ชาวนาบ้านโนนยาง ผู้พิทักษ์พันธุ์ข้าว เพราะเชื่อว่า ‘ข้าว’ คือทรัพย์จากดิน

ชาวนาบ้านโนนยาง ผู้พิทักษ์พันธุ์ข้าว เพราะเชื่อว่า ‘ข้าว’ คือทรัพย์จากดิน

เมื่อได้ยินคำว่า ‘ข้าวใหม่’ ของคนยุคนี้ คงจะนึกถึงข้าวที่นุ่มหอมอร่อย แต่สำหรับคนสมัยก่อน ‘ข้าวใหม่’ มีความหมายอย่างลึกซึ้งกับชาวนา เพราะนั่นหมายถึงวันแห่งความพ้นทุกข์ด้วย

พ่อบุญส่ง มาตขาว ปราชญ์ชาวนาผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร กำลังบอกเล่าความสำคัญของข้าวใหม่ของชาวนาสมัยก่อนให้เราฟังด้วยสำเนียงอีสานว่า “มันส่วง” ซึ่งแปลว่า สดชื่น โล่ง สบาย

เพราะเมื่อถึงปลายฤดู ข้าวจะหมดยุ้ง เมื่อข้าวหมดยุ้ง ชาวนาก็เป็นทุกข์ ไม่มีข้าวให้ลูกหลานกิน ภาพจำติดตาของพ่อบุญส่ง คือคนเดินเอาผ้าขาวม้ามาขอข้าวไปกิน ซึ่งเป็นความทุกข์ของชาวนาสมัยก่อน ข้าวใหม่จึงหมายถึงความเบิกบานใจที่จะมีกินอีกครั้ง

“สมัยก่อนถ้าใครมีข้าวถือว่ามีทรัพย์สิน เพราะว่าเงินทองไม่ค่อยได้ใช้ มีเงินก็ไม่มีที่ซื้อ ไม่มีที่ใช้เงิน ซื้อก็ไม่มีคนขาย ความสำคัญของเงินไม่เหมือนทุกวันนี้ ส่วนมากจะเอาน้ำใจช่วยกัน อย่างพ่อทำเสร็จก่อนก็จะไปช่วยบ้านลุงลงนาลงแขกกัน แต่ทุกวันนี้จ้างอย่างเดียว สมัยก่อนไม่ต้องใช้ตังค์ ไหว้วานกัน โสยข่อยเกี่ยวข้าวด้วยเด้อ ไปลงแขก เจ้าของนาจะทำกับข้าวไปเลี้ยงกัน”

แต่ความทุกข์ของชาวนาในอดีต อาจดูเป็นสิ่งที่น่าอิจฉาของคนในยุคนี้ เพราะคำพ่อบุญส่งบอกตบท้าย “คนสมัยเก่าเขาจะได้กินข้าวใหม่อยู่ตลอด เพราะชาวนาปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งออกผลผลิตระยะเวลาแตกต่างกัน ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ปลูกข้าวไม่กี่สายพันธุ์ ออกผลผลิตทีละมากๆ คนยุคนี้จึงได้กินข้าวใหม่ไม่บ่อยเหมือนคนยุคก่อน”

ปลูกหลากหลายได้กินหลากหลาย

“ข้าวเจ้าเหลือง ข้าวก่ำ มะลิ105 มะลิแดง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวเล้าแตก” พ่อบุญส่งชูถุงข้าวไล่เรียงชื่อให้ฟังอย่างไม่คุ้นหู ทุกสายพันธุ์ปลูกในพื้นที่นาโยง จังหวัดยโสธร ภาคอีสานไม่ราบลุ่มเหมือนภาคกลาง ชาวนาจึงจำเป็นต้องหาสายพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองกับนิเวศ ด้วยเหตุนี้ภาคอีสานจึงมีข้าวหลายสายพันธุ์ โดยคัดเลือกพันธุ์เหมาะสมกับนิเวศในพื้นที่

พันธุ์ข้าวที่ต่างกันจะออกผลผลิตในระยะเวลาตามพันธุ์ข้าว เรียกว่า ข้าวเบา ข้าวกลาง ข้าวหนัก ข้าวหนักเป็นข้าวที่ใช้เวลาปลูกมากที่สุด 5-6 เดือน และสะสมสารอาหารมากที่สุดด้วย ได้แก่ ข้าวเนื้อแดงพันธุ์ปกติดั้งเดิม ข้าวเหนียวดำพันธุ์เปลือกข้าว ส่วนข้าวกลางจะปลูกในที่นาพื้นที่สูงขึ้นมานิดหน่อย มีน้ำน้อยกว่านาลุ่ม มีสารอาหารดีกว่าข้าวเบา ชาวนาในอดีตจึงเก็บเกี่ยวข้าวหลายครั้ง เพราะผลผลิตแต่ละสายพันธุ์ออกแตกต่างกัน

ข้อดีของเทคโนโลยีทางการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องใช้แรงในการทำนาเหมือนเมื่อก่อนที่ไม่มีเครื่องจักรกล ชาวนาทำไร่ทำนาได้เร็วขึ้น เกี่ยวข้าววันเดียวเสร็จ การปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ต้องเก็บเกี่ยวหลายครั้ง จึงปรับผืนนาปลูกข้าวสายพันธุ์เดียว เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว ความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวจึงเริ่มหายไป เนื่องจากความไม่อยากยุ่งยากของเกษตรกร บวกกับความต้องของผู้บริโภคเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวนาปลูกข้าวไม่กี่สายพันธุ์ตามความต้องการของตลาด

“แต่ก่อนครอบครัวพ่อเป็นชาวนา ที่นาเยอะ มีข้าวหลายสายพันธุ์ หลักๆ ก็ข้าวนาลุ่ม ข้าวขาว ข้าวเหนียว ข้าวก่ำ (ข้าวเหนียวดำ) ข้าวดอหอมนางนวล ข้าวเล้าแตก ข้าวเหนียวดอหางฮี เป็นสิบๆ สายพันธุ์ เลยผลิตหลายสายพันธุ์เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มีทางเลือก อยากได้ข้าวเหนียวดำ ข้าวเจ้าเหลืองก็ทำให้ หลายคนบอกอยากกินข้าวหลายอย่างก็ผสมข้าวหลากหลายสายพันธุ์ไปในถุงเลยก็มี อยากกินข้าวอะไรก็สั่งเราผลิตได้”

ปรับปรุงเพื่ออยู่รอด

พืชทุกชนิดรวมถึงข้าวต้องอาศัยน้ำเพื่อการเจริญเติบโต น้ำมีความสำคัญสำหรับการปลูกข้าวในภาคอีสาน ถ้าปลูกข้าวที่ใช้เวลาปลูกนาน ข้าวก็อาจไม่รอด เพราะฝนหมดก่อนข้าวจะครบอายุ

“มันไม่ทันน้ำ เดือนกันยา-ตุลาฝนหยุดตกแล้ว ถ้าฝนหยุดทุ่งนาก็แห้ง ปลูกข้าวอายุยาวมันไม่แก่ มันตายก่อน ถ้าทำให้อายุข้าวมันสั้นลง ถึงน้ำแห้งไปก็ไม่กระทบกับผลผลิต”

ปัจจัยเรื่องน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ลุ่ม โดยปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้อายุสั้นลง อย่างข้าวเหนียวแดงจากเดิมที่ใช้เวลาปลูก 150 วัน ลดลงเหลือ 90-120 วัน

“ที่เรายังเหลือข้าวหลายสายพันธุ์ ส่วนหนึ่งเราเอาความต้องการทางการตลาดของผู้บริโภคกลุ่มเฉพาะนำการผลิต ตอนนี้มีผู้บริโภคบางรายไม่อยากกินข้าวหอมมะลิหรือ กข6. อย่างเดียว เขาต้องการข้าวหลายสายพันธุ์ เพราะข้าวแต่ละสายพันธุ์มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมือนกัน”

ข้าวหอมมะลิมีแป้งกับน้ำตาล แต่ข้าวพันธุ์อื่นอย่างข้าวเหนียวดำมีลูทีนมากกว่าข้าวขาว ช่วยป้องกันต้อกระจก ตาฝ้าฟาง

ข้าวสีดำ ข้าวมะลิแดง มีน้ำตาลน้อยกว่าข้าวหอมมะลิ ลดความเสี่ยงเป็นเบาหวาน

ข้าวเจ้าแดง ลักษณะข้างในสีขาวข้างนอกสีแดง ให้พลังงานเร็ว เหมาะสำหรับคนฟื้นไข้ สมัยก่อนเอาไปทำเส้นขนมจีน

ข้าวเจ้าเหลือง ข้าวกล้องเมล็ดสีเหลือง มีโฟเลตสูงมากกว่าข้าวสายพันธุ์อื่นในบรรดา 30 สายพันธุ์ ป้องกันโรคปากแหว่งเพดานโหว่ อัลไซเมอร์ สร้างภูมิคุ้มกันให้หญิงตั้งครรภ์

“ชาวนาที่นี่ปลูกไว้บริโภคเองที่บ้านก่อน เหลือแล้วก็แบ่งขาย บางครอบครัวปลูกข้าวเป็นยา อย่างข้าวเจ้าเหลือง ได้ผลผลิตปีละ 5-6 กระสอบเท่านั้น มีประโยชน์แต่ไม่อร่อย เวลาขายเราก็เอามาผสมกับข้าวสายพันธุ์อื่น หรือแบ่งขายเป็นถุงเฉพาะข้าวเจ้าเหลืองก็มี ชาวบ้านไม่อยากปลูก ผลผลิตเลยน้อย เราเลยต้องใช้วิธีซื้อแพงกว่าข้าวอื่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เขาปลูก แต่ตอนนี้ก็ใกล้สูญพันธุ์ เรากำลังพัฒนาเป็นเครื่องดื่มให้ชงดื่มง่ายๆ เพื่อเพิ่มการบริโภค”

ความเข้มแข็งของชาวนายโสธร ที่เริ่มต้นจากการบริโภคในครัวเรือน ขยายสู่การปลูกเพื่อคนกิน เป็นเพราะเล็งเห็นความสำคัญของการ ‘มีข้าวเพื่อกิน’ มีสุขภาพที่ดีเป็นผลพลอยได้ ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกประมาณ 150 ครอบครัวที่ทำเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล และทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.