ชวนคุยเรื่อง ‘มะเขือเทศ’ กับเจ้าของวันสบายฟาร์ม ผู้มีความสุขจากการได้ปลูก-ได้กิน-ได้แบ่งปัน
“หวาน หวาน หวานมาก” วันนี้มีแต่คำว่าหวานและฟินสุดๆ สำหรับคนที่ชื่นชอบมะเขือเทศ เพราะเรากำลังอยู่ในโรงเรือนที่ปลูกมะเขือเทศหลากหลายสายพันธุ์มากแห่งหนึ่งในเครือข่ายเกษตรกรกินสบายใจ ที่ จ.อุบลราชธานี
เราเดินตาม ‘เบียร์’ วันวิสา อุปถัมภ์ เจ้าของวันสบายฟาร์มผักอินทรีย์ ที่เดินเล่าเรื่องมะเขือเทศในโรงเรือนให้เราฟัง กับคุณแม่ของเธอที่กำลังช่วยเก็บมะเขือเทศพลางยื่นให้เราหยิบเข้าปาก
เบียร์เล่าด้วยบรรยากาศสบายๆ สมชื่อฟาร์ม ถึงกำเนิดของมะเขือเทศเหล่านี้ว่า “เพราะชอบมะเขือเทศก็เลยปลูก” เธอเคยปลูกมากถึง 12 สายพันธุ์ ตอนนี้เหลือให้เราได้ชิม 6 สายพันธุ์ เพราะขนาดโรงเรือนที่มีจำกัด แต่ก็ยังนับว่าเป็นการชิมและรู้จักมะเขือเทศมากกว่าเดิมที่เคย ซึ่งปกติรู้จักแค่พันธุ์ราชินี กับอื่นๆ เท่าที่เห็นในตลาด
เธอเริ่มเล่าถึงมะเขือเทศแต่ละสายพันธุ์คล้ายกำลังแนะนำลูกๆ ให้เรารู้จัก เริ่มจาก ‘ไจแอนท์เยลโลว์’ เนื้อฉ่ำ เบียร์ใช้ทำซอสพิซซ่าขึ้นร้านพิซซ่าเตาถ่านที่ตั้งอยู่หน้าฟาร์มของเธอ ‘แบล็คเชอร์รี’ ต้องกินสุก มีกลิ่นเฉพาะคล้ายรูตเบียร์ ปลูกในโรงเรือนทำให้สีดำปนม่วง เพราะหลังคาพลาสติกกรองแสงยูวี แต่ถ้าปลูกนอกโรงเรือนจะมีสีดำสนิท ถ้าผลสุกจะมีสีแดงออกส้ม กินกับน้ำสลัด หรือแฮมเบอร์เกอร์อร่อยมาก
‘อะลูลู่’ เป็นสายพันธุ์ที่เกษตรกรไม่นิยมปลูก เพราะเมื่อเจอความร้อนจะทำให้ดอกร่วง ไม่ค่อยได้ผลผลิต มักมีเปลือกหนา แต่ปลูกที่นี่แล้วเปลือกไม่หนาเหมือนที่อื่น อาจเป็นเพราะสารอาหารที่ได้รับ และเป็นเมล็ดที่ถูกพัฒนาโดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วน ‘อุบลสวีต’ เป็นพันธุ์ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พัฒนาให้เป็นสายพันธุ์ประจำจังหวัด ปลูกได้ทั้งปี ลูกดก ผลใหญ่ เนื้อแน่น กรอบ โรคน้อย ทนต่อสภาพอากาศภาคอีสาน
ผลที่ดูคล้ายลูกท้อนั่น คือ ‘โชโรกี’ มีเนื้อฉ่ำ เมื่อสุกแล้วออกสีม่วงเลือดหมู ในต่างประเทศนิยมปลูกตามบ้าน อีกสายพันธุ์คือ ‘สวีตบอย’ มีสีเหลือง กลิ่นเหมือนผลไม้ หอมโดดเด่นกว่าพันธุ์อื่น อากาศร้อนทำให้ใบและดอกร่วง ดูแลยาก ผลผลิตต่ำจึงไม่นิยมปลูก แต่วันสบายปลูกเพราะลูกค้าชอบ
“มะเขือไม่ชอบน้ำ ดูแลน้ำไม่ให้ดินเปียก ยิ่งแห้งมะเขือเทศก็ยิ่งหวาน แต่ต้องดูระดับแห้งที่ไม่ให้มะเขือเทศตาย อะไรที่เราปลูกด้วยอินทรีย์ มีธรรมชาติเป็นผู้ดูแล ผักจะอร่อยด้วยตัวเองโดยที่เราไม่ต้องไปเร่งอะไร” เบียร์เล่าวิธีการดูแลมะเขือเทศอินทรีย์
ย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน เบียร์ปลูกมะเขือเทศแบบลองผิดลองถูก เริ่มจากพันธุ์ราชินี เชอร์รีกลมที่นิยมปลูกทั่วไป “ปลูกมะเขือเทศแบบลงดิน อยู่ดีๆ ต้นก็เหี่ยว เข้าใจว่าพรวนดินแล้วโดนรากขาด หรือเป็นเพราะฝนตกหนักทำให้รากเน่า ศึกษาไปก็อ๋อ เพราะพื้นที่ที่ปลูกเป็นดินปนทราย เราก็ปลูกลงถุง ทำให้พ่อเชื่อว่าปลูกลงดินมันไม่รอด”
เบียร์ได้คำแนะนำจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ปลูกแบบลงถุง เพราะควบคุมดินง่ายกว่า เมื่อรากไม่ลงดินต้นก็ไม่ติดเชื้อ ใช้ปุ๋ยหมักและขี้ลีบ (แกลบลีบ) ผสมให้ดินมีความโปร่ง เพาะเมล็ดช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน อายุต้นจะราว 8 เดือน รวมระยะเวลาตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงเก็บผลคือ 1 ปี
ก่อนที่จะมาปลูกมะเขือเทศ เบียร์เริ่มปลูกผักสวนครัวในชีวิตประจำวันเพื่อกินเอง ผักบุ้ง สลัด คะน้า และท้าทายตัวเองด้วยการปลูกผักที่ปลูกยากขึ้น หาผักสายพันธุ์ต่างประเทศมาปลูก แม้กระทั่งผักที่ปลูกยากๆ อย่างอาร์ติโชคก็ปลูกมาแล้ว หัวไชเท้าญี่ปุ่น และเป้าหมายต่อไปของเธอคือองุ่น
“อยู่กรุงเทพฯ เจอผักไฮโดรโปนิกส์ เราก็ไม่รู้ว่ากำลังกินสารเคมีเข้าไปหรือเปล่า ไม่กล้ากินผักตลาดเพราะสารตกค้างเยอะ มาอยู่อุบลฯ เลยปลูกกินเอง ตอนแรกก็ทำไม่สนใจใคร ได้ออกร้านที่ห้างสุนีย์ในงานสัปดาห์หนังสือ และได้รู้จักกับกินสบายใจ สัมผัสได้ว่าเขาให้ค่ากับการทำเกษตร เลยได้เป็นเครือข่ายกัน”
จากการพูดคุยทำให้เราสัมผัสได้ว่าเบียร์ไม่ใช่สาวอุบลฯ เราจึงถามเธอว่าเป็นคนที่ไหน และพบกับความน่าทึ่งในตัวผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ เพราะเธอเป็นสาวจากสมุทรปราการ เรียนจบวิศวะฯ แต่หันหลังให้กับเมืองและงานในระบบ จับมือพ่อแม่มาสร้างครอบครัวในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์อย่างจังหวัดอุบลฯ และหวังแบ่งปันพื้นที่ให้คนภายนอกได้แวะเวียนเข้ามา
“เรามีความสุขจากตรงนี้เข้าปีที่ 10 แล้ว อยากให้คนอื่นมาสัมผัสบรรยากาศแบบเราบ้าง เพื่อลดความเครียดที่วันสบายฟาร์ม” เบียร์กล่าวด้วยใบหน้าซ้อนยิ้ม แก้มแดงระเรื่อ คงเป็นเพราะได้กินมะเขือเทศที่ตัวเองปลูกอย่างสบายใจ