หวาน มัน เค็ม ควบคุมได้ ถ้าเลือกถูก เลือกเป็น

หวาน มัน เค็ม ควบคุมได้ ถ้าเลือกถูก เลือกเป็น

มีข้อมูลทางสถิติบอกเอาไว้ว่า โรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการชีวิตมากมาย ซึ่งเกินกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตทั้งหมดด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากสาเหตุ NCDs สูงถึง 74% เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติที่น่ากลัวนี้สามารถลดทอนลงมาได้ โดยเริ่มจากตัวเราเองก่อน กล่าวคือ เราต้องควบคุมพลังงานจากอาหาร และบริโภคน้ำตาล เกลือ ไขมันที่อิ่มตัวอย่างเหมาะสม ยิ่งถ้ามีการปรุงอาหารกินเอง การคุมรสหวานมันเค็มให้พอดีก็เป็นเรื่องที่ทำได้

แต่ถึงอย่างนั้น หากเป็นอาหารสำเร็จรูปและอาหารกึ่งสำเร็จรูปล่ะ จะทำอย่างไร?

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพยเนตร อริยปิติพันธ์ แห่งสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารกึ่งสำเร็จรูปเพื่อลดความเสี่ยง NCDs ควรใช้หลัก 4C นั่นคือ Check, Count, Compare, Choose

โดยเริ่มจากสังเกตฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ (Check) จากนั้น จึงคำนวณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่จะได้รับ หากเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ (Count) เพื่อเปรียบเทียบปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค กับผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเดียวกัน (Compare) แล้วค่อยตัดสินใจเลือกชิ้นที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมน้อยกว่า (Choose)

ทั้งนี้ แม้ผลิตภัณฑ์บางชนิดให้พลังงานน้อยกว่า 150 กิโลแคลอรีต่อ 1 หน่วยบริโภค แต่ถ้าปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ต่อหน่วยบริโภคมากกว่าร้อยละ 10 ก็ควรหลีกเลี่ยงหรือกินให้น้อยลง

จากที่กล่าวมา กุญแจสำคัญของการควบคุมการกินหวาน มัน เค็ม ก็คือ การอ่านฉลากให้เป็น รู้สัดส่วนที่ควรบริโภค แต่หากต้องการตัวช่วยที่ง่ายกว่านั้น ก็ควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น FoodChoice มาช่วยตัดสินใจ หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ ‘ทางเลือกสุขภาพ’

ภาพย่อย 01 Gindee Club กินดี คลับ

FoodChoice ตัวช่วยที่ดีของคนรักสุขภาพ

ตามที่บอกไปแล้ว ถ้าต้องการตัวช่วยที่ทำให้การควบคุมการกินหวาน มัน เค็มของเราง่ายขึ้น ก็ควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า FoodChoice มาติดมือถือเอาไว้

เพราะนี่คือ แอปพลิเคชันที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกันพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างเหมาะสม เป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ด้านโภชนาการด้วยวิธีง่ายๆ

โดยเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน FoodChoice ลงบนโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเสร็จ เพียงเปิดแอปฯ แล้วนำไปสแกนบาร์โค้ดที่อยู่บนผลิตภัณฑ์ FoodChoice ก็จะจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ต่างๆ โดยแสดงข้อมูลของพลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว โปรตีน แคลเซียม และยังคำนวณให้ด้วยว่าเท่ากับกี่ช้อนชา

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันแสดงเปรียบเทียบ มีคำแนะนำเพื่อสุขภาพ รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เลือกแบ่งตามสุขภาวะ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกกินและกำหนดปริมาณได้ ซึ่งมีการจำแนกสีให้ผู้ใช้งานสังเกตง่ายเป็น 4 สี ได้แก่

สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด
สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามิน บี2 ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดี แต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก

สำหรับข้อมูลปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ FoodChoice จะแสดงปริมาณน้ำตาลในขนม เครื่องดื่มต่างๆ เป็นหน่วยช้อนชา เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่า มีปริมาณน้ำตาลมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม หากใช้งาน FoodChoice โดยสแกนบาร์โค้ดบนฉลาก แต่ไม่พบข้อมูล เราสามารถถ่ายภาพฉลากด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลข อย. 13 หลัก เพื่อเพิ่มฐานข้อมูลฉลากโภชนาการให้กับ FoodChoice ได้ด้วย

ภาพย่อย 02 5 Gindee Club กินดี คลับ

ซื้ออาหารได้ง่ายขึ้น ผ่านเครื่องหมายทางเลือกสุขภาพ

แม้ของอร่อยจะแปรค่าเท่ากับความสุขสำหรับบางคน แต่อาหารรสชาติดีก็อาจเป็นหลุมพรางที่ทำให้เราเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ ซึ่งการป่วยด้วยโรคดังกล่าวมักจะเกี่ยวข้องกับปริมาณของสิ่งที่เรากินเข้าไปในแต่ละวัน เช่น น้ำตาล โซเดียม และไขมัน ที่เกินความจำเป็นนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ นักโภชนาการจึงออกแบบเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจง่ายขึ้น ด้วยการสื่อสารผ่านฉลากโภชนาการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเน้นเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม และภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรให้เหมาะสม

หนึ่งในฉลากโภชนาการที่จะมาแนะนำในโพสต์นี้ก็คือ สัญลักษณ์ ‘ทางเลือกสุขภาพ’ (Healthier Choice) ที่มีการระบุปริมาณน้ำตาล โซเดียม และไขมันของผลิตภัณฑ์ 1 หน่วย ต้องไม่เกินต่อความต้องการของร่างกาย สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มได้อย่างรวดเร็ว เพราะการบริโภคที่ดี คือ การกินเพื่อสมดุล พูดให้เข้าใจง่ายคือ ลดหวาน มัน เค็ม เติมเต็มผักและผลไม้มากขึ้น

ทั้งนี้ สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพมักจะอยู่คู่กับฉลากโภชนาการ ‘GDA’ หรือ Guideline Daily Amount บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แสดงค่าพลังงานเป็นกิโลแคลอรี ประกอบด้วย พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถคำนวนปริมาณแคลอรี หรือเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมของผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพอาจช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม แต่เราก็ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย และการผ่อนคลายจิตใจให้สมดุลควบคู่กันไปด้วย

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.