“อาหาร” คือสมบัติร่วม ที่ทุกคนต้องดูแลและปกป้อง

“อาหาร” คือสมบัติร่วม ที่ทุกคนต้องดูแลและปกป้อง

เพราะอาหารก็เปรียบเสมือนยา เป็นพลังที่มอบแก่มนุษย์ให้สามารถรักษาลมหายใจเอาไว้ แต่ถึงอย่างนั้น ตัวอาหารเองกลับอ่อนแอ ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องทำหน้าที่ปกป้องอาหารและพื้นที่ทางอาหาร

นี่คือมุมมองของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียน-นักแปล ผู้มีความสนใจด้านอาหาร ซึ่งได้หยิบยกความคิดของตัวเองขึ้นมาบอกต่อ เพื่อชี้ให้ทุกคนเห็นภาพชัดว่า การกินสามารถเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ได้

ในความคิดของอนุสรณ์ แน่นอนว่า ความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ทำให้โลกก้าวหน้า แต่ในมุมหนึ่ง มันก็เป็นความคิดที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน วัตถุดิบอาหารที่เป็นสิ่งร่วมของผู้คนในสังคม ถูกบุคคลภายนอกเข้าไปใช้ทรัพยากรด้วยความคิดนี้ ส่งผลให้วัตถุดิบที่ดี มักมีราคาสูง และทุกอย่างไม่ได้กลับสู่ชุมชน

อนุสรณ์เล่าให้ฟังว่า การที่สนใจและเข้ามาทำเรื่องอาหาร ทำให้ได้พบเจอผู้คนที่ให้คุณค่าด้านราคาเต็มไปหมด ซึ่งท้ายที่สุดก็จะเอาเงินเหล่านั้น เข้ากระเป๋าตัวเอง อาหารจึงไม่งอกงาม ไม่ได้ถูกปกป้องและไม่ถูกขยาย การปกป้องสิ่งร่วมของชุมชนหายไป เพราะพลังของชุมชนไม่เข้มแข็งพอ

ถ้าจะทำงานกับชุมชนเรื่องสิ่งร่วมต้องมีความรู้สึกอยากแลกเปลี่ยนกันอย่างเท่าเทียมและโปร่งใส มองเห็นจุดอ่อนและจุดแข็ง ทำอย่างไรจะทำงานประสานร่วมกันได้ และต้องเอื้อเฟื้อดูแล ผลักดันชุมชนที่ครอบครองสิ่งร่วมด้วย

ภาพย่อยที่ 1 8 Gindee Club กินดี คลับ

คืนทรัพยากรสู่ชุมชน เพื่อดูแลและปกป้องอาหาร

สำรวย ผัดผล เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน พูดถึงการดูแลทรัพยากร ซึ่งเชื่อโยงกับการปกป้องอาหารในฐานะสมบัติร่วม เอาไว้ว่า หลักคิดแบบตะวันออก คือ การดูแลด้วยกฎกติกาความเชื่อ ผู้ปลูกจะเคารพธรรมชาติ เคารพจิตวิญญาณพืช แต่ปัจจุบันการดูแลทรัพยากรถูกควบคุมด้วยกฎหมาย การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ กลายเป็นการกีดกันไม่ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงได้

ในขณะเดียวกัน ผู้ได้รับผลประโยชน์จากนอกพื้นที่ก็ใช้ทรัพยากรอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ควบคุมโดยคนอื่น ชุมชนเจ้าของทรัพยากรจึงตกอยู่ในภาวะสมยอม ส่วนในระดับแปลงพืชก็ถูกควบคุมด้วยเมล็ดพันธุ์ที่กวาดเก็บเข้าศูนย์กลาง โดยอ้างว่า ‘เพื่อการเข้าถึง’ แต่กลับริบออกจากเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงพื้นที่และเมล็ดพันธุ์ถูกจำกัดลงเรื่อยๆ เป็นเรื่องย้อนแย้งที่น่าห่วง

อย่างไรก็ตาม สำรวยเสนอทางออกเอาไว้ว่า การฟื้นฟูระบบนิเวศต้องคืนอำนาจกลับไปที่ชุมชน รัฐต้องอ่อนน้อมถ่อมตนกว่าที่เป็นอยู่ และกลับมาหาทางออกร่วมกับชุมชน

ภาพย่อยที่ 2 8 Gindee Club กินดี คลับ

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้การปกป้องอาหารไม่เหมือนเดิม

ด้านอาข่ารุ่นใหม่ ซึ่งเคยใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และหวนคืนบ้านเกิดอย่าง สุภาพร หมื่อแล หรือ ‘บิว’ ได้เล่าสิ่งที่เธอพยายามรื้อฟื้นภูมิปัญญาจากแม่และบรรพบุรุษว่า ในอดีตการเก็บเมล็ดพันธุ์แทบจะเป็นวิถีปฏิบัติของผู้หญิงชนเผ่าอาข่า ซึ่งเมล็ดพันธุ์คือของมีค่าและสำคัญที่สุด

แต่ถึงอย่างนั้น สถานการณ์ปัจจุบันกลับเริ่มมีบุคคลภายนอกเข้ามาฉกฉวยมากขึ้น พวกเขาเอารัดเอาเปรียบผู้หลักผู้ใหญ่ รวมถึงคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีความรู้ ด้วยการนำเมล็ดพันธุ์มาให้ปลูก แล้วการันตีราคาให้ แต่เมล็ดพันธุ์ที่ให้มานั้น กลับเก็บเมล็ดเพื่อปลูกต่อไม่ได้ เพราะมีการตัดต่อพันธุกรรมมา ส่งผลให้ต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ของพวกเขาเพื่อมาปลูกต่อ

ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ว่าอาจส่งผลเสียในอนาคต ทำให้เริ่มมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปนั้น ก็เข้ามาขัดกับวิถีชีวิตชาติพันธุ์และเป็นเหตุผลให้วิถีอื่นๆ เปลี่ยนไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การรักษาเมล็ดพันธุ์ด้วยการรมควัน ชาวอาข่าจะเก็บเมล็ดพันธุ์ใส่น้ำเต้า แล้วนำไปแขวนหน้าเตาไฟ แต่ครัวรูปแบบเดิมได้เปลี่ยนไปจากการกำหนดให้สร้างบ้านอย่างถาวร และทุกวันนี้ก็ไม่สามารถหาฟืนมาใช้ได้ เพราะถูกห้ามตัดไม้ บิวเล่าว่าหมู่บ้านที่เราอยู่ชื่อหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ ไม้เกี๊ยะซึ่งเป็นหัวเชื้อก็ตัดไม่ได้ พวกเธอถูกบังคับให้เปลี่ยนชีวิต สิ่งที่พวกเธอรักษาได้คือ จิตวิญญาณของความเป็นชนเผ่า และพยายามรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดในเชิงปฏิบัติเอาไว้นั่นเอง

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.