เรื่องเล่าจาก Greenery Talk 2023 กรีนได้ กินดี แบบ Green Normal ‘ธรรมชาติ ธรรมดา’
เพิ่งผ่านไปอย่างชวนติดตาม สำหรับ Greenery Talk 2023: Green Normal ธรรมชาติ ธรรมดา ปีที่ 5 ซึ่งจัดโดย Greenery. ชุมชนของคนกรีน โดยการสนับสนุนของ สสส. ที่ยังคงสานต่ออุดมการณ์ Eat Good, Live Green, Clean Power ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ให้ได้มาเจอกัน
ด้วยความเชื่อว่า ท่ามกลางข้อจำกัดของชีวิตที่หลากหลาย เราทุกคนควรใส่ใจเลือกกินอาหารที่ปลอดสารเคมี ปรุงอย่างตั้งใจ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสุขภาพชีวิตที่ดีเท่าที่จะทำได้ เวทีนี้จึงชวน 10 สปีกเกอร์มาแชร์แรงบันดาลใจ ที่ต่อยอดมาเป็นแรงบันดาลทำเรื่องกรีนๆ ให้ตัวเราและโลกใบนี้ไปด้วยกัน
เริ่มกรีนกับสปีกเกอร์คนแรก ศศวรรณ จิรายุส จากคนเคยทำงานออแกไนซ์ด้านบันเทิง สู่การทำงานทางธรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ได้เห็นพร็อพจัดงาน อาหารบุฟเฟ่ต์เหลือทิ้งกลายเป็นขยะจำนวนมาก รวมถึงข่าวสัตว์น้อยใหญ่ที่ตายเพราะเศษขยะพลาสติก จึงลุกขึ้นมาปรับวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนตัวเองของเธอตั้งอยู่บนความยืดหยุ่นและความเข้าใจบริบทสังคม ตั้งแต่การผู้บริโภคสาย(พยายาม)กรีนเท่าที่ไหว จะได้กรีนไปนานๆ ไม่ว่าจะเป็นพกกระติกน้ำ หิ้วปิ่นโต สนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่เท่ากับช่วยสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าเกษตรทั้งวงจร ไปจนถึงชวนคนรอบข้างหรือผู้มาสวนโมกข์ มาร่วมลดขยะพลาสติก และเลือกใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ ด้วยความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ได้ในสักวัน
ส่วนคนต้นน้ำอย่าง วานิชย์ วันทวี เกษตรกร ผู้ก่อตั้ง ‘ว.ทวีฟาร์ม’ ฟาร์มปศุสัตว์วิถีไบโอไดนามิกส์ครบวงจร กำลังสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่ไม่ใช่แค่ผลิตอาหาร ขายได้กำไรแล้วจบ แต่คือการผลิตอาหารที่สร้างความยั่งยืนทั้งผืนดินที่ปลูก พื้นที่ที่เราอยู่ อาหารที่เรากิน และสำคัญคือได้สร้างป่า เป็นการช่วยรักษาระบบธรรมชาติต่อไปให้ถึงลูกหลาน
ผู้ผลิตที่ฉายให้เห็นเทรนด์ใหม่ที่เป็นโอกาสของธุรกิจสีเขียว สามารถสร้างอาหารปลอดสารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกคนคือ ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ เกษตรกรและผู้ก่อตั้ง ‘ไร่รื่นรมย์’ ที่ใช้แหล่งพลังงานยั่งยืนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ มาเป็นพลังหมุนเวียนทั้งหมดในไร่ มีทั้งแหล่งเรียนรู้เกษตรเชิงสร้างสรรค์ ที่พัก ร้านอาหารที่ดึงเอาวัตถุดิบธรรมชาติ หนึ่งในความธรรมดาของชีวิต ให้ทุกคนสามารถมากิน มาอยู่ มานอนแบบได้ทะนุถนอมโลกไปด้วย กับความเชื่อว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความร่วมมือ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเมื่อคนกลับคืนดีกับธรรมชาติ ทุกอย่างจะรื่นรมย์
อีกต้นแบบแรงบันดาลใจ สุภิสาข์ มัยขุนทด ผู้สร้างพื้นที่เรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ‘สวนเพชร เกาะอินทรีย์วิถีไทย’ ทั้งที่ไม่มีพื้นความรู้ด้านการเกษตรมาก่อน อาศัยเพียงการเรียนรู้จากและปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญ มาปรับปรุงสวนเกษตรเดิมของพ่อในพื้นที่รีสอร์ตสวนเพชร ผสานกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สุภิสาข์เน้นการผลิตเพื่อบริโภคใช้สอย เหลือแล้วจึงนำออกจำหน่ายเป็นเมนูสุขภาพสร้างรายได้ ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการลดต้นทุน พร้อมกับสร้างสังคมอาหารปลอดภัยของไทยให้เข้มแข็งและเปิดกว้าง ด้วยการเชื่อมโยงคนปลูกและคนกินให้เข้าใจกัน ซึ่งเธอคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากเกินความพยายาม หากทุกคนจะเดินไปด้วยกัน
ชารีย์ บุญญวินิจ Earth Creator และผู้บุกเบิก ‘ฟาร์มลุงรีย์’ ฟาร์มในเมืองที่ยืนระยะมานับ 10 ปี เป็นพื้นที่อัดแน่นด้วยความรู้การเกษตร กับความตั้งใจใหม่ที่อยากออกเดินทางเพื่อเรียนรู้และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นอันมีคุณค่ามาสร้างมูลค่า แต่ยังยืนยันว่าเขายังเป็นลุงรีย์ที่มีลูกบ้าคนเดิม เพิ่มเติมคือมีคนอื่นเข้ามาในหัวใจ ตั้งใจทำงานให้เกิดคุณค่าต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมต่อไป
เช่นเดียวกับ อายุ จือปา ผู้ก่อตั้ง Akha Ama Coffee แบรนด์กาแฟเพื่อสังคมที่เติบโตระดับโลก กับการใช้หลัก ‘ความยั่งยืนอย่างจริงจังและจริงใจ’ บริหารแบรนด์ พร้อมเป้าหมายใหม่ที่ได้บอกไว้บนเวที Greenery Talk ครั้งนี้ว่า จะยังเป็นผู้ผลิตที่ดีต่อทั้งห่วงโซ่ รักษาวงจรการบริโภคยั่งยืนต่อไป เน้นเรื่องพลังงานสะอาดมากขึ้น
และอยากส่งต่อแรงบันดาลใจว่า การที่เรามีอาชีพเป็นอาชีพเกษตรกร อาชีพผู้ประกอบการ อาชีพคนทำกาแฟ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถทำอะไรที่มากกว่าอาชีพหรือรายได้ นั่นคือสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน และยิ่งพวกเราทุกคนทำด้วยกัน ความชำนาญของแต่ละคนจะพาโลกนี้เติบโตอย่างยั่งยืน
แต่คงจะดีไม่น้อย ถ้าทุกคนได้มีสุขภาพดีจากการกินอาหารที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดไม่ได้ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกันทำงาน อย่าง ผศ.ดร. ธัญศิภรณ์ ณ น่าน ผู้ลงลึกทำงานกับเกษตรกรมาร่วม 10 ปี และมองเห็นเสน่ห์ของวิถีเกษตรอินทรีย์ว่าช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง
จังหวัดน่านซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ จึงเป็นต้นแบบนี้ โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน อาทิ เลมอนฟาร์ม สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในทุกด้าน โดยมีระบบ PGS เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ตลาดถึงการผลิตของเกษตรกร จนเห็นการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเธอหวังว่ากลไกนี้จะเกิดขึ้นได้ในอีกหลายพื้นที่ถ้าทุกคนช่วยกัน
นอกจากเรื่องการกิน ยังมีสายอาชีพอื่นๆ ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนเช่นเดียวกัน สรณัญช์ ชูฉัตร ผู้ก่อตั้ง บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) ผู้มีความฝันที่อยากเห็นโลกที่ดีขึ้น สร้างสรรค์นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ที่ไม่สร้างมลพิษทางอากาศและมลพิษเสียง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
หรือฝั่งอาชีพเชฟ วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Samuay&Sons และ Mahnoi Foodlab ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เลือกกลับไปใช้ชีวิตธรรมดาอยู่กับธรรมชาติ เปิดร้านอาหารในบ้านเกิดจังหวัดอุดรธานี ปรุงรสชาติอาหารด้วยรากของความเป็นลูกอีสาน โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นธรรมดาๆ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมมากมายที่ยกระดับอาหารอีสานให้ทัดเทียมสากล เพื่อพัฒนาระบบการทำอาหารและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวอีสานบ้านเกิดของตัวเอง
และสายอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ชณัฐ วุฒิวิกัยการ เจ้าของช่อง ‘KongGreenGreen’ อินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อมใน TikTok ที่เพิ่งได้รับรางวัล The Best Green Change Maker Influencer 2021 คลิปสั้นๆ ที่อัดแน่นด้วยสาระของขยะ มีผู้ติดตามนับแสนราย ใน TikTok มียอดคนดูกว่า 20 ล้านวิว เป็นสัญญาณที่ดีว่า มีคนในสังคมสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
เรื่องราวของ 10 สปีกเกอร์เหล่านี้ ล้วนเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และเป็นสิ่งที่สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้กับผู้คน บนพื้นฐานการใช้ชีวิตประจำวันให้ดีต่อตัวเราและโลก ซึ่งเป็นสิ่งสามัญธรรมดาที่ทุกคนสามารถร่วมทำไปด้วยกันได้