คาร์เบนดาซิมในผักผลไม้ ความไม่ปลอดภัยทางอาหารที่ต้องหาทางออก

คาร์เบนดาซิมในผักผลไม้ ความไม่ปลอดภัยทางอาหารที่ต้องหาทางออก

เคยสงสัยไหมว่า อาหารที่เรากินเข้าไปในทุกวันนี้มีความปลอดภัยหรือไม่? การตกค้างของสารเคมีเกษตรอันตรายต่อชีวิตมากแค่ไหนไหน? ทำไมวิกฤตเคมีเกษตรยังคงเป็นเรื่องน่ากังวล?

เราถอดองค์ความรู้ความปลอดภัยด้านอาหาร จากเวทีเสวนา ‘Carbendazim คาร์เบนดาซิม: ผลต่อระบบสืบพันธุ์ การตกค้างในผักผลไม้และการจัดการในต่างประเทศ’ ที่จัดโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการ มาสรุปให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) อธิบายภาพรวมการดำเนินการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในอาหารกว่า 10 ปี ของ ThaiPAN พบสารพิษตกค้างในอาหารหลายชนิด เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

120707193 m 1 Gindee Club กินดี คลับ

โดยรายงานสารพิษตกค้างในผัก ปี 2565 มีผักที่เกินค่า MRL (Maximum Residue Limits : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่มีได้ในสินค้าเกษตร กำหนดโดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) อยู่ 13 ชนิด รวมถึงน้ำส้มกล่องหลายยี่ห้อ ก็มีสารพิษตกค้างในปริมาณมากเช่นเดียวกัน ดังที่เราเคยนำเสนอเอาไว้ใน bit.ly/3y6Jzbx

ประเด็นที่น่าเป็นกังวลของรายงานชิ้นนี้ คือสารตกค้างที่พบมากสุด ชื่อว่า คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ซึ่งมีอยู่ถึง 37% นั้น เป็นสารกำจัดโรคพืช หรือสารกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึมที่จะตกค้างในเนื้อเยื่อ มีฤทธิ์ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และเป็นพิษกับระบบสืบพันธุ์

นอกจากนี้ สถานะทะเบียนวัตถุอันตรายกลุ่มคาร์เบนดาซิมในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2554 ถึงต้นปี 2566 ที่ Thai-PAN ดึงข้อมูลจากสำนักควบคุมพืชและวัตถุการเกษตร พบทะเบียนที่ยังดำเนินการอยู่ถึง 346 ทะเบียน และตัวที่เป็นสารตั้งต้นอีก 2 ตัว คือ Banomyl ถึง 67 ทะเบียน และ Thiophanate-methyl ทั้งสูตรเดี่ยวและสูตรผสมรวมกัน ยังดำเนินการอยู่ถึง 112 ทะเบียน ซึ่งทั้งหมดจะหมดอายุในปี 2566-2572

รศ.ดร.วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษเภสัชวิทยาและพิษวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พูดถึงอันตรายของสารคาร์เบนดาซิมเอาไว้ว่า เป็น ‘สารอันตรายต่อมนุษยชาติ’ ที่ไม่ได้จำกัดความเพื่อความน่ากลัว แต่คำนึงถึงความเป็นพิษของสารตัวนี้ที่ไม่ได้จะเกิดขึ้นเฉพาะรุ่นของเรา แต่สืบไปถึงเยาวชนรุ่นต่อไป

และในปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารนี้อยู่มากมาย เนื่องจากใช้รักษาโรคจากเชื้อราของพืชได้กว้างทุกชนิด ซึ่งเป็นสารต้านเชื้อราประเภทดูดซึม ลักษณะการตกค้างนั้นจะเข้าไปข้างในเนื้อเยื่อของพืช เมื่อเข้าสู่ผู้บริโภค จะก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย

40652123 m Gindee Club กินดี คลับ

อาจารย์วงศ์วิวัฒน์ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยที่สะท้อนกับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ หรือรัฐบาลหลายประเทศกลัวการใช้คาร์เบนดาซิม เพราะว่าสารตัวนี้สามารถทำลายพันธุกรรมในเซลล์เม็ดเลือดขาวได้ และมีรายงานอีกมากมายที่ทดลองกับสัตว์ทดลอง ระบุว่า มีโอกาสก่อให้เกิดโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย อาทิ ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ไปจนถึงรบกวนการทำงานของยีนที่เกี่ยวข้องกับสารละลายน้ำตาลและไขมัน อาจเกิดพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ มีพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำและมีพิษตกค้างได้นาน

ในขณะที่ ผศ.ดร.สุพัตรา ปรศุพัฒนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงผลการสำรวจการปนเปือน CBD ในกลุ่มผัก ผลไม้ในไทย ที่ Thai-PAN ได้รวบรวมไว้ก่อนหน้านี้ คือช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2563 (ยกเว้นปี พ.ศ. 2561) จำนวน 1,274 รายการ มีการตรวจพบสารคาร์เบนดาซิม 242 รายการ (19.0%) และตัวอย่างที่ตรวจพบสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เห็ดหอมแห้ง 98.3% พริกแห้ง 88.2% ส้มสายน้ำผึ้ง 86.4% พุทราจีน 85.7 % และชมพู่ 66.7%

ซึ่งหลังจากได้ประเมินความเสี่ยงจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารคาร์เบนดาซิมที่ตกค้างแล้ว พบว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่ากังวล โดยอาจารย์สุพัตราได้นำมาคำนวณปริมาณที่ร่างกายมนุษย์ควรรับได้ อยู่ที่ 0.11 /mg/kg /d ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขที่นับจากตัวอย่างย้อนหลังในปี 2559 อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวโน้มการนำเข้าสารคาร์เบนดาซิมที่มากขึ้นในไทย ตัวเลขก็จะมีการเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยงก็จะมีค่าที่เพิ่มขึ้น

และความเสี่ยงต่อสุขภาพนี้ ในหลายประเทศทั่วโลกได้ประเมินแล้วเห็นว่า ควรเลิกใช้สารคาร์เบนดาซิมในการเกษตร ซึ่ง อาจารย์สุพัตราได้ยกตัวอย่างการระงับการใช้สาร CBD ในออสเตรเลีย Australia Pesticides & Veterinary Medicine Authority (2007) ทบทวนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มี Carbendazim หรือ Thiophanate-methy1 จากข้อกังวลด้านความปลอดภัยต่อมนุษย์ และผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และพัฒนาการต่อสุขภาพระยะยาว และมีการระงับการใช้คาร์เบนดาซิมในแอปเปิล แพร์ พืชอื่นๆ รวมทั้งการใช้กับต้นส้มในปี 2010

แม้การตกค้างของสารคาร์เบนดาซิมจะมีอันตรายต่อสุขภาพ และมีการแบนในหลายประเทศ ดร.ชมชวน บุญระหงส์ อดีตอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรการจัดการเกษตรอินทรีย์นานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้กล่าวว่า การหาสารตัวอื่นมาแทนคาร์เบนดาซิมนั้นไม่ใช่ทางออก

แต่การทำเกษตรควรเข้าใจการจัดการโรคพืช หรือต้องทำเกษตรเชิงระบบนิเวศธรรมชาติ โดยใช้สารชีวภัณฑ์ที่ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา จำพวก ไตรโคเดอร์มา หรือสารสกัดสมุนไพรต่างๆ อย่างว่านน้ำ สามารถรักษาโรคแอนแทรคโนสในมะม่วง หรือโรคพืชจากไวรัสก็มีพืชสมุนไพร อาทิ ตะไคร้หอม ช่วยไล่แมลงพาหะ ซึ่งไม่เป็นอันตรายทั้งต่อพืชและผู้บริโภค

และหากอยากให้เกษตรหันมาใช้สารที่ไม่อันตรายเหล่านี้กันมากขึ้น ควรตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนทั้งในทางนโยบายและทางปฏิบัติ ให้มีการเลิกใช้หรือลดใช้สารเคมีที่เป็นพิษ แล้วสนับสนุนสารชีวภัณฑ์ต่างๆ ให้มากขึ้น

สุดท้าย รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ฝากเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากสารเคมีที่อาจไม่ใช่แค่คาร์เบนดาซิม แต่หากร่างกายได้รับสารเคมีอื่นๆ ด้วย ถึงแม้ในปริมาณที่น้อย ก็เท่ากับยิ่งเป็นการเสริมฤทธิ์กัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยจนถึงนำไปสู่โรคมะเร็งได้

ซึ่งอาจารย์ปัตพงษ์ได้เสนอทางออกไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งในระดับบุคคลและระดับครอบครัว คือเอาสารพิษออก และเติมอาหารที่มีคุณค่าอย่างผักผลไม้ปลอดสารเคมี เครื่องเทศ สมุนไพร และจุลินทรีย์โพรไบโอติก ขณะเดียวกันก็ต้องมีทางออกระดับประเทศ ซึ่งหากทั้งภาครัฐ สื่อมวลชน ภาคธุรกิจ กลุ่มประชาสังคม บุคคลทั่วไป ช่วยกันทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และเกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.