

นครบอกว่า เขาอินกับเรื่องการมีส่วนร่วม และมันทำให้เขาได้ไปทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ ซึ่งเปิดโลกที่เขาสนใจอย่างกว้างขวางและลึกซึ่งยิ่งกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ การทำตลาดเขียว จากนั้นผืนดินที่บ้านของเขาในย่านลาดพร้าว ก็เกิดเป็นสวนผักเล็กๆ ที่ตั้งใจจะปลูกกินเอง ควบคู่กับการทำงานกับสวนผักคนเมือง

S 152600586 Gindee Club กินดี คลับ

เรียนรู้ความศักดิ์สิทธิ์แม่ธรณี ผ่านการทำสวนไบโอไดนามิก

พัฒนาการของแนวคิดและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้นครมีการเกิดเติบโตทางความคิดมากขึ้น งานที่เขาสัมพันธ์ด้วยหลังจากนั้นจึงเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ งานตรวจรับรองมาตรฐาน เปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ฯลฯ ซึ่งเฉดความหลากหลายของงานนำไปสู่ความยั่งยืน ทั้งในมิติสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ

วันนี้สวนผักของนครในย่านลาดพร้าวขยับขยายขึ้นจากพื้นที่เดิมสู่ที่ดินกว่า 100 ตารางวา เป็นสวนในผืนดินข้างบ้านของเขากับภรรยาและลูกๆ ขณะเดียวกันบ้านหลังนี้ก็เปิดพื้นที่เป็นตลาดเขียวเล็กๆ ทุกวันเสาร์ที่สามของเดือน ซึ่งชวนให้คนเข้ามาเรียนรู้การทำสวนผัก ที่เขาให้ชื่อว่า ‘สวนศักดิ์สิทธิ์แห่งแม่ธรณี’

มากไปกว่านั้น จากที่เคยทำสวนในแนวทางเกษตรอินทรีย์ ตอนนี้นครกำลังเรียนรู้การทำสวนในแบบ ‘ไบโอไดนามิก’ ตามความสนใจที่เปลี่ยนไป พร้อมกับถ่ายทอดความรู้นี้ผ่านการอบรมให้กับผู้สนใจไปด้วย

นครบอกว่า ไบโอไดนามิกเกิดมา 100 ปี เกษตรธรรมชาติเกิดมาได้ 90 ปี เกษตรอินทรีย์เกิดมา 82 ปี ทุกเรื่องคือการพูดเกี่ยวกับพลังชีวิตทั้งหมด เป็นการเอาหัวใจกลับมา และตอนนี้ก็กำลังย้อนกลับไปที่ราก กลับไปสู่เจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ ซึ่งคือการฟื้นฟูนั่นเอง

S 152600583 Gindee Club กินดี คลับ

Back To The Root กลับสู่รากด้วยไบโอไดนามิก

เจ้าชายผักเล่าถึงรายละเอียดปลีกย่อยในการทำสวนแบบไบโอไดนามิกเพิ่มเติมว่า การทำสวนด้วยแนวทางดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลิตอาหารที่เปี่ยมด้วยพลังชีวิต ตามแนวทางของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ปราชญ์ผู้ก่อตั้งการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ

ไบโอไดนามิก คือ back to the root กลับไปสู่รากฐานของมันจริงๆ โดยนครกำลังพยายามมองหาว่า คนสมัยก่อนต้องการไปสู่อะไร? และอะไรคือเป้าหมายของพวกเขา? ทั้งนี้ ไบโอไดนามิกอยู่บนรากฐานของ Anthroposophy คือ การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แล้วอาหารที่จะนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คืออะไร?

ในเรื่องนี้ สไตเนอร์ตอบคำถามว่า ปัจจุบัน การที่คนมีจิตใจอ่อนแอเป็นปัญหาของ nutrition อาหารการกิินไม่มีสะพานเชื่อมระหว่างความคิดและการกระทำของคน พูดง่ายๆ ว่า มีพลังชีวิตไม่พอที่จะทำให้ความคิดไปแปรเปลี่ยนการกระทำ และการกระทำไม่ไปทำร้ายความคิดของเรา

อาหารมีความสำคัญกับชีวิตมาก อาหารที่มีพลังชีวิตคืออาหารที่เติบโตด้วยพลังของอาหารเอง และพลังของอาหารเองก็คือพลังจากธรรมชาติ พลังที่ได้รับมาจากดิน น้ำ ฟ้า ดาว อย่างไรก็ตาม นครยอมรับว่า การอธิบายเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา เขาจึงหวังให้มันแสดงตัวผ่านงานที่เขากำลังเรียนรู้ และผ่านการปฏิบัติจริงในห้องเรียนข้างบ้าน 

S 152600585 Gindee Club กินดี คลับ

ให้โชคชะตานำทาง สู่อนาคตของเกษตรยั่งยืน

ตลอดยี่สิบปีที่คลุกคลีกับการทำงานเรื่องเกษตรยั่งยืน นครบอกว่า เขามีเหตุผลเพียงแค่ อยากทำให้ชีวิตและสังคมที่รายล้อมดีขึ้น ครั้งหนึ่ง วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด เคยพาคุณโช ประธาน Hansalim สหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภคในเกาหลีใต้ ที่ส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์ในเกาหลีใต้ มาที่บ้านของนคร และคำพูดของเขาเป็นแรงผลักดันของตัวนครเองด้วย

คุณโชบอกว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาทำเหมือนที่นครทำอยู่ คือพยายามสร้างคอมมูนิตี้เชื่อมโยงคนที่เข้าใจขึ้นมา นั่นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้นครอยากทำเรื่องนี้อยู่และยังอยู่ตรงนี้ นครคิดว่าในอนาคตคงได้ทำเรื่องพวกนี้มากขึ้นและเชื่อมโยงมากขึ้น เขาคิดว่าเรื่องเกษตร เรื่องดิน เรื่องพลังชีวิต เรื่องสร้างชุมชน เป็นเรื่องที่เขาเลือกอยู่แล้ว แต่มิติที่มีเข้ามามากขึ้นอย่างงานเรียนรู้และส่งต่อก็เป็นงานที่เขาสนใจ ซึ่งจะขยับขยายยังไงก็ต้องรอดูต่อไปในอนาคต

มาถึงตรงนี้ นครเล่าถึงความคิดด้วยท่าทีสบายๆ พลางหัวเราะน้อยๆ แล้วบอกว่า “เป็นเรื่องของโชคชะตา” 

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.