“ตลาดเขียว” เพื่ออาหารที่มั่นคง เพื่อสังคมสุขภาวะ
เรื่องความมั่นคงทางอาหารไม่ได้หมายถึงการมีอาหารให้กินอย่างเพียงพอเท่านั้น แต่มันยังหมายความรวมถึงความปลอดภัยของอาหาร และคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเพียงพอและเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยด้วย นอกจากนี้ แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการผลิตที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หากมองถึงประเด็นที่ว่ามาดังกล่าว คงต้องยอมรับว่า แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ก็ยังเดินอยู่บนเส้นทางไม่มีความมั่นคงทางอาหาร และะยากที่จะทำให้ผู้คนมีสุขภาวะที่ดีได้อยู่ ด้วยเหตุนี้เอง แผนอาหารเพื่อสุขภาวะจึงมีความพยายามผลักดันให้เกิดเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสังคมอาหารเพื่อสุขภาวะให้เกิดขึ้น ด้วยการขับเคลื่อนระบบอาหาร และมีตลาดเขียว
ลักษณะสำคัญของ ตลาดเขียวที่ดี
บุคลิกสำคัญของตลาดเขียว คือ การที่เกษตรกรผู้ปลูก ผู้แปรรูป ผู้ปรุง เป็นผู้ขายเอง ตลาดเขียวจึงต้องให้ความรู้กับผู้ขาย และผู้ขายต้องบอกสรรพคุณสินค้าหรือเรื่องราวของสินค้ากับคนซื้อได้
อย่างไรก็ตาม การทำตลาดเขียวต้องมีหลักเกณฑ์ คือ มีเจ้าของพื้นที่ในการดูแลภาพรวม มีคณะกรรมการตลาดเข้ามาร่วมบริหารและดูแล รวมถึงสร้างกติการ่วมกัน เพื่อให้เกิดระเบียบและข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ ไม่เพียงเท่านั้น ควรต้องมีการสื่อสารรายละเอียดการผลิตผ่านป้ายแสดง มีกิจกรรมให้ความรู้ผู้บริโภค ดูแลสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ร่วมพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น
ส่วนหลักการคุณภาพนั้น จะตั้งอยู่บน 4 ฐานคิด คือ
1) การเอาใจใส่ต่อผู้บริโภค
2) เป็นอาหารที่ดีสุขภาพ
3) มีกระบวนการการผลิตที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และ
4) มีราคาที่เป็นธรรมทั้งกับผู้ผลิตและผู้ซื้อ
ตลาดเขียวในอนาคต และระบบเศรษฐกิจอาหารที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบันตลาดเขียวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งตลาดเขียวในแผนงานของ สสส. เอง รวมถึงตลาดเขียวจากการสนับสนุนของกระทรวงต่างๆ ด้วยถึงแต่ถึงอย่างนั้น แผนอาหารเพื่อสุขภาวะยังคงมุ่งเดินหน้าพัฒนาตลาดเขียวอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ตลาดเขียวชุมชุน, ตลาดเขียวในองค์กร, โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น
ทั้งนี้ การมีตลาดเขียวจะทำให้เกิดการเรียนรู้และทำให้คนรุ่นใหม่ต่อยอดไปเป็นวิสาหกิจชุมชน เกิดเป็น Food Economy หรือเศรษฐกิจอาหารขึ้น ซึ่งจะคอยเกื้อหนุนระบบอาหารชุมชน ทำให้ประชาชนได้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะภายใต้ระบบอาหารที่ยังยืน เกิดสุขภาวะทางอาหาร และลดความเจ็บป่วยจากโรค NCDs ได้