“กินให้ (สุขภาพ) ดี” เป้าหมายของแผนอาหารปี 66
ปัจจุบัน ความเป็นอยู่ของคนเรากำลังอยู่ในรูปแบบของชีวิตสำเร็จรูป ซึ่งรูปแบบดังกล่าวส่งผลต่อวัฒนธรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกำลังกลายเป็นสังคมบริโภคอย่างช้าๆ อาหารที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมได้ทำให้เราติดกับดักความสะดวกสบายจนอาจกลายเป็นผู้บริโภคไร้พลัง และไม่มีความรู้เรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะเลย
ด้วยเหตุนี้เอง เป้าหมายการดำเนินงานของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ที่จะต้องเกิดขึ้นจากการบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร ก็คือ การทำให้ผู้คนมีความรอบรู้ด้านการบริโภคเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ภาคีแผนอาหารเพื่อสุขภาวะได้ดำเนินงานไปตามแนวทางดังกล่าวมาตลอด
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. บอกเล่าถึงทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ปี 2566 และอีก 5 ปีต่อจากนี้ว่า เป้าหมายสุดท้ายของ สสส. คือ การต้องการให้คนมีสุขภาพดีจากการบริโภคอาหารดี แต่การจะถึงเป้าหมายนี้ต้องขับเคลื่อนตลอดทั้งห่วงโซ่ คือการผลิต การกระจายและการตลาด รวมถึงการบริโภค
โดยในต้นทาง ซึ่งหมายถึงการผลิตจะต้องเน้นการทำงานสนับสนุนต้นแบบการผลิตปลอดภัย ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ดีต่อสุขภาพ
ที่ผ่านมาและจากนี้ไป ของการขับเคลื่อนเรื่องอาหารเพื่อสุขภาวะ
ที่ผ่านมา ภาคีแผนอาหารมีการขับเคลื่อน ทั้งเรื่องวัตถุดิบประเภทผักผลไม้ ด้วยการรณรงค์การทำเกษตรอินทรีย์ การแบนสารเคมี สนับสนุนอาหารอุตสาหกรรมที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และใน 5 ปีต่อจากนี้ วัตถุดิบอาหารก็จะขยายไปยังกลุ่มเนื้อสัตว์ปลอดภัยด้วย
ด้านการผลิตกลุ่มอาหารในภาคอุตสาหกรรมนั้น ภาคีแผนอาหารจะเน้นให้สำคัญไปยังกลุ่มอาหารที่ทำให้เกิดปัญหา NDCs นั่นคือ หวานเกินไป เค็มเกินไป และมันมากเกินไป
ส่วนการกระจายและการตลาดนั้น ได้มีการจัดระบบที่ทำให้การผลิตและการบริโภคเคลื่อนตัวไปด้วยกัน มีการส่งเสริมกลไกกระจายอาหารที่เข้าถึงง่าย และหนุนเสริมตลาดเขียว ตลาดชุมชน ตลาดเชิงสถาบันให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพื่อที่จะรองรับการผลิตได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังทำงานสนับสนุนเศรษฐกิจอาหาร การควบคุมการตลาดอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยจะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นั่นเอง
ยุทธศาสตร์ 4 ด้าน สู่ความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ
สำหรับการบริโภคนั้น ได้มีการพัฒนาทักษะการบริโภคเพื่อสุขภาวะ สื่อสารความรอบรู้ สร้างจิตสำนึก และสนับสนุนการขับเคลื่อนพลเมืองอาหาร เพื่อสร้างความรอบรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้คน รวมถึงมีการดำเนินนโยบายเพื่อการบริโภคปลอดภัยและมีคุณค่าในโรงเรียน โรงพยาบาล และตามองค์กรต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2566 และ 5 ปีต่อจากนี้ แผนอาหารเพื่อสุขภาวะจะเน้นการทำงานในยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ
1) Food Literacy
2) Food Environment
3) Food Economy
4) Food Policy
โดยจะส่งเสริมให้เกิดความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ, เกิดต้นแบบระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่, เกิดนวัตกรรม รูปแบบ ช่องทางการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะของประชาชนในชุมชน, และเกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และระบบอาหารที่ยั่งยืน