“ระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว” ตัวการทำโลกรวนและคุณค่าทางโภชนาการลดลง

“ระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว” ตัวการทำโลกรวนและคุณค่าทางโภชนาการลดลง

อาจเป็นเรื่องที่บางคนไม่เคยคาดคิด แต่ความจริงมีอยู่ว่า ภาวะโลกรวม (Climate Change) ซึ่งมีส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการทำเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร

ทั้งนี้ มีการศึกษาล่าสุดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกมาว่า ภาคเกษตรกรรมและการผลิตอาหารนั้น มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 17 ล้านตันคาร์บอน หรือคิดเป็น 31% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

โดยเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวนับเป็นตัวการใหญ่ของการปล่อยก๊าซ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเขตร้อนไปเป็นแปลงถั่วเหลือง, ข้าวโพด, ปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกัน การผลิตและการใช้ปุ๋ยเคมีทางการเกษตรก็มีส่วนสำคัญ เพราะมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 298 เท่า เช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนออกมาในปริมาณมหาศาล

นอกเหนือจากนี้ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่กังวลใจ คือ ระบบอาหารปัจจุบันกำลังยืนอยู่บนความไม่มั่นคงอย่างยิ่ง โดย FAO ประเมินว่า พันธุ์พืชที่ใช้ มีอยู่เพียง 10% จากที่เคยใช้เมื่อร้อยปี ที่เหลือสูญหายไปจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ส่วนพันธุกรรมสัตว์ก็ลดลงเหลือครึ่งเดียวด้วย

ภาพย่อย 01 Gindee Club กินดี คลับ

ผลวิจัยพบ คุณค่าในผักผลไม้และข้าวหายไป

พ้นไปจากปัญหาเรื่องภาวะโลกรวน รวมไปถึงความมั่นคงของระบบอาหารแล้ว เรื่องของโภชนาการที่มีอยู่ในอาหาร ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเช่นเดียวกัน

มีงานวิจัยที่เก่าแก่ที่สุด โดย USDA ของสหรัฐอเมริกา ที่ประเมินโดยนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัย พบว่า คุณค่าทางอาหารในผักผลไม้ 43 ชนิด ลดลงแทบทั้งสิ้น โดยวิตามิน เอ ลดลง 18%, วิตามิน บี 2 ลดลง 38%, วิตามิน ซี ลดลง 15%, เหล็ก ลดลง 15% และแคลเซียม ลดลง 16%

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีงานวิจัยที่ร่วมศึกษาโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน, มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และอีก 3 มหาวิทยาลัยทั่วโลก เปิดเผยด้วยว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลต่อความถดถอยของคุณค่าสารอาหารในข้าว

ทั้งนี้ ผลวิจัยดังกล่าวยังแจกจงด้วยว่า โภชนาการในข้าวที่ลดลงทั้งหมดนั้น ให้โปรตีน ลดลง 10%, เหล็ก ลดลง 8%, สังกะสี ลดลง 5%, วิตามิน บี1 ลดลง 17%, วิตามิน บี2 ลดลง 17%, วิตามิน บี5 ลดลง 13% และวิตามิน บี9 ลดลง 30%

ภาพย่อย 02 1 Gindee Club กินดี คลับ

4 ข้อเสนอจากประชาชน ทางออกสู่ความสมดุลและยั่งยืน

ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ของวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนิเวศเกษตรและสิ่งแวดล้อม การคืนกลับสู่การผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จึงเป็นทางออกหนึ่งที่มีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ฝั่งประชาชนเองก็มีข้อเสนอในการแก้ปัญหาเหล่านี้ออกมาเช่นเดียวกัน โดยมีทั้งสิ้น 4 ข้อใหญ่ ได้แก่

1) พยายามลดต้นเหตุของปัญหาที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ เช่น การปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกในระบบเกษตรกรรม โดยการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้น มีการทบทวนแผนปฏิบัติการและยุทธศาสตร์ BCG รวมถึงนโยบายอื่นๆ ที่อาศัยความตื่นตัวเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาฟอกเขียวให้ภาคธุรกิจโดยไม่ได้ลดการก่อมลพิษที่ต้นตอ

2) การลงนามหรือเจรจาในกรอบการค้าระหว่างประเทศใดๆ ต้องไม่ยอมรับอนุสัญญา OPOV 1991 หรือมีข้อความใดๆ ในความตกลงที่จะสร้างผลกระทบต่อการเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ

3) ควรบรรจุสิทธิในอาหารไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างหลักประกันว่า การเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน

4) มีการสร้างภูมิทัศน์ใหม่ของระบบเกษตรกรรมและอาหารไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ที่ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ มีการสร้างพื้นที่อาหาร, ตลาดอาหารสำหรับชุมชน พร้อมสร้างความเป็นธรรมให้แรงงานในภาคเกษตรและอาหาร

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.