4 เทคนิคสำคัญทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผล องค์ความรู้แบบรูปธรรมจาก 4 เกษตรกรอินทรีย์แปลงใหญ่ทั่วไทย
เมื่อการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมไม่ใช่ทางออก ซ้ำยังเป็นทางเดินสู่ปัญหาสุขภาพและหนี้สินของเกษตรกรไทย รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค แล้วทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดอยู่ตรงไหน? จะใช้วิธีใดในการจัดการแปลงเกษตรขนาดใหญ่? การทำเกษตรอินทรีย์คือทางรอดจริงหรือไม่?
เรามีคำตอบจาก 4 เกษตรกรอินทรีย์แปลงใหญ่ทั่วไทย กับ 4 เทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผล บทสรุปที่น่าสนใจจาก เวทีสาธารณะ องค์ความรู้ในการจัดการศัตรูพืชโดยไม่พึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 เพื่อสร้างการตระหนักรู้และทำให้เห็นถึงความสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับเราและโลกใบนี้ได้
ด้วยการเริ่มต้นด้วย ‘การเปลี่ยนแปลง’ จากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ให้ได้มากที่สุด
การใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในแปลงทุเรียน
โดย ภคิน ทองเพชรบูรพา เจ้าของสวนทุเรียนและผลไม้อื่นๆ บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ และอีก 20 ไร่เป็นแปลงขนาดเล็ก อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง หนึ่งในเกษตรกรอินทรีย์ ผู้ปลูกทุเรียน ลองกอง มังคุด เงาะ และพืชสมุนไพร ด้วยระบบอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2548 เพราะเห็นว่าราคาปุ๋ยเคมีค่อนข้างแพง และเห็นผลเสียที่ตามมาอีกนานาประการ
“การปลูกทุเรียนอินทรีย์ส่วนใหญ่มักจะเจอปัญหาเรื่องความชื้น ส่งผลให้เกิดเชื้อราและโรคพืชมากมาย ไหนจะแมลงศัตรูพืชอีก แต่ทุกอย่างแก้ไขและป้องกันได้ด้วยการใช้สมุนไพรหมัก อาทิ ‘ใบน้อยหน่าหมัก’ ป้องกันแมลง 6 ขา เพลี้ยอ่อน ตั๊กแตน ด้วงปีกแข็งและหนอนใยผัก ‘ใบชะพลู’ ‘บอระเพ็ด’ ป้องกันไวรัสในพืช
“ส่วนการป้องกันเชื้อรา จะใช้ ‘ใบหมากหมัก’ ใช้ ‘สาบเสือ’ จัดการหนอน เพลี้ยกระโดด หนอนเจาะต้น ‘กะทกรกป่า’ ช่วยจัดการเพลี้ยไฟไรแดงได้ดี ‘ตำลึงหมัก’ ใช้ปรับสมดุลให้กับพืช ‘ข่า’ ช่วยเสริมแคลเซียมและโบรอน ทั้งยังช่วยป้องกันแมลงวันทอง ด้วงเต่าทอง เพลี้ยแป้ง
“และที่ขาดไม่ได้คือ ‘ตะไคร้หอม’ ใช้ป้องกันเพลี้ยอ่อน อีกหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘ฝักคูน’ ตัวช่วยจัดการกับพวกตระกูลหอยที่อยู่ในดิน หลักการฉีดน้ำหมักก็คือ ทุก 3 วัน 5 วัน และ 7 วัน ตามแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต”
ในขณะที่การดูแลแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ บำรุงต้น บำรุงดอกเร่งตาดอก บำรุงผลเร่งลูก ด้วยการใช้น้ำหมักเพื่อเติมสารอาหาร อาทิ น้ำปลาหมักและเนื้อมะพร้าวหั่นเป็นชิ้นหมักจะได้ไนโตรเจน น้ำหน่อกล้วยจะได้ฟอสเฟต น้ำนมหมักจะได้ฟอสฟอรัส และน้ำกล้วยสุกหมักจะได้โปแตสเซียม ซึ่งจะใช้ความเข้มข้นต่างกันในแต่ละช่วง
ท้ายสุดก็จะได้ผลผลิตที่ดี แม้จะมีจำนวนน้อยกว่าเคมี แต่สามารถขายได้ในราคาที่ดี ตกกิโลกรัมละ 300 บาท ได้ทั้งความปลอดภัยต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศได้
การเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นผู้ช่วยดูแลสวนปาล์ม
โดย อภิเชษฐ์ หนูแบน แห่งสวนปาล์มอินทรีย์ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ที่สานต่องานสวนปาล์มและยางพาราจากรุ่นพ่อ ซึ่งเดิมเคยใช้ปุ๋ยเคมีในการดูแลสวนขนาดใหญ่ แต่เมื่อประสบกับราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น บวกกับความผันผวนของราคาขาย ทางออกเดียวก็คือการทำอินทรีย์ ที่มีสัตว์เลี้ยงอย่าง ไก่ เป็ด หมู วัว เป็นผู้ช่วย
“แม้ว่าสมัยก่อนสวนปาล์มของเราจะใช้ปุ๋ยเคมี แต่ก็ไม่เคยใช้ยาฆ่าหญ้า เพราะสารเคมีนี้ไปทำลายรากพืช สร้างความเสียหายมากกว่าผลดี เราจึงใช้รถตัดหญ้ามาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ ต่อมาเราเจอเรื่องต้นทุนปุ๋ยราคาสูง ทำแล้วได้กำไรน้อย เราจึงลองใช้วิธีเลี้ยงสัตว์ อย่างไก่ไข่ เป็ดไข่ หมู วัว เพื่อนำมูลมาทำเป็นปุ๋ยหมัก กำจัดวัชพืชด้วยการปล่อยให้ไก่ และหมูเล็มหญ้าที่ได้ล้อมรั้วไว้ ทั้งยังเพิ่มรายได้ด้วยการจำหน่ายเนื้อสัตว์และไข่เป็ด ไข่ไก่ ทำปุ๋ยอินทรีย์จากทะลายปาล์มเก่า”
หรือหากเจอศัตรูพืชอย่างด้วง ผีเสื้อกลางคืน หนอนหน้าวัวกินใบ อภิเชษฐ์จะใช้น้ำส้มควันไม้ น้ำหมักยาเส้นมาฉีดไล่ และใช้น้ำหมักอื่นๆ มาบำรุงผลอย่างสม่ำเสมอ แม้ผลผลิตที่ได้จะน้อยลง แต่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกๆ 15 วันตลอดทั้งปี เมื่อเทียบกับสวนเคมี 100% ในเชิงปริมาณอาจสู้ไม่ได้ แต่หากมองในแง่ต้นทุน สวนอินทรีย์ใช้ต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งจุดนี้อาจทำให้ชาวสวนปาล์มเคมีเริ่มหันมาให้ความสนใจสวนแบบอินทรีย์มากขึ้น
การปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสานในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเชิงพานิชย์
โดย สมัย แก้วภูศรี เกษตรกรสวนมะม่วงอินทรีย์ อำเภอลี้ จังหวัดลําพูน เกษตรกรสูงวัยผู้มีหัวใจอินทรีย์ เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยทำเกษตรเคมีมาตั้งแต่ปี 2528 ก่อนจะหันมาทำอินทรีย์ในปี 2547 ปัจจุบันสวนมะม่วงแห่งนี้ได้รับมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ และมาตรฐานออร์แกนิกยุโรป
“หัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์มีอยู่สองเรื่องคือ หนึ่ง การให้ความสำคัญต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เน้นเรื่องการดูแลดิน น้ำ ป่า เพื่อสร้างความอุดสมบูรณ์ในพื้นที่ และทำให้เกิดความหลากหลายของระบบนิเวศ
“สองคือการปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำแนวรั้วต้นไม้ เพื่อเพิ่มปริมาณและความหลากหลายของแมลงที่ดี ซึ่งจะช่วยลดชนิดของแมลงศัตรูพืชได้ จัดการต้นหญ้าและวัชพืชด้วยการตัด ทับ และรดด้วยจุลินทรีย์เร่งการย่อยสลาย เพื่อให้ดินสมบูรณ์มากขึ้น ส่งผลให้เกิดความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่มีมากขึ้น และวนกลับมาส่งเสริมให้ระบบนิเวศดีขึ้น การทำเกษตรอินทรีย์ก็สามารถจัดการได้อย่างราบรื่นมากขึ้นตามลำดับ
“ส่วนในเชิงพานิชย์ ผลผลิตอินทรีย์ก็ต้องขายได้ สามารถสร้างอาชีพที่ยั่งยืนได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องได้รับมาตรฐานออร์แกนิก กำหนดเป้าหมายหลัก รู้ว่าจะขายให้ใคร หรือมองหาช่องทางตลาดหลัก และต้องขายผลผลิตได้แม้ในท้องถิ่นของตัวเอง”
เกษตรอินทรีย์เริ่มต้นได้ด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีมาตรฐาน
ไปพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจ ทดลอง และสังเกตเพื่อให้เหมาะสมกับสวนของตัวเอง โดย พศิน อุดมพันธุ์ เจ้าของสวนส้มอินทรีย์อุดมพันธุ์ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่เคยทำสวนส้มเคมีกว่า 120 ไร่ เวลาผ่านไปยิ่งทำยิ่งต้นทุนสูง ราคาส้มตกต่ำ โรคส้มรุมเร้า และส่งผลต่อสุขภาพ
ท้ายสุด การหักดิบ ทิ้งเคมี และพึ่งพาอินทรีย์ คือทางเลือกและทางรอดเดียวของเจ้าของสวนส้มขนาดใหญ่
“ในช่วงแรกๆ อาจจะยังทำปุ๋ยหรือน้ำหมักเองไม่เข้าที่ ก็มีทางเลือกที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ที่ดี ราคาย่อมเยา และได้มาตรฐานรับรอง เช่น จากของโครงการหลวง รวมไปถึงน้ำหมักหรือตัวทดแทนอื่นๆ ที่มีให้เลือกซื้อและใช้ค่อนข้างมาก หาซื้อได้จากกรมวิชาการเกษตรต่างๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนพร้อมที่จะให้ความรู้และคำแนะนำที่ดี
“หลังจากนั้นก็ต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และพืชพันธุ์ของตัวเอง ก่อนจะทดลองผสมปุ๋ยและน้ำหมักเพื่อให้เป็นสูตรเฉพาะที่สามารถใช้ในสวนของตัวเองต่อไป นอกจากนี้ การทำเกษตรอินทรีย์สไตล์สวนส้มคือ เน้นการป้องกันเป็นหลัก ไม่เน้นการทำลาย เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี มีความหลากหลายของแมลงและสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น นกนานาชนิด มดแดง มดส้ม แมงมุม ตัวห้ำ แมลงดีๆ ที่ช่วยลดศัตรูพืชได้
“ทั้งยังป้องกันต้นหญ้าด้วยการเลี้ยงวัวให้เล็มหญ้า พร้อมๆ กับการเติมจุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายทั้งมูลวัวและตอหญ้า เลี้ยงไส้เดือนเพื่อพรวนดินในสวน จนท้ายที่สุดก็ไม่ต้องเลี้ยง เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ไส้เดือนกลับคืนสู่ดินในสวนส้มอินทรีย์ที่ปราศจากเคมี พร้อมทำหน้าที่พรวนดินและเติมปุ๋ยธรรมชาติในทุกๆ วัน”
รศ.ดร.อัญชลี สงวนพงษ์ เครือข่ายนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า กุญแจแห่งความสำเร็จของการทำเกษตรอินทรีย์คือมายด์เซ็ตที่ดี กล้าที่จะเปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ ทั้งยังเคารพต่อธรรมชาติ คำนึงถึงการรักษาระบบนิเวศที่เป็นหัวใจหลักของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความหลากหลายและคงอยู่ของสิ่งมีชีวิต รวมทั้งพืชพรรณนานาชนิด
และกุญแจอีกดอกที่สำคัญ คือการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานมากมาย ทั้ง สสส. เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และองค์กรที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ที่ส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดเกษตรกรอินทรีย์ และการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนต่อไป