ที่มาของแคมเปญเซฟไต ทำไมคนไทยควรต้องลดซด ลดปรุง เพื่อลดโรค
ถ้าคุณคิดว่ามาเฟียน่ากลัวแล้ว มีสิ่งที่น่ากลัวกว่า… และถ้าเหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือกว่ามาเฟียก็ยังมีซุปเค็มๆ ที่อยู่ในถ้วย
เรื่องของมาเฟียกับน้ำซุป เป็นโฆษณาที่เผยแพร่สู่สายตาคนทั่วไปมาแล้วพักใหญ่ ในเนื้อเรื่องที่ดูขบขัน แต่เอาเข้าจริงๆ ความหมายที่โฆษณาชิ้นนี้ต้องการสื่อไม่ใช่เรื่องขำอย่างที่เห็น เพราะเบื้องหลังของแคมเปญนี้ มีที่มาจากการที่คนไทยเรากินเค็มกันเกินไปมาก
และคำว่า ‘มาก’ ที่ว่านั้น คือสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเอาไว้ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยค่าเฉลี่ยการบริโภคเกลือของคนไทยอยู่ที่ 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเรียกได้ว่าเกือบ 2 เท่า
แคมเปญ ‘ลดซด ลดปรุง ลดโรค’ ในโครงการลดเค็ม ลดโรค รณรงค์ให้คนไทยเห็นภัยร้ายจากการกินโซเดียมเกิน จึงเกิดขึ้น โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา ได้เล่าถึงที่มาของแคมเปญนี้ว่า
“เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์โจทย์หลายอย่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งในวัฒนธรรมอาหารไทยมีซุปอยู่ในหลายเมนู และคนไทยส่วนใหญ่ชอบกินน้ำซุปทุกมื้ออาหาร ทั้งจากอาหารประเภท แกงจืด ก๋วยเตี๋ยว ต้มยำ พะโล้ ข้าวมันไก่และอาหารประเภทต้ม โดยไม่รู้ว่าน้ำซุปที่กินเข้าไปเป็นอันตราย เนื่องจากมีโซเดียมซ่อนอยู่ทั้งในวัตถุดิบต่างๆ และน้ำซุป รวม 1,400-1,500 มิลลิกรัมต่อชาม
“และหากซดน้ำซุปจนหมดชาม นั่นเท่ากับว่าใน 1 มื้อ ร่างกายเราจะได้รับโซเดียมเกือบถึงเกณฑ์ที่แนะนำใน 1 วันแบบไม่รู้ตัว โดยที่ยังไม่ได้รวมกับมื้ออื่นๆ เลย
“เคยมีการศึกษาว่า ถ้าเราลดการซดน้ำซุปลงไปได้ ลดความเค็มในอาหารลงไป 10 เปอร์เซ็นต์จากเดิม ลิ้นเราจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเราลดได้เลย และถ้าเราลดได้มากกว่านั้นอีก โอกาสที่จะป่วยด้วยโรค NCDs อย่างหัวใจ โรคหลอดเลือด และการเสียชีวิต จะลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
“สี่ห้าปีที่ผ่านมา สสส. ได้ออกแคมเปญรณรงค์เรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งข้อมูลที่เราสื่อสารออกไปนั้นมาจากฐานวิชาการ จากข้อมูลจริงที่ทำการสำรวจเป็นการตั้งต้น ว่าคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงมาก แคมเปญของปีนี้เราได้วิเคราะห์แล้วว่าสาเหตุที่คนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงมาจากน้ำซุป แล้วเราเอาข้อมูลนี้มาออกแบบแคมเปญเพื่อรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยใช้คำว่า ลดซด ลดปรุง ลดโรค
“ลดโรค คือการที่เรากินเกลือและโซเดียมเยอะทำให้เป็นโรค NCDs ลดปรุง คือลดการเติมเสริมแต่งลงไปในอาหารจนเกินพอดี และลดซดคือเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินน้ำซุป ก็เป็นสามคำที่จำง่าย”
ทั้งนี้ สสส. โดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ ได้ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ที่จะนำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค NCDs มาโดยตลอด
ซึ่งเกิดผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การผลักดันให้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 เรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และการจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ.2559-2568, การพัฒนาปรับปรุงสูตรอาหารให้มีความเค็มลดลง โดยใช้สารทดแทนความเค็ม
การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม, ขยายผลนวัตกรรมเครื่องตรวจสอบความเค็มในอาหาร, เกิดฐานข้อมูลโซเดียมในวัตถุดิบอาหาร-เครื่องปรุงรสเค็มที่นิยมใช้ในอาหารตามภาคต่างๆ และอาหารแปรรูป โดยความร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งการรณรงค์ ‘ลดเค็ม ลดโรค’ – ‘ลดเค็ม ครึ่งหนึ่ง’ โดยสื่อสารประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชน ผ่านสื่อและช่องทางต่าง ๆ
และแคมเปญ ‘ลดซด ลดปรุง ลดโรค’ ก็เป็นอีกหนึ่งการสื่อสารเพื่อให้คนไทยปรับพฤติกรรมการกินและเห็นถึงภัยร้ายจากโซเดียม ลดการซดน้ำซุป น้ำผัด น้ำแกง น้ำยำ ในแต่ละมื้ออาหารให้น้อย เป็นการย้ำให้เข้าใจโดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการ ว่าทำไมเราจึงควรลดซดลดปรุงเสียตั้งแต่วันนี้