บ้านกะสวนฟาร์ม&คาเฟ่ ต้นแบบตลาดในสวนกินสบายใจ เมล็ดพันธุ์แห่งตลาดเขียว

บ้านกะสวนฟาร์ม&คาเฟ่ ต้นแบบตลาดในสวนกินสบายใจ เมล็ดพันธุ์แห่งตลาดเขียว

หากใครมาเดินตลาดกินสบายใจ ตลาดเขียวที่ห้างสุนีย์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจัดขึ้นทุกวันเสาร์ อาจรู้สึกว่าบูธออกร้านดูบางตา และตัดสินไปว่า การบริโภคเกษตรอินทรีย์ที่นี่ไม่ได้รับความนิยม

เราเองก็สงสัยกับสิ่งที่เห็น จึงได้พูดคุยกับ คนึงนุช วงศ์เย็น ผู้จัดการมูลนิธิสื่อสร้างสุข โครงการกินสบายใจ ที่ดูแลตลาดเขียว เธอหัวเราะก่อนจะตอบว่า “เปล่าหรอก เกษตรกรเขาหันไปเปิดร้านตัวเองในสวนหมดแล้ว”

7627ED93 4400 4646 B54E 7D5044E30C68 edited 2 Gindee Club กินดี คลับ

กินสบายใจเรียกตลาดเขียวรูปแบบนั้นว่า ‘ตลาดในสวน Organic Farm@Cafe’

คนึงนุชเล่าย้อนไปเมื่อแรกเกิดสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่เกษตรกรไม่สามารถนำผักมาขายที่บูธได้ และไม่มีคนเดินห้าง เกษตรกรจึงหันไปขายออนไลน์ หรือบางคนก็เปิดตลาดในสวนของตัวเอง ให้คนกินมาซื้อถึงที่ พอโรคระบาดคลี่คลาย ตลาดกินสบายใจยังคงกลับมาเปิดทุกวันเสาร์ รองรับรูปแบบการทำงานของเกษตรกรที่ถนัดขายรูปแบบนี้ ซึ่งจากเดิมมี 10 บูธ แต่ทุกวันนี้บางเสาร์อาจจะเหลือเพียง 5 บูธ

“ข้อดีของตลาดในสวนคือ เกษตรกรไม่ต้องเดินทาง บางคนทำสวนวันนึงก็ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแล้ว สินค้าในสวนนอกจากมีผัก ผลไม้สด เกษตรกรจะขายสินค้าแปรรูป ซึ่งผู้บริโภคเดินทางเข้ามาถึงในสวนเลย

“เกษตรกรมีรายได้มากกว่าการเดินทางไปออกบูธเพียงวันเดียว เพราะตลาดในสวนบางแห่งเปิดอาทิตย์ละ 5 วัน เขามีรายได้เกือบทุกวัน นอกจากเป็นผลดีกับเกษตรกรแล้ว ตลาดในสวนยังเพิ่มการบริโภคของกลุ่มคนกินในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย” คนึงนุชเล่า

ตอนนี้เกิดตลาดในสวน 5 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดอุบลฯ ได้แก่ วันสบายฟาร์ม บ้านเดอโฮมคาเฟ่, KINSABAIJAI TOWN FARM วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี (ตลาดความรู้) และบ้านกะสวนฟาร์ม ซึ่งถือเป็นต้นแบบ Organic Farm@Cafe

เราออกเดินทางไปบ้านกะสวนฟาร์ม เพื่อพูดคุยกับ ศราวุธ ตรีอินทอง หรือ ‘วุฒิ’ ผู้เป็นเจ้าของ กลิ่นพิซซ่าลอยฟุ้งออกมาจากเตาที่ปั้นด้วยมือพร้อมควันไฟอ่อนๆ

วุฒิเป็นเขยอุบล เขากลับมาบ้านพร้อมกับแฟนเมื่อปี 2558 ตั้งใจมาทำสวนโดยมีหลักคิดที่อยากลงมือทำเอง ไม่จ้างใครกับการลงแรงในพื้นที่ 7 ไร่

16B38453 A7C2 4154 9330 01DEDC5FDE7B edited Gindee Club กินดี คลับ

“ทั้งทำนา เลี้ยงไก่ ทำฟาร์มเห็ด ปลูกมะนาว ทำจนปลายประสาทมืออักเสบ โอ้โห้! ขนาดนี้เลยเหรอชีวิตเกษตรกร กว่าจะลงตัว ผมไม่ใช่สายลงแรง เลยเข้าหาเส้นทางสายแปรรูป มีคนแนะนำให้ปลูกหญ้าหวาน ทำน้ำหญ้าหวาน แต่ผมก็ยังคงปลูกผักอื่นๆ อยู่ด้วย”

จุดเปลี่ยนของวุฒิเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ตอนไปออกบูธในงานสัปดาห์หนังสือที่ห้างสุนีย์ และได้รู้จักเครือข่ายเกษตรกรกินสบายใจที่จัดตลาดเกษตรอินทรีย์

“ผมศึกษาระบบเกษตรอินทรีย์หลายค่าย แต่สื่อสร้างสุขตอบโจทย์ที่สุด เขาทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่ได้มองว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ปรึกษากันได้ทุกเรื่อง มาช่วยแทบจะทุกมิติ อย่างน้อยผมเข้ากลุ่มก็ได้เครือข่ายเกษตรกร ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำคนเดียว ทำให้ได้รู้จักเกษตรกรทั่วทุกอำเภอ ได้เห็นมิติการทำเกษตรที่หลากหลายขึ้น”

ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใครทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของเขาโดดเด่น ปี 2560 สวนของวุฒิได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของกินสบายใจประจำพื้นที่อำเภอวารินชำราบ

แต่เมื่อโควิด-19 เข้ามา ตลาดที่เคยเอาผักไปขายทั้งในห้างสุนีย์ และโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี ไม่มีคนเดิน วุฒิจึงหันมาสร้างตลาดของตัวเอง รับพรีออร์เดอร์ผักทางออนไลน์ส่งให้หน่วยงานใกล้ๆ บ้าน

“คนกินยังไงก็อยากกินอยู่ โชคดีผมอยู่ไม่ไกลเมือง มีสินค้ารูปแบบผักสด หรือแปรรูปเป็นสลัดโรล จะรับออร์ดอร์ทุกวันจันทร์ ทำวันพุธ จัดส่งวันพฤหัส ทำแบบนี้เกือบปี พอพฤติกรรมคนเปลี่ยนไม่เดินห้าง กินสบายใจคิดอยากทำตลาดในสวนก็ชวนผม

“ตอนนั้นแฟนผมก็อยากทำร้านกาแฟพอดี แต่ที่ไหนๆ ก็มีร้านกาแฟ ก็ต้องหาจุดขาย เพราะลูกค้าของเราเขาต้องตั้งใจมา พอดีเพื่อนผมแนะนำให้ทำพิซซ่าเตาถ่านด้วย ช่วงแรกเหนื่อยหน่อย แต่มันคือช่วงที่ต้องสร้างตัวตน พยายามดึงคนเข้ามา ด้วยการสร้างศูนย์เรียนรู้สาธารณะให้คนรู้จัก สุดท้ายจะเกิดการบอกต่อเอง”

09B1386F 59E6 4D95 9848 07F60E53D765 Gindee Club กินดี คลับ

บ้านกะสวนฟาร์มเปิดตัวในฤดูร้อนของเดือนมีนาคม 2565 จากเดิมที่เคยปลูกพืชตามความต้องการของตลาด ตอนนี้เขาปลูกเฉพาะที่ใช้ขายในร้าน และต่อยอดมูลค่าด้วยผลิตภัณฑ์แปรรูป อย่างมะเขือเทศนำมาทำเป็นซอสแต่งหน้าพิซซ่า ผักโขมนำมาอบชีส ผักเคล มัลเบอร์รีนำมาทำน้ำสลัด

“ผมน่าจะทำตั้งนานแล้ว มันตอบโจทย์เรื่องกิจกรรมในบ้านทั้งหมดเลย สร้างรายได้ให้หลานๆ ที่เขามาช่วยร้านด้วย เมื่อก่อนทำเกษตรใช้แรง เต็มที่ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท มาแปรรูปรายได้เฉลี่ยวันละ 5,000-6,000 บาท สูงสุดเดือนละ 50,000 บาท แต่ก็ไม่ได้ขายทุกวัน พอเปิดร้านก็มีรายได้ 60,000 บาทขึ้นไป ขนาดทำแค่ 4 วัน 3 วันที่เหลือผมจะทำอย่างอื่น และช่วยงานของเครือข่าย”

วันนี้บ้านกะสวนฟาร์มไม่ได้เป็นแค่ตลาดในสวน แต่ยังเป็นพื้นที่ดูงานสำหรับผู้สนใจเกษตรอินทรีย์ ต้นแบบการแปรรูปสินค้า ทำให้เห็นภาพของอาชีพเกษตรกรอินทรีย์ที่สามารถอยู่ได้จริง และเป็นพื้นที่วิ่งเล่นปล่อยพลังของเด็กๆ ซึ่งวุฒิอยากให้เกิดกับอีกหลายพื้นที่โดยไม่ต้องลงทุนสูง

“ต้องพยายามประยุกต์ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างไม่ยั่งยืน สักพักเดี๋ยวก็มีคนทำตาม เช่น การทำน้ำหม่อน สักพักก็มีเกษตรกรขายน้ำหม่อนเต็มเลย มันเป็นวิถีชีวิต ผมก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็ดีใจนะที่เขาทำแล้วสร้างรายได้ ผมคิดว่าที่ทำตอนนี้อย่างน้อยก็ได้กิน เน้นอะไรที่ได้กินก่อนแล้วสร้างมูลค่า

“กว่าจะถึงวันนี้ผมอยากให้มองถึงความพยายาม ถ้าสินค้าดี มันจะขายตัวมันเอง อยากให้คนทำเกษตรอินทรีย์คิดต่อยอด ไม่จำเป็นต้องปลูกผักขายอย่างเดียว มันมีมิติของการทำเกษตรอีกมาก เกษตรกรสามารถยึดเป็นอาชีพได้ โดยเลือกทำในแบบที่ตัวเองถนัด”

บูธออกงานตลาดเขียวที่ลดลงของกินสบายใจ ไม่ได้หมายถึงความนิยมที่ลดลงของตลาดอินทรีย์ แต่เป็นการเติบโตของเครือข่ายเกษตรกร ที่เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ความสำเร็จที่งอกงามของตลาดเขียว

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.