‘บ้านมุ้งผัก’ บ้านคนรักผักอินทรีย์ กินดีต่อสุขภาพ และปลดหนี้ให้เกษตรกร

#บ้านมุ้งผัก เพจของคนรักผักอินทรีย์ ที่กินแล้วสุขภาพดี และช่วยปลดหนี้ให้เกษตรกร

“เวลามองไปที่ทุ่งนาสีเขียวขจี คุณมองเห็นอะไร” สุนีย์ อ่ำทิม รองประธานกลุ่ม ‘บ้านมุ้งผัก’ เริ่มต้นประโยคที่ชวนให้เราหลับตาแล้วจินตนาการถึงทุ่งนาภายใต้แสงแดดอุ่นสบายใกล้กับถนนหลวง “คุณอาจจะเห็นความอุดมสมบูรณ์ของเมล็ดข้าวที่อีกไม่นานก็แตกรวง แต่สำหรับชาวนาแล้ว นาข้าวเก็บซ่อนความเจ็บปวด และความเหนื่อยล้าจากภาระหนี้สินที่ไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไหร่”

ย้อนกลับไปเมื่อกว่าสิบปีก่อน ตอนที่สุนีย์ตัดสินใจลาออกจากงานประจำในกรุงเทพฯ เพื่อมาดูแลแม่ของสามีที่ป่วยด้วยโรคชราในอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท วันนั้นเธอยึดอาชีพเกษตรกรตามครอบครัวของสามี โดยมีโรงเรือนปลูกผัก 2 หลังที่ได้รับมอบจากกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นทุนชีวิต

และเธอยังศึกษาวิธีปลูกผักให้ถูกต้องตามมาตรฐานของ GAP (Good Agricultural Practices: การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี) ภายใต้การควบคุมปริมาณสารเคมีที่เหมาะสมกับสุขภาพ และความต้องการของแต่ละประเทศ

51995 Gindee Club กินดี คลับ

“เราได้โรงเรือนปลูกผักมาตั้งแต่ปี 2553 และเรามีแหล่งรับซื้อผักที่แน่นอน แต่กลับรู้สึกไม่มั่นคงและไม่เป็นธรรม เพราะเขากำหนดชนิดของผักที่ตลาดต้องการ กำหนดวันปลูกจนถึงวันตัด แต่เรากำหนดราคาขายไม่ได้ เลยหันมาปลูกผักอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2558 สองปีต่อมาแปลงผักของเราก็ได้การรับรองเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย”

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นเสมอไป ในเมื่อครอบครัวของสุนีย์ยังคงมีนาข้าวจำนวน 20 ไร่ และแปลงผักอินทรีย์ที่ต้องดูแลเอาใจใส่ด้วยความรู้ความเข้าใจ ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ ไหนจะภาระหนี้สินจากการลงทุนในปุ๋ยเคมี ยารักษาโรค และยากำจัดศัตรูพืช ทำให้สุนีย์มีความเครียดสะสมและเริ่มมองหาทางออกจาก ‘วงจรหนี้สิน’ ที่ไม่มีวันจบ

“ช่วงนั้นเรามีหนี้ประมาณ 370,000 บาท จากที่เคยทำงานวันละ 10 ชั่วโมง เราก็ต้องทำงานเพิ่มเป็นวันละ 12 ชั่วโมง เหนื่อยทั้งแรงกายแรงใจเหมือนชีวิตไม่มีทางออก เพราะต้องคิดตลอดว่า จะทำอย่างไรให้มีรายได้พอค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทุกวัน”

เมื่อความเครียดรุมเร้า ความเจ็บป่วยก็เริ่มแสดงอาการ แปลงนาที่เต็มไปด้วยสารเคมีเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่การลงไปเกี่ยวข้าวยังส่งผลให้สุนีย์มีอาการแพ้บริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับต้นข้าวอาบยา

“ขึ้นมาจากนาทีไรก็จะมีผื่นคันตรงส่วนที่โดนต้นข้าวนั่นล่ะ แต่เราก็หยุดทำนาไม่ได้เพราะต้องทำงานใช้หนี้ จนวันหนึ่งมูลนิธิชีวิตไทเข้ามาให้ความรู้เรื่องการปลดหนี้ รวมถึงการปลูกข้าวอินทรีย์ ทำให้เราลดต้นทุนได้เยอะมาก จากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีก็เปลี่ยนมาเป็นปุ๋ยหมักหรือ ‘ปุ๋ยชีวภัณฑ์’ ที่เราทำเอง

“เราได้เรียนรู้การซ่อมปรุงบำรุงดิน การตรวจข้าววิเคราะห์ดินที่เหมาะสม ที่สำคัญเรามีข้าวอินทรีย์ไว้กินเองก็ช่วยประหยัดเงินซื้อข้าวได้ปีละหลายบาท แล้วเราก็เอาเงินส่วนนั้นไปทำอย่างอื่นอย่างการปลดหนี้ โดยเฉพาะค่าดอกเบี้ยที่มานั่งวิเคราะห์ดีๆ ก็เท่ากับเราซื้อมอเตอร์ไซค์ได้ปีละคันเลยนะ”

52004 Gindee Club กินดี คลับ

สุนีย์เริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์และข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิชีวิตไทที่ให้ความรู้ในการแก้หนี้อย่างเป็นระบบ พร้อมกับส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวอินทรีย์ไว้กินเองในครอบครัว ที่เหลือก็แจกจ่ายหรือแบ่งขายผ่านเพจ ‘นาเคียงเมือง’ ซึ่งมูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ โดยตั้งชื่อกลุ่มของสุนีย์ว่า ‘บ้านมุ้งผัก’

“คำว่า ‘มุ้ง’ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้เรียก ‘โรงเรือน’ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่สรรคบุรี แรกเริ่มเรามีสมาชิกด้วยกัน 3 ครอบครัว แต่ปัจจุบันเหลือ 2 ครอบครัวคือ เรากับสามี (ชรินทร์ ยิ้มศรี ประธานกลุ่มบ้านมุ้งผัก) และครอบครัวของน้องเจี๊ยบ (วิรากาน ทิมเมือง และธีรวัฒน์ ทิมเมือง) ส่วนป้าสำออย พักแพรก อยู่ในช่วงต่อใบอนุญาต และเราก็มีสมาชิกอีก 4 ครอบครัวที่อยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์

“สิ่งแรกเมื่อเข้ามาในกลุ่มแล้วต้องเข้าใจเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ การปลูกข้าวอินทรีย์ และเราจะเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำเรื่องการปลดหนี้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้เขามองเห็นภาพว่า หนี้สินสร้างผลกระทบต่อชีวิตมากแค่ไหน เราอยากให้เขาเรียนรู้การทำปุ๋ยชีวภาพ ลดการพึ่งพาสารเคมี เพราะสิ่งที่เราทำมาพิสูจน์แล้วว่า เราสามารถเปลี่ยนจากเคมีเป็นอินทรีย์แบบค่อยเป็นค่อยไปได้จริง แล้วยังช่วยลดต้นทุนในการทำนา ส่วนการปลูกผักอินทรีย์ก็เป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่งที่ยากจะอธิบาย”

ว่างเว้นจากแปลงนา สุนีย์และสามีมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในมุ้งที่มีผักอินทรีย์ 5 ชนิด ได้แก่ ต้นหอม (หอมแบ่ง) ผักกาดหอม ผักโขม ผักบุ้งจีน และผักคะน้า นอกจากนี้ เธอยังปลูกผักตามฤดูกาลอย่างผักสลัด (พ.ย.-ก.พ.ของทุกปี) ลูกค้าหลักของเธอเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ ผักอินทรีย์จากบ้านมุ้งผักได้วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง และส่วนหนึ่งส่งออกไปยังต่างประเทศ

“ทุกอย่างกำลังไปได้ดี จนกระทั่งวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่เราคิดว่ามั่นคงกลับไม่ยั่งยืนอีกต่อไป ห้างปิด ผักก็ไม่มีที่วางขาย ช่วงนั้นพี่จิต (สมจิต คงทน ประธานมูลนิธิชีวิตไท) แนะนำให้ปลูกสมุนไพรตามความต้องการของตลาดอย่าง ‘ฟ้าทะลายโจร’ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานออร์แกนิกของไทย เราส่งให้กับโรงพยาบาลสรรคบุรี ทำให้เรามีรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวและผ่านพ้นวิกฤตมาได้”

ภายใต้ความช่วยเหลือของมูลนิธิชีวิตไทมาตลอดหลายปี ทำให้สุนีย์และครอบครัวสามารถปลดหนี้ก้อนใหญ่ได้ภายในเวลากว่าสองปี ใบหน้าเปื้อนยิ้มของเธอในเพจบ้านมุ้งผัก สะท้อนฉากชีวิตของเกษตรกรที่มีความสุขกับชีวิต ในวันที่หนี้ก้อนสุดท้ายได้รับการปลดเปลื้องออกจากหัวใจอันเหนื่อยล้า สุนีย์บอกกับตัวเองว่า ชีวิตที่เหลือจากนี้จะไม่มีหนี้สินอีกต่อไป

“พอเราทำแล้วดีก็อยากนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปบอกต่อให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ ใครมีหนี้ให้รีบจ่ายหมดไวๆ จะได้ไม่ต้องมาเสียดอกเบี้ย คุณอาจจะคิดว่า ไม่เป็นไรดอกเบี้ยแค่นี้เอง จ่ายไหวน่า แต่พอมาคำนวณดีๆ จะรู้เลยว่า การจ่ายเงินเพื่อลดต้นลดดอก หรือหาเงินได้ก็รีบพยายามปิดหนี้ มันดีกว่ามาจ่ายแค่ดอกเบี้ยเสียอีก แล้วเราก็มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่นได้อีกเยอะ”

274183793 112641904680051 5535987417102647465 n Gindee Club กินดี คลับ

ทุกวันนี้ สุนีย์มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไว้กินเองในครอบครัว ที่นาเพียง 1 ไร่ยังเหลือพอสำหรับผลัดเวียนหมุนเปลี่ยนให้ครอบครัวของวิรากาน (สมาชิก) ปลูกข้าวกข 43 ปีละสองครั้ง

“ที่นาแค่นั้นเรามีข้าวอินทรีย์เลี้ยงได้ตั้ง 4 ครอบครัว เพราะข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ 105 ปลูกปีละครั้ง ส่วนข้าว กข 43 ปลูกได้สองครั้ง ครั้งละ 90 วัน แล้วเรายังมีข้าวเหลือขายและแจกจ่ายอีกต่างหาก”

นอกจากข้าวหอมมะลิของสุนีย์จะหุงขึ้นหม้อและมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ข้าวหอมมะลิยังกลายเป็นของฝากแก่ญาติพี่น้องและเพื่อนสนิทในทุกเทศกาล สุนีย์จึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝากได้อย่างดี ทั้งยังพอกพูนพื้นที่ความสุขจากการมอบข้าวปลอดสารที่เธอปลูกเองเป็นของขวัญ

“มันเป็นวิธีสื่อสารว่า เรารักและห่วงใยทุกคนเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว เราจึงให้สิ่งที่ดีต่อสุขภาพ พอทำตามคำแนะนำของมูลนิธิฯ แล้วชีวิตดีขึ้น เราก็อยากถ่ายทอดประสบการณ์ให้เกษตรกรคนอื่นๆ และอยากขยายกลุ่มบ้านมุ้งผักเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ปลอดหนี้ เพราะเราอยากเป็นตัวอย่างที่ดีให้ชาวนาและเกษตรกรเห็นว่า ชีวิตที่ไม่มีหนี้มันมีความสุขมากเพียงไร”

ทุกครั้งที่สุนีย์มองออกไปที่ทุ่งนาขนาด 20 ไร่ มันไม่ได้เป็นภาพแห่งความเจ็บปวดและขื่นขมอีกต่อไป เธอมองเห็นความอุดมสมบูรณ์ของต้นข้าวบนที่นาของตัวเอง สารเคมีที่เคยทำร้ายสุขภาพแปรเปลี่ยนเป็นปุ๋ยชีวภาพที่ดีต่อผืนดิน เช่นเดียวกับแปลงผักอินทรีย์ของบ้านมุ้งผักที่กำลังเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งผักอินทรีย์ของกลุ่มยังขยายตลาดสู่การได้รับเลือกเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดชัยนาทอีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก เพจบ้านมุ้งผัก

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.