จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี หัวใจของการขับเคลื่อนโครงการ อยู่ที่การสร้างผู้นำ
ในแววตาสดใสของผู้ใหญ่ใจดีที่นั่งอยู่ตรงหน้า เราสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความมุ่งมั่นที่ส่งประกายไม่มีแผ่ว และทำให้เราเชื่อได้อย่างไม่มีข้อสงสัย เมื่อเธอบอกกับเราว่า ‘ชีวิตหลังเกษียณ’ ไม่เคยมีอยู่ในพจนานุกรมส่วนตัว
ที่ห้องทำงานของมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ในฐานะประธานมูลนิธิฯ ที่ใครต่อใครเรียกเธอว่า ‘พี่หน่อย’ บอกเล่าถึงเส้นทางชีวิตของเธอให้เราฟังด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ถึงการคลุกคลีอยู่ในแวดวงการขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยมาทั้งชีวิตตั้งแต่เรียนจบ ด้วยเริ่มต้นทำงานในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนจะขยับออกมาทำงานด้านนโยบายอาหารปลอดภัยแห่งชาติ และอยู่กับประเด็นสำคัญนี้มาจนปัจจุบัน
ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญที่สั่งสม เกิดเป็นโครงการที่ยังประโยชน์กับสังคมไทยนับไม่ถ้วน ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่รับราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จงกลณีคือแกนสำคัญในหลากหลายภารกิจที่ถือเป็นเรื่องบุกเบิกด้านความปลอดภัยของอาหารในประเทศไทย
และเมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 จงกลนีซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหารของกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาโครงการของ สสส. มาตั้งแต่ต้น ด้วยคุณสมบัติที่มีอยู่ครบพร้อมในตัว
และความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ก็ยังคงเป็นแนวคิดหลักที่นำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการในมิติต่างๆ
“ปี 2557 เรากำลังจะเกษียณ ก็มีความคิดที่จะทำโครงการเด็กไทยแก้มใสขึ้น ตอนนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พระยศในขณะนั้น) กำลังจะมีพระชนมายุครบ 60 พรรษาในปี 2558 พระองค์ท่านได้ทำเรื่องอาหารและโภชนาการเด็กมาตลอด และเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ด้วย
“เราจึงเสนอโครงการเด็กไทยแก้มใส ถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ น้อมนำพระราชดำริของพระองค์ท่านมาขยายผล เพื่อให้โรงเรียนเข้าใจเรื่องโภชนาการอาหารในเด็ก”
จงกลนีเล่าถึงจุดกำเนิดของโครงการเด็กไทยแก้มใส ซึ่งประสบความสำเร็จมาด้วยดีตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการ เกิดการขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมในโรงเรียน 544 แห่งทั่วประเทศไทย บางโรงเรียนสามารถยกระดับสู่การเป็น ‘ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเด็กไทยแก้มใส’ ที่สามารถให้ความรู้กับชุมชน และมีส่วนสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจชุมชน ผ่านการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากผู้ผลิตในชุมชน มาปรุงเป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน
และองค์ความรู้ของโครงการก็ได้พัฒนามาสู่คู่มือการสร้างมาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา เกิดเป็นหลักสูตร e-learning ที่โรงเรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง มีการอบรมแม่ครัวผู้สัมผัสอาหาร ทำเมนูอาหาร และผลิตสื่อต่างๆ เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำไปใช้บริหารจัดการอาหารในโรงเรียนได้
เมื่อมองย้อนกลับไปในวันเริ่มต้น จงกลนียังจำบรรยากาศการขับเคลื่อนโครงการได้แจ่มชัด
“ในช่วงแรกๆ ครูบางท่าน ผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่ง ยังไม่เข้าใจแนวคิด การที่ต้องมาเข้าร่วมอบรมเรื่องการกำหนดแผนอาหารกลางวัน เพื่อสร้างโภชนาการให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน ที่ใช้แพล็ตฟอร์ม Thai School Lunch มันเหมือนการเพิ่มภาระให้กับงานหลายด้านของครูที่มากมายล้นหลามอยู่แล้ว”
แต่เมื่อบุคลากรเหล่านั้น ได้ผ่านเข้ามาในกระบวนการอบรมที่ถอดจิตวิญญาณเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักรู้ จนเกิดการลงมือทำด้วยความศรัทธา การขับเคลื่อนที่ตั้งต้นด้วยความปรารถนาดีต่อเด็ก จึงดำเนินไปด้วยมองเห็นจุดหมายเดียวกัน
อาหารกลางวันของโรงเรียนในเครือข่ายเด็กไทยแก้มใส ให้ความสำคัญที่ความปลอดภัยตั้งแต่วัตถุดิบต้นทางจากแปลงเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนและชุมชน มีคุณค่าทางโภชนาการ ส่งเสริมให้เด็กได้กินผักผลไม้อย่างเพียงพอ การปรุงเมนูลดหวานมันเค็มเพื่อสร้างพฤติกรรมการกินที่ดีต่อสุขภาพตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงงานของภาคีเข้ามาหนุนเสริมกัน ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น
“โครงการเด็กไทยแก้มใสไม่ใช่แค่เรื่องโภชนาการ แต่เป็นเรื่องสุขภาวะองค์รวมของทั้งโรงเรียน เราทำออกมาได้ดีจนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ขยายไปสู่ชุมชน
“อย่างโรงเรียนบ้านป่าไม้สหกรณ์ ที่บุรีรัมย์ อาจารย์วิโรจน์ เหลือหลาย ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เขาชวนชาวบ้านทำโครงการ 3×3 เศรษฐกิจพอเพียง ตามปรัชญาในหลวงรัชกาลที่ 9 จะพื้นที่ 3×3 เมตร หรือ 3×3 วา ก็ได้ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่ปลูกผักไว้กินประจำ เลี้ยงไก่สักตัวไว้เก็บไข่ เลี้ยงปลาสักหน่อยหนึ่ง ปลูกข้าวในโอ่งก็มี ทั้งหมดนี้มีการสอนในโรงเรียน แล้วดึงชุมชนเข้ามาเรียนด้วย”
เธอยกตัวอย่างโรงเรียนดาวเด่น ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของโรงเรียนและโครงการเด็กไทยแก้มใส ซึ่งการที่จะสามารถขยายผลจากโรงเรียนไปสู่ชุมชนได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพในตัวบุคลากรที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
“คนเป็นครูต้องมีอุดมการณ์ในการช่วยเหลือเด็กนักเรียนอยู่แล้ว และครูคือบุคลากรที่มีศักยภาพ เขามีพลังบวกอยู่ในตัว หากเราปลดล็อกศักยภาพของครู นำพลังบวกของเขาเคลื่อนมาสู่เป้าหมาย เราจะได้ผู้นำที่ยอดเยี่ยม เพราะโรงเรียนคือสถาบันแกนกลาง เป็นแหล่งเรียนรู้”
การปักหมุดเป้าหมายงานโภชนาการอาหารในโรงเรียน ไม่ได้มีขอบข่ายอยู่ภายในรั้วโรงเรียนเท่านั้น เพราะเกิดการเชื่อมโยงกับระบบเกษตรอินทรีย์ในชุมชน มีการเชื่อมผลผลิตเข้าสู่ครัวโรงพยาบาล เกิดตลาดเขียวขึ้นในชุมชน และเกิดการพัฒนาระบบอาหารชุมชน ซึ่งเป็นงานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ให้กับระบบอาหารของไทยด้วย
และแน่นอนว่า การจะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น การพัฒนาคนคือหัวใจสำคัญ อย่างที่จงกลนีย้ำอยู่เสมอ
“เราต้องพัฒนาคนที่จะไปพัฒนาคนได้ โดยเฉพาะบุคลากรในทุกด้านที่เกี่ยวกับระบบอาหาร ซึ่งจะสัมพันธ์ตั้งแต่การผลิตทางการเกษตร การนำผลผลิตมาแปรรูปเบื้องต้น การทำอาหารที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการ”
การพัฒนาคนในความหมายนี้ จึงหมายถึงการ ‘สร้างผู้นำ’ ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบอาหารให้เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ รวมถึง ‘โครงการพัฒนาความเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี’ ที่จงกลนีกำลังขับเคลื่อนอยู่ในตอนนี้
โครงการนี้มีพื้นที่ยุทธศาสตร์อยู่ในภูมิภาคต่างๆ อาทิ จังหวัดน่าน เชียงใหม่ บุรีรัมย์ ที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายได้อย่างน่าสนใจ และแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีทั้งผู้นำชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ครูโรงเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมกันขับเคลื่อน และการได้ทำงานร่วมกับบุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ก็ทำให้จงกลนีเกิดแนวคิดที่น่าสนใจต่อยอดตามมา
“ในโครงการย่อยของเรา คือโครงการพัฒนาระบบอาหารสุขภาวะ โดยใช้สถาบันการศึกษาเป็นผู้วางรากฐานให้เกิดระบบอาหารชุมชนสู่โรงเรียนที่ยั่งยืน โดยใช้กระบวนการทางวิชาการและวิจัย หลังจากที่ได้ทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสองแห่ง เราก็มีแนวคิดที่จะทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ
“เพราะถ้าเราพัฒนาคนที่จะไปเป็นครู เราต้องสร้างเขาตั้งแต่ยังอยู่ในระบบการศึกษา ก่อนที่เขาจะจบไปอยู่กับโรงเรียน เราจะมีครูอาหารกลางวัน ครูโภชนาการ ครูคหกรรม ครูเกษตร
“แล้วให้ครูเหล่านี้มาดูแลด้านภาวะโภชนาการเด็ก วิเคราะห์ได้ว่า ถ้าเด็กผอม เด็กขาดธาตุเหล็ก จะเสริมอะไร เด็กตาซีด เด็กที่ป่วยเริ่มเป็นไต เสี่ยงกับการเป็นเบาหวาน เด็กอ้วนคอดำ จะจัดอาหารอย่างไร เด็กไทยวัยเรียนจะมีโภชนาการที่ดีขึ้น” เธอฉายให้เห็นความสำคัญของการสร้างคน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่ออย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผล
ในปีนี้ จงกลนีจะมีอายุนำด้วยเลข 7 หากเทียบกับคนในวัยเดียวกัน ส่วนใหญ่นั้นเลือกที่จะใช้ชีวิตตามแบบคนวัยเกษียณ แต่สำหรับเธอแล้ว การได้ออกไปทำงานร่วมกับชุมชนและภาคีเพื่อขับเคลื่อนระบบอาหาร ยังเป็นความสนุกและเป็นเชื้อไฟที่จุดไอเดียใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้เสมอ
“ได้ทำงานทุกวันมันสนุกนะ ไม่เหมือนการอยู่เฉยๆ เหมือนเรากำลังปลูกต้นไม้ เมื่อมีการออกดอกออกผล ก็ทำให้ชีวิตมีความหมาย หว่านพืชไปแล้วเราก็ต้องคอยดูว่ามันโตหรือไม่ ชีวิตต้องมีความหวัง
“และการที่เรายังไม่คิดจะหยุด ก็เพราะว่ามันยังไม่เสร็จ คำว่าเสร็จของเราคือ มีหน่วยงานเอาไปทำต่อ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานส่วนกลาง หรือหน่วยงานในพื้นที่ ถ้าโครงการอยู่ต่อได้ เราก็ปล่อยมือได้ เพราะเกิดการต่อยอด ออกดอกออกผล แล้วไปต่อได้เอง
“ที่ผ่านมาโครงการเด็กไทยแก้มใสยังไม่กระจายโรงเรียน หน่วยงานยังไม่เอาไปทำเป็นนโยบาย พอขยับโครงการมาเป็นมาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา เราก็คาดหวังว่าจะกระจายโรงเรียนได้ภายในสิบปี ซึ่งตอนนี้กรมทั้งหลายมาทำงานกับเราด้วยแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าเขาจะเอาไปใช้แค่ไหน ส่วนเราเองก็ต้องไปสร้าง incentive ให้กับโรงเรียน ให้เขาเห็นประโยชน์ ถึงจะชวนเขาทำงานต่อได้”
กว่าสามชั่วโมงที่ได้พูดคุยกัน ตั้งแต่การทำงานในกระทรวงสาธารณสุขจนหมดวาระ และมาเริ่มต้นทำงานเพื่อพัฒนาระบบอาหารหลังเกษียณ เราได้เห็นว่าตลอดชีวิตของจงกลนีไม่มีแม้สักก้าวเดียวที่เดินไปไร้คุณค่า ทุกย่างก้าวคือแรงส่งไปสู่ก้าวต่อไปเสมอ แต่ระหว่างก้าวนั้นเคยเกิดอุปสรรคบ้างไหม และบอกตัวเองอย่างไรในเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหา? เราทิ้งคำถามส่งท้าย
จงกลนีหัวเราะเสียงสดใสเหมือนเดิม ก่อนป้อนคำตอบที่สะท้อนทัศนคติด้านบวกต่อทุกการทำงานว่า “ไม่เคยต้องพูดอะไร เพราะมันไม่มีปัญหา พอมองเห็นแต่ทางแก้ไข ก็เลยไม่ค่อยมีอุปสรรค”