“อาหาร” สมบัติร่วมที่มนุษย์ต้องปกป้อง
เมื่อวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา โครงการ Connecting the Commons (CTC) และภาคีเครือข่าย (ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชียแปซิฟิก) ได้มีการจัดเทศกาลอาหาร ผู้คน วัฒนธรรมและระบบนิเวศ ขึ้น ที่มูลนิธิเสฐียรเศศ-นาคะประทีป สวนเงินมีมาเจริญนคร คลองสาน
โดยเทศกาลดังกล่าวมีการสร้างกิจกรรมขับเคลื่อนความยั่งยืนทางอาหาร เพื่อสื่อสารความหมายของ ‘อาหารคือสมบัติร่วม’ ด้วยการล้อมวงกินอาหารร่วมกัน อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารในแต่ละพื้นที่ ทำให้เมนูบนโต๊ะอาหารมื้อที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะสร้างความอิ่มหนำสำราญแล้ว ยังมอบความหมายอันลึกซึ้งที่ไม่เหมือนมื้อไหนๆ ด้วย
อิ่มปากสำราญใจ กับอาหารจากหลายพื้นที่
ในโต๊ะอาหารของกิจกรรมขับเคลื่อนความยั่งยืนทางอาหาร เต็มไปด้วยอาหารที่เป็นสมบัติร่วมจากพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
‘แกงอ่อมไก่ผักรวมสินสมบูรณ์’ ใส่ผักที่ปลูกในชุมชนสินสมบูรณ์ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ปลูกในพื้นที่โรงเรียนร้างมานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันชาวบ้านร่วมมือกันปรับแต่งพื้นที่ให้เป็นสวนผักประจำหมู่บ้าน
‘แกงแค’ อาหารพื้นถิ่นภาคเหนือ ที่คนโบราณมักกินในช่วงปลายฝนต้นหนาว เพื่อปรับสมดุลร่างกาย พืชผักที่นำมาใส่ สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอาหาร การจัดการดินน้ำป่าของชาวน่าน
‘โรลบุปผาสวรรค์’ รังสรรค์จากดอกไม้กินได้ที่ปลูกในบริเวณบ้านเรียนสวนผองเพื่อน จังหวัดบุรีรัมย์ การทำอาหารได้เปลี่ยนชีวิตของเยาวชนที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือประสบภาวะซึมเศร้าจากการถูกกระทำในครอบครัว
‘ลาบอาข่า’ เมนูอาหารดั้งเดิมท้องถิ่นของชาติพันธุ์อาข่า จังหวัดเชียงราย ปรุงจากวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่าง, สะระแหน่, ผักแพว, ผักชีฝรั่ง, ผักชี, พริก, ใบมะกรูด แต่ที่เด็ด คือ เปลือกต้นมะกอกและรากชู พืชท้องถิ่นรสชาติซ่า เมื่อสุกจะรสหวาน ชาวอาข่าใช้แทนผงชูรส ช่วยให้อาหารกลมกล่อม วัตถุดิบทุกอย่างคลุกเคล้ารวมกันช่วยตัดสัมผัสความมันจากเนื้อหมูไม่ให้มันเยิ้ม เมื่อห่อใบตองย่างด้วยเตาถ่านแบบดั้งเดิม ทำให้บรรยากาศอบอวลด้วยกลิ่นควันอ่อนๆ
‘หอยกัน’ หอยที่เติบโตในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดพังงา สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งอาหาร แต่ยังเป็นพื้นที่สั่งสมภูมิปัญญาของชาวเลด้วย
แลกเปลี่ยนอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งต่อข้าวปลาและภูมิปัญญา
อรวรรณ หาญทะเล กลุ่มสตรีชาวเลพังงา ชาวมอแกน บรรยายว่า โลกนี้ ไม่ว่าทะเล ดิน น้ำ อากาศ เป็นของทุกคน จึงให้ความสำคัญแก่พื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา ต้นไม้ ลำธาร เพราะนี่คือสมบัติของทุกคน ต้องรักษาสมบัตินี้ไว้ให้ลูกหลาน สิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ คือ ‘ภูมิปัญญาสาธารณะ’ การจับปลาเป็นสมบัติทางภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่สมควรถูกถ่ายทอด ซึ่งสมบัตินี้ต้องถูกแบ่งไปถึงพี่น้องในภาคอื่นๆ ด้วย
ในช่วงโควิด มีการทำโครงการข้าวแลกปลาขึ้น มีการส่งปลาให้คนภาคอีสานกับชนเผ่าภาคเหนือแลกข้าวเหนียว ทุกคนนำทรัพยากรที่ต่างมีมาแลกแทนเงิน การแลกกันบ่งบอกว่า ชุมชนมีทรัพยากรอย่างเพียงพอ สามารถส่งต่อและแลกเปลี่ยนกันได้
อย่างไรก็ตาม กับสถานการณ์ในปัจจุบันนั้น อรวรรณเล่าว่า ทะเลที่ทุกคนเคยไป มันสวยงาม ป่าชายเลนเยอะมาก แต่ก็กำลังถูกทำลายลงไป เพราะหมู่บ้านถูกเอกชนหรือหลายส่วนถมที่ดินทับ ซึ่งไม่ใช่แค่ทำลายแหล่งอาหาร แต่ยังทำลายพื้นที่เพาะเลี้ยงอนุบาลสัตว์ทะเลหลายชนิด รวมถึงเป็นพื้นที่ป้องกันภัยพิบัติอีกต่างหาก
สมบัติร่วมเป็นสิ่งตกทอด ทุกคนต้องช่วยปกปักษ์รักษา
วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้บุกเบิก อินี่ (INI Innovation network international) ซึ่งขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม สร้างภาคีเครือข่าย ขยายภาพของคำว่า ‘สมบัติร่วม’ ว่า เป็นทั้งเรื่องอาหาร เรื่องความรู้ เป็นสิ่งที่สั่งสมกันมา
สมบัติร่วมอยู่บนผืนดิน ผืนน้ำ อากาศ ในระบบนิเวศธรรมชาติ ถ้าทุกคนคิดว่า ทุกคนมีสมบัติร่วม ก็จะใส่ใจในความเป็นเจ้าของร่วมกัน การปลูกพืชลักษณะการค้ามากเกินไป เอาผลผลิตในระยะสั้น หวังผลกำไร นั่นคือสมบัติส่วนตัว ซึ่งไม่ยั่งยืน แต่สมบัติร่วมจะใช้ร่วมกันและคิดถึงระยะยาว ส่งต่อเป็นภูมิปัญญาให้ลูกหลาน รวมถึงแลกสมบัติระหว่างคนต้นน้ำและคนปลายน้ำ มีการแบ่งสมบัติกันในยามวิกฤติ
ราชาโคปาล พี.วี. นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในที่ดิน ผู้ก่อตั้ง Ekta Parisha จากประเทศอินเดีย กล่าวว่า การเชื่อมโยงผู้คนในเมืองและนอกเมืองเข้าด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นงานเชิงจิตวิญญาณ คือ มองมนุษย์ในฐานะผู้ปกปักษ์โลก คนคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ไม่ใช่เจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้น จึงต้องวางบทบาทของมนุษย์ในฐานะผู้ดูแลรักษาธรรมชาติร่วมกัน แต่ไม่ว่าคนนอกเมืองหรือในเมืองต่างก็มีหน้าที่อารักขาให้โลกดำเนินต่อไปได้