“ภาษีเครื่องดื่มรสหวาน” เบาหวานให้คนผ่านการปรับตัวของเครื่องดื่ม

“ภาษีเครื่องดื่มรสหวาน” เบาหวานให้คนผ่านการปรับตัวของเครื่องดื่ม

ความหวานกับคนไทยกลายเป็นของคู่กันไปแล้ว รู้หรือไม่ว่า คนไทยมีพฤติกรรม “ติดหวาน” อย่างมาก โดยกินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ อยู่ที่วันละไม่เกิน 6 ช้อนชา ถึง 4 เท่า

การติดหวานของคนไทยนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs มากมาย เช่น โรคอ้วน, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงฟันผุ

สำหรับสาเหตุที่คนไทยติดหวานนั้น ตัวการสำคัญมาจากเครื่องดื่มสำเร็จรูป มีงานวิจัยพบว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละวัน คนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี

ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล ซึ่งวางจำหน่ายในประเทศไทยนั้น พบมีปริมาณน้ำตาลสูงมากเฉลี่ย 9-19 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร

เพราะปัญหาคนไทยติดหวานนี้เอง ทำให้เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้มีการนำเสนอมาตรการภาษีเครื่องดื่มรสหวานต่อกรมสรรพสามิตขึ้น ซึ่งกว่า 10 ปีของการริเริ่ม ได้นำมาสู่มาตรการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวาน ที่เริ่มระยะแรกเมื่อปี 2560 จนตอนนี้ ผ่านเข้าสู่ระยะที่ 2 ด้วยผลชี้วัดที่น่าพอใจ และจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ในเดือนเมษายน 2566 ที่จะถึง

ภาพย่อยที่ 1 7 Gindee Club กินดี คลับ

รูปแบบโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มรสหวาน

จากแนวคิดการเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวานที่เริ่มขึ้นในปี 2552 จนกระทั่งเกิดเป็นรูปเป็นร่าง แนวทางนี้ถูกนำเข้าที่ประชุมกับนักวิชาการและกรมสรรพสามิตอยู่หลายหนกว่าได้รับการตอบรับ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องหารือกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งคัดค้านในตอนแรก จนท้ายที่สุด แนวทางนี้ก็ผ่านเข้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วรัฐบาลก็เห็นด้วย ส่วนกรมสรรพสามิตก็รับเรื่องไปดำเนินการต่อ

โดยมีการกำหนดโครงสร้างภาษีในอัตราแบบขั้นบันได คือ ระยะที่ 1 : วันที่ 16 กันยายน 2560 – 30 กันยายน 2562, ระยะที่ 2 วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2564 และระยะที่ 3 วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2566 ก่อนจะมีการขยายเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีระยะ 3 ออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2565

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด ส่งผลให้การปรับขึ้นอัตราภาษีระยะ 3 ถูกเลื่อนออกไปอีก 6 เดือน คือ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2566 นั่นเท่ากับว่า การปรับขึ้นในระยะ 3 จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายน ที่จะถึงนี้

ภาพย่อยที่ 2 7 Gindee Club กินดี คลับ

ผลสำเร็จของภาษีเครื่องดื่มรสหวาน

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอโครงการสำรวจติดตามพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานของคนไทย ปีที่ 3 พ.ศ.2563 ระบุว่า การเพิ่มราคาเครื่องดื่มรสหวาน มีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจของคนไทย คนจะไม่ดื่มเครื่องดื่มรสหวาน หากมีราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น

ด้านอาริยา ภู่วัฒนกุล จากสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ได้นำเสนอโครงการศึกษาผลการดำเนินมาตรการภาษีเครื่องดื่มรสหวานต่อการปรับตัวภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง

จากผลการนำเสนอนี้ ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ให้มุมมองว่า มาตรการภาษีเป็นเส้นทางที่น่าจะมาถูกทาง แต่ผู้บริโภคจะตื่นเต้นในระยะต้น เมื่อเกิดความเคยชินก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ดังนั้น เรื่องการสื่อสารและการบังคับมาตรการการใช้ภาษีเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.