ความสุขของเกษตรกร ในวันที่ชีวิตไร้สารเคมี

ความสุขของเกษตรกร ในวันที่ชีวิตไร้สารเคมี

เกษตรกรส่วนใหญ่ในจังหวัดสระแก้ว มักปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลือง แน่นอนว่าใช้ทั้งปุ๋ยทั้งยาที่อุดมไปด้วยสารเคมีอย่างที่เกษตรกรทั่วไปก็นิยมทำกัน ทำให้หลายต่อหลายครอบครัว หนีไม่พ้นวงจรเจ็บ จน เป็นหนี้

เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ กลายเป็นทางออกและคำตอบของเกษตรกรกลุ่มหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว ที่รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ส่งสินค้าทางการเกษตรที่ผลิตได้ไปยังครัวโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้วมา 3 ปีแล้ว และยังมีผลผลิตจำหน่ายตลาดนัดสีเขียวของโรงพยาบาลทุกวันจันทร์ถึงศุกร์อีกด้วย

มูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว และสสส. จับมือช่วยกันปลุกปั้นอบรมให้ความรู้ เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ขณะที่ รพร.สระแก้ว ก็เปิดพื้นที่ตลาดเขียวให้กับเกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม 6 พื้นที่ 112 ครอบครัว ได้รับประโยชน์

230149 Gindee Club กินดี คลับ

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ชุมชนย่อยที่ 12 บ้านคลองจาน กลุ่มเพื่อนใจอินทรีย์บ้านคลองมะละกอ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติโคกปี่ฆ้อง กลุ่มเกษตรธรรมชาติแก่งสีเสียด กลุ่มผู้ประกอบการเกษตรธรรมชาติบ้านแก้ง กลุ่มผู้ประกอบการเกษตรธรรมชาติอำเภอเขาฉกรรจ์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์วัฒนานคร กลุ่มเกษตรธรรมชาติอรัญประเทศไร่เมืองไผ่ กลุ่มเกษตรธรรมชาติอรัญประเทศ ไร่สามตุร เกษตรธรรมชาติ สวนสองแสน กลุ่มเกษตรธรรมชาติคลองหาดสระแก้ว

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาทำเกษตรธรรมชาติจริงๆ เพราะแม่อายุมาก อยากมีกิจกรรมทำร่วมกัน และให้ทุกคนในครอบครัวได้กินอาหารปลอดภัย แค่สุขภาพดีก็มีความสุขแล้ว” นิตยา ช้างศรี หรือป้านิด เกษตรกรธรรมชาติวัย 58 ปี แห่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว หนึ่งในเกษตรกรที่นำผลผลิตผักเกษตรธรรมชาติมาจำหน่ายที่โรงพยาบาล เริ่มต้นตอบคำถามเราด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม

ป้านิดเล่าว่า ตนเองมีสวนอยู่ที่ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว เมื่อหันมาทำเกษตรธรรมชาติก็ปลูกผักเอาไว้หลายชนิด เช่น มะเขือเทศเชอร์รีพันธุ์โทนี่ บร็อกโคลี กะหล่ำปลี มะระรัสเซีย ข้าวโพดสีม่วง โดยได้รับความรู้จากการอบรมกับมูลนิธิเอ็มโอไทย และมาเริ่มเรียนรู้การปลูกผักตามฤดูกาลให้เหมาะสมกับจังหวะของธรรมชาติ

“ป้าลงแปลงคนเดียว มีความสุข ไม่เหนื่อย เพราะเราได้ทำในสิ่งที่รัก พี่น้องเราได้กิน แล้วก็แจกให้เพื่อนบ้านกินกันด้วย ตอนนั้นเขามองว่าเราไม่ใช้ปุ๋ยใช้ยาจะเป็นไปได้ยังไง เราใช้ปุ๋ยจากใบไม้บำรุงดิน ปรับโครงสร้างดินตั้งแต่ปีแรก ซึ่งปีแรกจะไม่ค่อยได้ผลผลิต มาปีที่สองได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นสักห้าสิบเปอร์เซ็นต์ พอปีที่สามผลผลิตเต็มที่เพิ่มเยอะมาก

“พอเราทำสำเร็จ คนกินเขาก็มาซื้อในแปลงเลย มาดูว่าเราทำยังไง ส่วนรายได้ก็เพียงพอนะ ไม่มีหนี้สิน ไม่มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ บางวันไม่ได้ใช้เงินสักบาท เราทำเกษตรแบบไม่มีต้นทุนสูงจึงอยู่ได้ และเราทำจริงๆ เพราะใจรัก” ป้านิดพูดอย่างภูมิใจ

ขณะที่ความสุขของ สมพิศ เพ็ชรภักดี เกษตรกรจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านคลองมะละกอ วัย 38 ปี คือการไม่มีหนี้ และมีสุขภาพดี

“การเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์สร้างสุขภาพที่ดี จากที่ต้องหาหมอทุกเดือนเพราะเป็นไทรอยด์ก็ดีขึ้น เพื่อนเกษตรกรในกลุ่มเป็นหอบก็หาย ไม่ต้องมาหาหมอพ่นยาอีก การทำเกษตรปลอดสารเคมีเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา ทุกวันเราได้กินผักที่ดี ผักข้างนอกไม่กินเลย จะกินเฉพาะผักที่แลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม อยากกินคะน้า ก็เอาผักที่เราปลูกไปแลกมา ทุกวันนี้ไม่คิดที่จะกลับไปทำเคมีอีกเลย” สมพิศพูดด้วยแววตาจริงจัง

53110668 2005448639759622 1122685411584376832 n Gindee Club กินดี คลับ

สมพิศเล่าย้อนไปว่า ก่อนจะมารวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เดิมเธอปลูกกล้วยหอมเขียวพันธุ์คาเวนดิชเอาไว้ 10 ไร่ แต่แล้ววันหนึ่งบริษัทที่เคยรับผลผลิตก็ไม่มา ทุน 3 แสนบาทสูญไปทันที ตอนนั้นไม่รู้จะหันไปทางไหน ต้องกู้หนี้ยืมสินสารพัด จนมาเจอกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผักปลอดสารเคมี ลงทุนน้อย ไม่ต้องหอบเงินหมื่นซื้อปุ๋ยซื้อยาทุกอาทิตย์ ใช้วิธีปรุงดินให้ได้ แล้วรดน้ำ

“ทุกวันนี้ชีวิตเราดีกว่าเดิม จากที่ไม่มีรายได้เลยก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน ปีนึงมีรายได้ 2 แสนก็อยู่ได้ เพื่อนๆ ในกลุ่มส่วนใหญ่ก็ขาดทุนเคมีกันมา มีไร่อ้อยเป็นร้อยไร่ก็เลิกหมด หันมาทำอินทรีย์ กลุ่มเราได้ลองวิเคราะห์แล้ว เราปลูกมัน 1 ไร่ กับต้นหอม 1 ไร่ ต้นหอมจะได้ผลผลิตดีกว่าปลูกมันที่ทำเคมี และต้นหอมผลิตได้เยอะกว่า ปลูกได้ตลอดทั้งปี ส่วนมันเราเก็บผลผลิตได้ครั้งเดียว เกษตรอินทรีย์สำหรับเราจึงมีรายได้ที่มากกว่า”

ผลผลิตจากการปลูกแบบไร้สาร นำมาขายที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้วได้ 4 ปีแล้ว และทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลส่งผักเข้าโรงครัวได้ 3 ปี สมพิศเล่าว่า กลุ่มของเธอมีเกษตรกรที่ได้ใบรับรองเกษตรอินทรีย์ 25 ราย จากสมาชิก 30 ราย

นอกจากจำหน่ายให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ยังทำการขายแบบออนไลน์ และขายที่ตลาดนัดเมืองแก้วร่วมกับผักทั่วไปในตลาด

“ขายแข่งกับเขาเลย แต่ผักเราหมดทุกวัน (ยิ้ม) เพราะเรามีลูกค้าประจำ เขารู้ว่าเราเป็นผักอินทรีย์ เราขายผักไม่ต่างกับแผงทั่วไปที่ใช้เคมีเยอะ อย่างถั่วกับแตงกวา นอกจากนี้เรามีผักสลัดที่ขายดีมาก ให้ผลผลิตมาก และปลูกได้ทุกฤดูกาล ที่สำคัญคือ ภูมิใจมากเมื่อมีลูกค้าที่มาซื้อผักแล้วบอกว่า ผักเราสด อร่อย กรอบ ทำให้มีกำลังใจในการปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษที่ดีต่อสุขภาพคนกินต่อไป”

ความสุขของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ความสุขของป้านิดและสมพิศ เป็นความเรียบง่ายที่ได้ฟังแล้วทำให้หัวใจฟู และไม่ใช่เรื่องยากที่จะมี ‘ความสุข’ บน ‘ความพอดี’ หลุดพ้นวงจรเจ็บ จน และเป็นหนี้

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.