เปิดม่านวิถีชาวนา ปฐมบท ‘ข้าว’ อาหารหลักของคนไทย

เปิดม่านวิถีชาวนา ปฐมบท ‘ข้าว’ อาหารหลักของคนไทย

‘เปิดม่าน’ คำที่มีความหมายถึงการเริ่มต้นก่อนทำการแสดง

นี่คือปฐมบทของเรื่องราวชีวิตชาวนา ในปาฐกถา ‘เปิดม่านวิถีชาวนา คุณค่า และความท้าทายร่วมของคนปลูก-คนกิน’ โดย อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ในเทศกาลข้าวใหม่ 2566 ซึ่งจัดขึ้นที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ตำบลไทรม้า อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

องก์แรกของละคร เปิดฉากบรรยายให้เห็นภาพฤดูกาล อากาศที่เย็นสบายในฤดูหนาวทำให้ธรรมชาติสดชื่นและงดงาม โดยเฉพาะข้าว อาหารหลักของคนไทยจะมีความหอมเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่ข้าวทุกชนิดที่หอม เพราะความหอมขึ้นอยู่กับพันธุกรรมหรือยีน และยีนความหอมของข้าวสัมพันธ์กับดิน ฟ้า อากาศในพื้นที่ที่ปลูก

“ผมเป็นลาว เห็นป้ายข้าวเหนียวเขาวงที่กระสอบข้าวในร้านขายข้าว ตอนนั้นก็สงสัยว่าทำไมต้องติดป้ายข้าวเหนียวเขาวง จนโตมาถึงได้รู้ว่า ข้าวที่ได้มาจากบริเวณอำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ เป็นนาตีนเขาใกล้กับเทือกเขาภูพาน ดินปนลูกรัง มีซิลิกาสูง เวลาปลูกข้าวก็จะได้เมล็ดข้าวที่แกร่งใสหอมนุ่ม

“ข้าวเหนียวเขาวง เป็นคุณสมบัติที่รู้กันในกลุ่มผู้ค้าข้าวว่า ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดเลย จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นพื้นที่ที่ปลูกได้ข้าวเหนียวคุณภาพดี จนได้รับการการันตีให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกระทรวงพาณิชย์”

IMG 0793 edited Gindee Club กินดี คลับ

หลังม่านคือชีวิตจริง ไม่ใช่ฉากในละคร

เรื่องเล่าตำนานเทพแห่งข้าวตามตำนานในหลายประเทศ มักเป็นผู้หญิงใจดี มีพลังหล่อเลี้ยงผู้คน ล้วนเป็นตำนานที่ตั้งใจหล่อหลอมให้ผู้คนมีความคารวะต่อข้าว ปฏิบัติต่อข้าวด้วยความนอบน้อม แล้วชีวิตจริงของคนปลูกข้าวนั้นเป็นเช่นไร?

ประเทศไทยมีประชากรชาวนา 7 ล้านกว่าครัวเรือน ซึ่งชาวนาหนึ่งคนทำนาประมาณ 20 ไร่ และ 40 เปอร์เซ็นต์เช่าที่ดินในการทำนา ชาวนากลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสียงขนาดใหญ่พอที่จะทำให้นักการเมืองสร้างนโยบายต่างๆ เพื่อเข้ามาแทรกแซงหาผลประโยชน์ ซึ่งนโยบายต่างๆ นั้นส่งผลทำให้ชาวนาอ่อนแอลงเรื่อยๆ 3 ปีที่ผ่านมามีการอุดหนุนภาคการเกษตร 170,000 ล้านบาทต่อปี ในรูปแบบเงินกู้

“ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทำให้คนมีทัศนคติต่อชาวนาว่า เป็นภาระสังคม แต่จริงๆ แล้วชาวนาคือ เพื่อนร่วมโลก ร่วมสังคม ที่พยายามจะดิ้นรนให้ตัวเองมีชีวิตอยู่รอด จนมาถึงวันนี้ ชาวนาจำเป็นต้องมีการปรับตัวและเท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง จากชาวนายุคเก่า เป็นชาวนายุคใหม่ มีการปรับแนวคิด เพิ่มองค์ความรู้ด้านการเกษตร และการปลูกพืชที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว

“ปัจจุบันสังคมเราเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น เมื่อสังคมเป็นอุตสาหกรรม ระบบสังคมจะย้ายคนส่วนใหญ่ไปอยู่ในภาคบริการ และเกิดระบบแรงงาน ที่เป็นแรงงานนอกระบบมากกว่าแรงงานในระบบ ซึ่งคนที่อยู่ในภาคบริการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ห้าง ร้านค้าต่างๆ พวกเขาก็คือ ‘ลูกหลานชาวนา’ นั่นแหละ”

หลังโควิด-19 คำว่า product for family farm หมายถึง อาหารที่มาจากครอบครัว มีความสำคัญกับผู้คนในเมือง รวมถึงลูกหลานชาวนาซึ่งหาทางกลับไปอยู่กับครอบครัวหลังโควิด-19 และการอุดหนุนด้วยการซื้อของผู้บริโภค ช่วยให้คนเหล่านั้นได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง เป็นการสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนบนพื้นฐานของการคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้แรงงานอย่างยุติธรรม

People โอเล่ 21 edited Gindee Club กินดี คลับ

รวงข้าวร้อยเชื่อมโยงชีวิตชาวนา คนกิน ธรรมชาติ

คนกรุงเทพฯ ถือเป็นผู้บริโภคที่ไม่ได้ผลิตอาหารเอง ใช้กำลังซื้อด้วยเงิน ซึ่งความท้าทายคือ การเชื่อมผู้บริโภคทั่วไปกับภาคการเกษตร และธรรมชาติ ให้รับรู้ว่า สิ่งที่บริโภคมีอิทธิพลเกื้อหนุนกันและกัน ไม่สามารถแยกทางออกจากระบบนิเวศได้

“สุขภาพ อาหาร ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ถ้าอยากมีสุขภาพที่ดี ก็ต้องกินอาหารที่ดี ปลอดภัย หากระบบนิเวศเสียสมดุล จะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของสภาพดินและโรคอย่างรุนแรง ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมตามมา

ทว่าระบบอาหารที่สัมพันธ์กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นระบบที่อยุติธรรม ความสัมพันธ์ในการผลิตระหว่างเกษตรผู้เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลากระชัง ป้อนเข้าสู่ตลาด เป็นความสัมพันธ์กับบริษัทใหญ่ที่สุดจะอยุติธรรม เพราะบริษัทใหญ่กำหนดความรู้ กำหนดปัจจัยการผลิตต่างๆ เป็นคนกำหนดราคา และขายผลผลิต

“เกษตรกรจึงเปรียบเสมือนทาสที่มีหนี้สินเป็นโซ่พันธนาการ” อุบลเปรียบเปรยชีวิตของผู้ผลิตที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์นี้

กลุ่มชาวนาค้าขายด้วยระบบ Fair Trade กันมานานกว่า 20 ปี เป็นระบบการค้าที่สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้บริโภค รวมทั้งแรงงานที่อยู่ในระบบ เพื่อยืนยันต่อผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์ของ Fair Trade ได้ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายอย่างเป็นธรรมในทุกขั้นตอน

ซึ่ง ‘ตลาดเขียว’ ก็จัดอยู่ในกลุ่ม Fair Trade เป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตมาเจอกัน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในตลาด ที่เชื่อมโยงด้วยข้าวจากผืนนา จึงเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ ที่จะนำไปสู่สังคมในอุดมคติที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.