เดินหน้าลดบริโภค “เกลือและโซเดียม” เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน
รู้หรือไม่ว่า คนไทยมีอัตราการบริโภคเกลือและโซเดียมเฉลี่ยถึง 3,636 มก./วัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเอาไว้เกือบ 2 เท่า และนี่เองจึงสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคในกลุ่ม NCDs เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคไตเรื้อรังกันมากขึ้น
ด้วยเหตุผลที่ว่ามา ทำให้กรมควบคุมโรค มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และ สสส. มีการร่วมมือกันตั้งเป้าหมายที่จะทำให้คนไทยมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือและโซเดียมที่ลดลง ผ่านแผนนโยบายยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ซึ่งตั้งเป้าหมายให้คนไทยลดโซเดียมในการปรุงอาหารลงให้ได้ 30% ภายในปี 2568
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมา การดำเนินงานตามแผนนโยบายยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีการลงมือทำในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การปรับสูตรอาหาร ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและตามร้าน Street food, การสื่อสารให้ความรู้และความตระหนักแก่ประชาชน รวมถึงการแสดงฉลากโภชนาการต่างๆ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การผลักดันเรื่องนี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขับเคลื่อนลงไปในระดับจังหวัด โดยได้จัดทำ ‘แนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด’ เพื่อให้เป็นเครื่องมือการดำเนินงาน ซึ่งมีมาตรการสำคัญ อาทิ
การจัดทำข้อมูลเฝ้าระวังฯ, การจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนฯ, การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีในพื้นที่เป้าหมาย, การปรับลดปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารท้องถิ่น และอาหารปรุงสุกที่จำหน่าย เป็นต้น
การดำเนินงานเฝ้าระวัง ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด
นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เล่าถึงการดำเนินการว่า ปี 2566 กรมควบคุมโรคมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด โดยร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรวม 36 จังหวัด และมีแผนขยายผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ภายในปี 2568
ทั้งนี้ นพ.อภิชาติ ยังได้ยกตัวอย่างการดำเนินงานชุมชนลดเค็ม ในเขตภาคเหนือ จำนวน 50 ชุมชน ที่ผ่านการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีปัญหาผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง และมีความพร้อมในการจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย
โดยชุมชนที่ได้รับคัดเลือกจะมีการสำรวจข้อมูลการประเมินสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีการให้ความรู้ ปรับทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตเรื้อรัง
ความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ และมาตรการภาษีโซเดียมในอนาคต
นอกจากนโยบายที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เกิดมหาวิทยาลัยต้นแบบลดการบริโภคเกลือโซเดียม อีกทั้งมีการปรับขยายมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดโซเดียมคลอไรด์ในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม, การขับเคลื่อนผ่านแคมเปญลดซด ลดปรุง ลดโรค ของ สสส. และโครงการ ‘ลดเค็มเลือกได้’ ด้วย
ส่วนมาตรการภาษีโซเดียมที่มีการพูดถึงกันนั้น ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะนำมาใช้ โดย สสส. และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม จะทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมสรรพสามิต โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารนั่นเอง