เปิดนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีภายในปี 2568

เปิดนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีภายในปี 2568

‘ประชาชนมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง’ คือเป้าหมายปลายทางที่กรมควบคุมโรค มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และ สสส.ตั้งความมุ่งหวังเอาไว้ ผ่านแผนนโยบายยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ซึ่งตั้งเป้าให้ประชาชนร่วมกันลดโซเดียมในการปรุงอาหารลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568

ในงานแถลงข่าวผนึกกำลังความร่วมมือตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559-2568 ซึ่งจัดขึ้นที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประธานการประชุม ได้กล่าวถึงที่มาของการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมว่า

“กลุ่มโรค NCDs ที่ประกอบด้วยหลายโรคหลัก เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคไตเรื้อรัง และในเวลานี้ประชาชนไทยมีการบริโภคโซเดียมสูงเป็น 1.8 เท่าของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเป็นปริมาณเกลือไม่ควรเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

“การได้รับโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีคนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมสูงถึง 22.05 ล้านคน โดยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 0.75 ล้านคน และโรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน”

ซึ่งที่ผ่านมานั้น ผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ประกอบด้วย การปรับสูตรอาหารลดปริมาณเกลือและโซเดียม โดยอุตสาหกรรมอาหารแบบสมัครใจ, การปรับสูตรอาหารลดเค็ม ที่ร้านจำหน่ายริมทาง หรือ Street food แบบสมัครใจ

การสื่อสารสาธารณะ ให้ความรู้และความตระหนักแก่ประชาชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค การแสดงฉลากโภชนาการหน้าบรรจุภัณฑ์แบบ GDA การแสดงฉลากอย่างง่าย เช่น ฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพ Healthier Logo, และการดำเนินกิจกรรมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้บริโภคอาหารลดเกลือและโซเดียมในองค์กรต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย 3 ดี สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ รวมถึงชุมชนลดเค็ม

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ยังคงต้องดำเนินต่อเนื่อง ซึ่งกรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้กองโรคไม่ติดต่อ ดำเนินการขับเคลื่อนการลดบริโภคโซเดียมระดับจังหวัด ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนลดการบริโภคโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 โดยได้จัดทำ ‘แนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด’ เพื่อให้เป็นเครื่องมือการดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ซึ่งมาตรการสำคัญประกอบด้วย

การจัดทำข้อมูลเฝ้าระวังเพื่อสะท้อนสถานการณ์การบริโภคอาหารและแหล่งอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง โดยการสำรวจปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารด้วยเครื่อง Salt Meter, จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ, การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ และชุมชน

การปรับลดปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารท้องถิ่น และอาหารปรุงสุกที่จำหน่าย, การให้ความรู้สร้างความตระหนักต่อผลกระทบจากการบริโภคเกลือและโซเดียม และการสำรวจการประเมินความตระหนักรู้ความเสี่ยงการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด รวมถึงการขยายพื้นที่ชุมชนลดเค็ม หรือการป้องกันควบคุมโรคไตในชุมชน ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เล่าถึงการดำเนินการครั้งนี้ว่า “ปี 2566 นี้ กรมควบคุมโรคมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด โดยร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในปี พ.ศ.2563-2566 รวม 36 จังหวัด และมีแผนขยายผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ภายในปี 2568”

ทั้งยังได้ยกตัวอย่างถึงการดำเนินงานชุมชนลดเค็ม เขตภาคเหนือ โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1, 2 ,3 จำนวน 50 ชุมชน ผ่านการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีปัญหาผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง และมีความพร้อมในการจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ชุมชนที่ได้รับคัดเลือก จะมีการสำรวจข้อมูลการประเมินสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรัง มีการคืนข้อมูลเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาตามบริบทของพื้นที่ และมีการดำเนินงานชุมชนลดเค็มตามแนวทางการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน: ชุมชนวิถีใหม่ ห่างไกล NCDs จำนวน 48 ชุมชน

นอกจากนโยบายดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เกิดมหาวิทยาลัยต้นแบบลดการบริโภคเกลือโซเดียม, การปรับขยายมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดโซเดียมคลอไรด์ในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชน ของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม, การขับเคลื่อนผ่านแคมเปญลดซด ลดปรุงลดโรค ของ สสส. และโครงการ ‘ลดเค็มเลือกได้’ ซึ่งเป็นการอบรบเพื่อพัฒนาเมนูอาหารลดโซเดียมแก่ผู้ประกอบการ โดย อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์

ทั้งนี้ มาตรการภาษีโซเดียม ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะนำมาใช้ ซึ่งสสส. และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนอีกด้วย

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.