“อาหารปลอดภัย มั่นคง” ผ่านการส่งต่อความรู้สู่ชุมชนและนักเรียน
แม้ก่อนหน้านี้ ผู้คนอาจยังมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่ด้วยวิกฤติระดับโลกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงภาวะโลกรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ก็ได้ทำให้ภาพของประเด็นดังกล่าวมีความชัดเจนในสายตาของผู้คนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับกลุ่มเปราะบางซึ่งมีรายได้น้อย
นอกจากความมั่นคงทางอาหารแล้ว ด้วยพฤติกรรมที่ละเลยเรื่องการให้ความสำคัญกับการกินของคนไทย ก็ส่งผลให้ต้องเผชิญกับภาวะโภชนาการเกิน หรือเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อีกต่างหาก
ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาเด็กยุคใหม่มีภาวะน้ำหนักเกินมากขึ้น จากการกินอาหารและเครื่องดื่ม ก็กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างผลร้ายให้กับประเทศ ทั้งในแง่ของสุขภาวะ รวมถึงเศรษฐกิจด้วย
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ ดร.ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ‘โครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน’ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลุกขึ้นมารณรงค์และขับเคลื่อนโครงการที่ทำอยู่อย่างจริงจังมากกว่าเดิม เพื่อให้นักเรียน ร้านอาหาร และชุมชนต่างๆ มีความรู้รอบด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่ดี มีการแบ่งปันอาหารในยามวิกฤติ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ไม่เพียงเท่านั้น ดร.ณัจยา ยังสนับสนุนให้เกิดตลาดสีเขียวในชุมชน ตั้งแต่การให้ความรู้ในการเพาะปลูกผักปลอดสาร การกระจายผลผลิต ไปจนถึงการส่งเสริมให้ผู้คนบริโภคอาหารสะอาดปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และลดโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ด้วย

การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารรของโรงเรียนและชุมชน
ดร.ณัจยา เล่าให้ฟังว่า โครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชนนี้ ขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมสร้างความรอบรู้ด้านอาหาร (Food Literacy) ผ่านการส่งเสริมให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง เรียนรู้เรื่องการปลูกผักปลอดสารไว้กินเองภายในโรงเรียนและรั้วบ้าน โดยผลผลิตที่ได้จะกลายมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ปรุงเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน หรือปรุงกินเองที่บ้าน อีกทั้งนักเรียนยังสามารถนำผักไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เล็กๆ
ขณะเดียวกัน ก็ยังส่งเสริมการกินผักปลอดสารในชุมชน ด้วยการสร้างตลาดสีเขียว ซึ่งเป็นตลาดที่ชาวชุมชนนำผักปลอดสารและผลิตภัณฑ์อินทรีย์มาจำหน่าย แลกเปลี่ยน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันอาหารให้กับกลุ่มเปราะบางแม้ในยามขาดแคลนนั่นเอง

จุดประกายเชฟชุมชน จัดตั้งกลุ่มพี่เลี้ยง เพื่อส่งต่อความรู้และดูแลกัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการสนับสนุนการกินอาหารปลอดภัยแล้ว โครงการนี้ยังจุดประกายความเป็น ‘เชฟชุมชน’ ให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง หรือร้านอาหารต่างๆ แถมยังสนับสนุนให้มีพื้นที่จำหน่ายด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีส่วนทำให้ร้านอาหารมีการเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชน โดยจัดตั้งกลุ่ม ‘พี่เลี้ยง’ ขึ้นมาให้ทำหน้าที่เป็นแกนนำของชุมชนในการสนับสนุนการเข้าถึงอาหารของกลุ่มเปราะบาง และการสร้างสรรค์เมนูอาหารกลางวันของนักเรียน
ทั้งนี้ ทีมพี่เลี้ยงจะทำหน้าที่สำรวจ รวบรวม และรับสมัครกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจากภายในโรงเรียน ชุมชน และร้านอาหารต่างๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงสอนการปลูกผักปลอดสาร ตั้งแต่เพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายเข้มแข็งในชุมชนที่จะคอยดูแลกันและกัน

โจทย์ใหม่ที่ท้าทาย ทำอย่างไรให้เด็กไทยกินผักผลไม้
นอกเหนือจากการสนับสนุนให้มีพื้นที่สีเขียวภายในโรงเรียนและชุมชนแล้ว การสนับสนุนให้เด็กไทยหันมากินผักและผลไม้ปลอดสารมากขึ้น ก็เป็นโจทย์ที่ต้องทำให้เกิดการรณรงค์เช่นกัน เพราะทุกวันนี้คนไทยกินผักและผลไม้ต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ (เฉลี่ย 400 กรัมต่อวัน) ถึง 65.5% การที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ หันมากินผักและผลไม้มากขึ้น ต้องเริ่มจากการปลูกฝังภายในครอบครัวและโรงเรียนก่อน
แต่การที่เด็กๆ ลงมือปลูกผักปลอดสารภายในโรงเรียนหรือหลังบ้านด้วยตัวเอง จะทำให้พวกเขามองเห็นคุณค่าของผักที่ปลูกเองมากขึ้น และเด็กๆ จะสามารถกินผักเยอะกว่าเดิม ซึ่งเป็นการลดพฤติกรรมการเขี่ยผักข้างจานอย่างเห็นชัดปัจจุบัน โครงการต้นแบบความมั่นคงทางอาหารภายในโรงเรียนและชุมชน กำลังสานฝันและต่อยอดความสำเร็จบนพื้นที่ต้นแบบใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา, จ.สุพรรณบุรี และ จ.ปทุมธานี
ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ บนแผนที่ประเทศไทย ถึงอย่างนั้น ในอนาคตพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ก็จะขยายออกไป เพื่อให้คนไทยได้รับประทานผักปลอดสารและอาหารปลอดภัย ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ตั้งแต่บ้าน โรงเรียน และชุมชนเลยทีเดียว