ทำความรู้จัก ‘Young Food’ โครงการที่ส่งต่ออนาคตของอาหารสู่มือคนรุ่นใหม่
“อาหารจะมีอนาคต เมื่อคนรุ่นใหม่เห็นอนาคตของเขาในอาหาร” วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด บอกกับเราถึงหนทางในการสร้างระบบอาหารชุมชนให้เข้มแข็ง และนั่นก็เป็นที่มาให้เธอผุดโปรเจ็กต์ ‘Young Food’ ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารแบบดั้งเดิมและวัตถุดิบท้องถิ่นในชุมชน เพื่อต่อยอดวัฒนธรรมการกินที่สร้างความมั่นคงให้ระบบอาหาร
“เราต้องให้สเปซเขาในการแลกเปลี่ยน ต้องยอมให้เด็กปรับอาหารของคุณบางอย่างได้ เด็กกินกระชายได้ แต่เขาอาจจะอยากใช้กระชายในแบบอื่น เอาวัตถุดิบเดิมมาสร้างเมนูใหม่ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เป็นการเชื่อมโยงเจเนอเรชั่นกัน”
ตอนนี้โครงการ ‘Young Food’ ทำงานกับเด็กๆ ใน 3 โรงเรียนนำร่อง จาก 3 ภาคี คือ โรงเรียนบ้านถนนน้อย จังหวัดกำแพงเพชร ในเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน โรงเรียนเทศบาลพญาเม็งราย 1 จังหวัดเชียงราย เครือข่ายเด็กไทยแก้มใส และโรงเรียนบ้านควนหรัน จังหวัดสงขลา ของเครือข่ายอาหารปลอดภัยในโรงเรียน โดยเด็กๆ จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางเมนูและวัตถุดิบ
วัลลภาเล่าว่า ‘Young Food’ ยืนอยู่บนฐานคิด 3 เรื่อง คือ เมนูอาหาร (Food Menu) ซึ่งสะท้อนระบบนิเวศอาหาร ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะมีบุคลิกที่ต่างกัน เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องอาหารผ่านเมนูที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ในลักษณะ Playful and Meaningful คือสนุกและได้สาระ
“เขาจะได้สำรวจพื้นที่อาหารในชุมชน มีผักหญ้าในท้องถิ่นอะไรที่กินได้ ซึ่งผักท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงก็งาม ต่างจากการกินผักที่คุ้นเคยไม่กี่อย่างที่ความไม่หลากหลายทำให้ต้องปลูกแปลงใหญ่ ใช้สารเคมีมาก และมีเมนูที่ได้ความรู้เรื่องการกินที่สมดุล ได้รู้ว่าอาหารที่อร่อยและเมนูที่หลากหลายไม่ได้มีให้เห็นแค่ในร้านสะดวกซื้อ”
ฐานคิดต่อมาคือ การเรียนรู้และเชื่อมโยงของคนระหว่างวัย (Bridging) ความรู้ของคนรุ่นเดิมถูกส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่จากการชวนให้ลงมือทำ ทั้งจากการที่เด็กๆ สอบถามวิธีจากลุงป้าน้าอา “หรืออย่างโรงเรียนรุ่งอรุณเขาให้เด็กทำนา การที่เด็กได้มีประสบการณ์อยู่ในระบบนิเวศจริง เขาจะได้รู้เรื่องเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติยังไง”
และฐานคิดสุดท้ายคือ พื้นที่สื่อสาร (Food Cafe) ที่วัตถุดิบจะถูกนำมาสื่อสารระหว่างกันและสื่อสารต่อสังคม เช่น ให้เด็กออกแบบเมนูอาหารโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและสอบถามวิธีทำจากผู้ใหญ่ แล้วนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังในโรงอาหาร จัดเทศกาลอาหารในโรงเรียนโดยมีเด็กเป็นคนสาธิต กระทั่งอาจจะจัดตลาดเขียวขึ้นในโรงเรียน และเด็กสามารถนำเรื่องที่เขามีส่วนร่วมนี้ไปสื่อสารต่อในช่องทางที่วัยเขาให้ความสนใจและถนัด เช่นใน YouTube หรือ TikTok
“ยิ่งถ้าครูส่งเสริมเขาจะยิ่งสนุก และมีความหมายกับเด็ก การมีความหมายนี่แหละสำคัญ เพราะจะทำให้เด็กเห็นตัวเขาในการสร้างสรรค์เมนูอาหารขึ้นมา
“แล้วทั้งสามโครงสร้างนี้จะทำให้เกิด Food Ecosystem เป็นระบบนิเวศอาหารที่มีคานงัดอยู่ที่เยาวชน เพื่อที่จะต่อยอดสิ่งที่มีอยู่เดิมในวัฒนธรรมอาหารไปสู่โลกใหม่ของเขา นี่คือกระบวนการเรียนรู้แบบ Young Food”
แล้วเรื่องราวของโครงการ Young Food ก็พาให้เราได้รู้จักกับ ‘บิว’ สุภาพร หมื่อแล คนรุ่นใหม่แห่งหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า จังหวัดเชียงราย อดีตนักกายภาพบำบัดในกรุงเทพฯ ที่กลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิด และทำงานเก็บเมล็ดพันธุ์วัตถุดิบท้องถิ่นกับครอบครัว โดยทำงานร่วมกับกลุ่ม Seed Journey ด้วย
ที่นี่ได้เป็นฐานเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในโครงการ ซึ่งมีตัวแทนเด็กๆ และอาจารย์จากสามโรงเรียน ทั้งเชียงราย กำแพงเพชร และสงขลา เดินทางไปเข้าร่วมเวิร์กช็อป ‘Young Food22 to School’ เมื่อปีแล้ว ซึ่งทำให้เด็กๆ ได้รู้จักผักผลไม้ท้องถิ่นที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา เช่น สิหมะ หรือส้มผด ที่ใช้ปรุงรสแทนมะนาวได้ รากชูสีขาวฟูฝอยที่รสชาติอร่อยนัก ไปจนถึงได้เห็นวิธีเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ในลูกน้ำเต้ารมควัน เพื่อให้คงคุณภาพและนำไปปลูกต่อได้
ในฐานะเจ้าบ้าน บิวเล่าให้เราฟังว่า ที่หมู่บ้านป่าเกี๊ยะของเธอไม่มีร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวป่าเกี๊ยะอยู่ในป่า อยู่ในสวนผักสวนครัว “เรากินตามฤดูกาล ไม่ฝืนธรรมชาติ เรามีผักพื้นถิ่นที่กินได้ตลอดทั้งปี”
ช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตสั้นๆ ในหมู่บ้าน เด็กๆ เกิดการเรียนรู้จากห้องเรียนธรรมชาติ ที่พี่ๆ ในชุมชนพาน้องๆ ไปหาวัตถุดิบในป่ามาทำเมนูอาหาร เด็กๆ ที่มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างที่มา สนุกกับเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้า จนลืมอาหารการกินที่คุ้นเคย เพราะที่ป่าแห่งนี้ไม่มีให้
“เด็กๆ จะเอาวัตถุดิบจากบ้านตัวเองมาด้วย เช่น น้องที่มาจากภาคใต้เอาน้ำบูดู เอาอาหารทะเลแห้งมา แล้วเรามาแลกเปลี่ยนกันว่า วัตถุดิบท้องถิ่นในชุมชนนี้สามารถทำอะไรในเมนูตัวเองได้บ้าง เขาก็ทำข้าวยำโดยใช้ผักในหมู่บ้านเรา
นอกจากจะเกิดเมนูที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม เด็กๆ ยังได้รู้จักเมนูของชาวอาข่า ที่แม่ๆ ในชุมชนปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่เด็กเก็บมา โดยไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรมาพลิกแพลงได้บ้าง ในที่สุดก็เกิดอาหารจานพิเศษที่น่าตื่นเต้นสำหรับวัยอยากรู้
“ที่หมู่บ้านเราปลูกลำไยออร์แกนิก เด็กภาคใต้ไม่เคยเห็นลำไยเขาก็ตื่นเต้น แล้วเขายังได้กินน้ำลำไยที่เป็นของธรรมชาติ เพราะอยู่ที่นี่เราไม่มีการซื้ออาหารจากที่อื่นมาเลย เขาไม่ได้กินน้ำอัดลม หรือแม้กระทั่งเด็กจากเชียงรายเองเขาเป็นเด็กในเมือง เขารู้ว่าภาคเหนือมีพี่น้องชนเผ่าอีกมากมายแต่เขาไม่เคยได้สัมผัส
“เราพาเขาไปดูนาขั้นบันได ไปเก็บหน่อไม้ในป่า ไปดูแปลงผัก พาเขาไปเจอต้นทางสิ่งที่เขากินในแต่ละวัน ให้เด็กๆ รับรู้ว่าสิ่งที่เขากินมีอะไรบ้าง แล้วอาหารมาจากไหน เราพยายามสอนให้เขารู้ที่มาของอาหาร ว่าแต่ละฤดูกาลมีอะไรให้เขากินมากกว่าที่เขารู้จัก”
Young Food ทำงานร่วมกับเด็ก 4 กลุ่ม คือ เด็กประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย มหาวิทยาลัย และครอบคลุมจนถึงเด็กจบใหม่ที่วัลลภามองว่าเป็นกลุ่มสำคัญ เพราะหากกลุ่มนี้สนใจประกอบอาชีพด้านอาหาร และเป็นอาหารอินทรีย์ จะยิ่งมีความหมายต่อระบบอาหารบ้านเรา
“เรานึกภาพว่าถ้าเด็กคือตัวละครสำคัญ เด็กมีเมนูพื้นบ้าน จนในที่สุดตัดขาดจากระบบอุตสาหกรรมอาหารที่มีอยู่ทั่วไป มาสู่การใช้วัตถุดิบอาหารในพื้นที่ เราต้องสร้าง New Food Community ที่เด็กคือ New แล้วมาต่ออายุให้ Traditional Community ที่กำลังอ่อนล้า ได้มีชีวิตชีวาจากตัวละครคนรุ่นใหม่ นี่คือภาพฝันของเราเลยนะ” วัลลภาชี้ให้เห็นถึงความหวังที่ฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ ในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบอาหารในอนาคต