นมแม่ล้วน ชวนขบคิด วิธีขจัดปัญหาที่ต้องเจอเมื่อให้นมช่วง 6 เดือนแรก
คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่มักมีความตั้งใจที่จะให้นมแม่กับลูกนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่สายปั๊ม คุณแม่สายเข้าเต้า หรือคุณแม่สายผสมเข้าเต้าด้วยและช่วงชิงการปั๊มเพื่อให้ลูกมีสต็อกนมแม่กินกรณีที่คุณแม่ต้องไปทำงาน และมีจำนวนไม่น้อยต้องล้มเลิกกลางทาง เพราะเจอกับปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางทางสายนมแม่
จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พบว่า มีเด็กไทยเพียงร้อยละ 34 ที่ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต
สิ่งนี้คือเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ลูกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้รับน้ำหรืออาหารอย่างอื่นผสมในช่วง 6 เดือนแรก
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญต่อชีวิตของลูก โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโตสูงสุด นมแม่มีสารไขมันที่จำเพาะสำหรับสมองทารกแรกเกิด เป็นส่วนสำคัญของการสร้างเนื้อสมอง และมีสารอาหารอื่นๆ กว่า 200 ชนิดที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของสมอง ร่างกาย และจอประสาทตาได้อย่างเต็มที่
ทั้งยังช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานให้กับลูก เป็นอาหารที่ย่อยง่ายที่สุด และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ และลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก 5 ปีแรกของชีวิตได้
และเพื่อเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ธัญลักษณ์ โอบอ้อม พยาบาลวิจัย ได้เชิญชวนคุณแม่ คุณพ่อ คุณหมอ คุณพยาบาล มาร่วมพูดคุยกันใน กิจกรรม FBL#2 ภายใต้หัวข้อ ‘จัดการไงดี ปัญหามักเจอ … นมแม่ล้วน 6 เดือนแรก’
พญ.สุภิยา โออุไร กุมารแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การเข้าเต้าคือทักษะชั้นสูงของแม่ ความยากจะอยู่ในช่วงเดือนแรกของการให้นมลูก อาจจะเจอปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่เมื่อเข้าเดือนที่สองจะง่ายขึ้น
และเพื่อลดอุปสรรคต่างๆ คุณแม่จะต้องได้รับความรู้เรื่องการเข้าเต้าอย่างถูกต้องตั้งแต่สามวันแรกที่อยู่ในโรงพยาบาล และได้รับการคลี่คลายภายในสองสัปดาห์แรกของการให้นมลูก หลังจากนั้นจะราบรื่นจนสามารถให้ลูกกินนมแม่ล้วนได้จนครบเป้าหมายแรกที่หกเดือนแรก หรือเรื่อยไปจนอายุสองขวบได้ในที่สุด
พว.ศิริลักษณ์ ถาวรวัฒนะ หัวหน้าคลินิกนมแม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ให้คำแนะนำพร้อมเทคนิคพิชิตปัญหาเรื่องนมแม่ อาทิ
ปัญหาเต้านมคัด จนเป็นก้อนแข็ง ลูกดูดเท่าไหร่ก็ไม่ออก สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ด้วยวิธี ‘การประคบเย็น’ โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบเต้าทั้ง 2 ข้าง 10 นาที เพื่อช่วยให้หลอดเลือดและเซลล์ในเต้านมต่างๆ หดตัว ตามด้วย ‘ประคบอุ่นจัด’ โดยการเทน้ำเย็นทิ้ง เติมน้ำอุณหภูมิห้อง 2 แก้ว และเติมน้ำร้อนอีก 1 แก้วลงในผ้าผืนเดิม พันรอบเต้านม เว้นบริเวณลานนมและหัวนม ซึ่งเป็นส่วนที่บอบบางนาน 2 นาที หรือ ให้ประคบอุ่นจัดทีละข้าง ซ้ายขวานับ 1 ทำจนครบ 10 ครั้ง
ตามด้วย ‘บีบน้ำนม’ สามารถใช้ ‘เครื่องปั๊มนม’ ได้ด้วยการเปิดโหมดกระตุ้นเพียง 2 นาที เพราะท่อน้ำนมจะปิดภายในเวลาสามนาทีครึ่ง หลังจากนั้นเปิดโหมดดูดแรงสูงสุดที่ไม่เจ็บ 15-20 นาที
หรือสามารถ ‘บีบนมด้วยมือ’ ก็จะช่วยให้สบายเต้านมได้มากขึ้น ด้วยการวางนิ้วเป็นรูปตัว C ห่างจากหัวนมขึ้นไป 3 เซนติเมตร ปลายนิ้วหัวแม่มือและปลายนิ้วชี้อยู่ตรงกัน ดันนิ้วเข้าหาหน้าอก แล้วบีบปลายนิ้วเข้าหากัน น้ำนมก็จะพุ่งออกและก็ปล่อย ทำซ้ำจนคุณแม่รู้สึกโล่งเต้าสบาย หากคุณแม่รู้สึกปวดมาก สามารถบรรเทาได้ด้วยการกินยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม 1 เม็ดได้ หรือสามารถปรึกษาคลินิกนมแม่ได้ทั่วประเทศ
การใช้กรวยปั๊มนมผิดขนาด ขนาดของกรวยมีผลต่อการระบายน้ำนม หัวนมของคุณแม่จะมีความยืดหยุ่น ภายในมีท่อน้ำนม 8-15 ท่อ เมื่อน้ำนมเต็มท่อน้ำนมก็จะขยายขนาดและพองออก หากใช้ ‘กรวยปั๊มนมเล็กเกินไป’ น้ำนมก็จะย้อนกลับไปที่ท่อบางท่อที่บาง จนทำให้นมเต้านมเป็นก้อนแข็ง ออกไม่ได้ หรือน้ำนมออก แต่ยังคงเป็นก้อน ตรงกันข้าม ‘กรวยปั๊มนมใหญ่เกินไป’ ก็จะทำให้นมไม่ออกเช่นกัน ดังนั้นจะต้องเลือกขนาดให้ถูกต้องกับเต้านมของคุณแม่ ก็จะช่วยให้น้ำนมไหลได้อย่างราบรื่น และไม่เกิดการเจ็บปวดเต้านม
ปัญหาน้ำนมไม่มา ช่วงเวลาสำคัญคือ 3 วันแรกหลังคลอดในโรงพยาบาล คุณแม่และลูกน้อยจะต้องเรียนรู้การเข้าเต้าให้ถูกวิธี คุณหมอและพยาบาลจะต้องให้ความรู้ คำแนะนำ และการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อแม่ให้นมลูก เช่น คุณแม่ที่หัวสั้นหรือหัวบุ๋มจะต้องทำอย่างไรให้หัวนมยื่นออกมา หรือเข้าเต้าท่าไหนเพื่อให้ลูกดูดได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงวิธีการกระตุ้นน้ำนม เพื่อให้น้ำนมไหลอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถให้นมลูกได้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จได้
ลูกไม่ยอมเข้าเต้า เพราะเข้าเต้าไม่ถูกวิธี สามารถพิชิตได้ภายใน 2 เดือนแรก ด้วยเทคนิค 3+1 ดูด คือ ลูกต้องดูดเร็ว ดูดบ่อยตั้งแต่อยู่โรงพยาบาล กลับบ้านไปภายใน 2 อาทิตย์จะต้องดูดถูกวิธี และดูดเกลี้ยง หรือขอคำแนะนำที่โรงพยาบาลเดิมที่คลอดลูกเพื่อเรียนเข้าเต้าใหม่ หรือปรึกษาคลินิกนมแม่
และไม่เพียงแค่สอนคุณแม่ แต่จะต้องให้คำแนะนำกับคุณพ่อ หรือคุณย่าคุณยาย เป็นผู้ช่วยอุ้มลูกเข้าเต้าให้คุณแม่ เพื่อสนับสนุนการให้นมแม่สำเร็จจนลูกอิ่ม แทนการปฏิเสธเพียงเพราะแม่ทำได้ไม่ดีหรือทุลักทุเลแล้วให้ลูกกินนมวัวแทน สุดท้ายคุณแม่จะเกิดความรู้สึกท้อแท้ และเลิกให้นมลูกไปก่อนลูกอายุ 6 เดือน
ปัญหาน้ำนมหด กู้ได้เสมอ สำหรับคุณแม่สายปั๊ม ต้องมีวินัย ไม่ตกรอบปั๊ม โดยดูตามอายุแรกเกิด- 3 เดือน ลูกกินนม 8 มื้อ ปั๊ม 8 ครั้ง ทุกๆ 3 ชั่วโมง ลูกอายุ 3-6 เดือน กินนม 6 มื้อ ปั๊ม 6 ครั้ง อายุ 6 เดือน+ข้าวหนึ่งมื้อ (แทนนมหนึ่งมื้อ) ปั๊มลดลงเหลือ 3-4 ครั้ง อายุ 8 เดือน + ข้าวสองมื้อ อายุ 9 เดือน + ข้าวสามมื้อ ครบ 1 ขวบ กินอาหารเป็นหลัก
สำหรับคุณแม่สายเข้าเต้า เดือนแรกของลูกต้องกระตุ้นให้ลูกเข้าเต้าทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้นใช้วิธีดูดอย่างสม่ำเสมอ ดูดให้เกลี้ยงเต้า ก็จะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมรอบใหม่มากขึ้น บวกกับลูกเติบโตและเริ่มกินอาหารตามวัย น้ำนมแม่ก็จะกลายเป็นอาหารเสริมที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย และสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้กับลูกได้ในระยะยาว
ลาคลอดได้เพียงสามเดือน คืออีกประเด็นหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คุณแม่บางคนไม่สะดวกที่จะปั๊มนมในที่ทำงานด้วยหน้าที่การงานหรือสถานที่ทำงานไม่เอื้อต่อการปั๊มนม เทคนิคกู้น้ำนม หรืออย่างน้อยให้ลูกได้นมแม่อย่างต่อเนื่องคือ ใช้ช่วงเวลาหลังเลิกงาน สามารถให้ลูกเข้าเต้าได้
เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นน้ำนมให้ไหลอย่างต่อเนื่องได้แล้ว ยังช่วยลดความเครียดให้กับคุณแม่ สมองหลั่งสารเอ็นโดรฟินทำให้คุณแม่มีความสุข ลูกก็จะได้รับความสุข รู้สึกอบอุ่นใจ ร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการทางสมองที่ดี มีความฉลาดทางอารมณ์ และมีพัฒนาการรอบด้านสมวัย
ที่มาข้อมูล: www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/161540