ผลลัพธ์โมเดลระบบอาหาร ขยายผลนโยบายขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ

ผลลัพธ์โมเดลระบบอาหารจังหวัดสงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายผลเชิงนโยบายขับเคลื่อนภูเก็ตเมืองสุขภาวะ

“การขยายผลให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง จะเร็วขึ้นหากมีการขยายผลในเชิงนโยบาย” ดร.เพ็ญ สุขมาก หัวหน้าโครงการขยายผลและขับเคลื่อนรูปแบบการดำเนินงานระบบอาหารเพื่อสุขภาวะยั่งยืน ในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อธิบายถึงการเชื่อมกลไกต่างๆ ที่นำผลลัพธ์จากโครงการฯ ไปขยายผลในเชิงนโยบาย ผ่านงานบูรณาการกลไกเพื่อสุขภาวะระดับจังหวัด

หนึ่งในนั้นคือโครงการ ‘Phuket: Health for Future of Life’ ที่ตั้งต้นให้ภูเก็ตเป็นเมืองสุขภาวะเพื่อชีวิตและอนาคต ของทั้งชาวภูเก็ตเองและนักท่องเที่ยว

จุดเริ่มต้นของการดำเนินงานบูรณาการกลไกเพื่อสุขภาวะระดับจังหวัด มาจากข้อเสนอจากงานสร้างสุขภาคใต้ครั้งที่ 13 ของภาคีเครือข่ายภาคใต้ ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ประชาชน วิชาการ สื่อและภาคเอกชน ที่ให้มีคณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและกองทุนสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด

โดยจุดเน้นของการดำเนินงานของกลไกบูรณาการระดับจังหวัด ประกอบด้วย ประเด็นอาหาร กิจกรรมทางกาย ปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ภัยพิบัติ อนามัยสิ่งแวดล้อม และโรคอุบัติใหม่ ซึ่งประเด็นระบบอาหาร เป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินงาน เป้าหมายการดำเนินงาน 2 จังหวัด คือภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี

ภูเก็ตเองเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีตัวเลขความป่วยไข้จาก NCDs มาเป็นอันดับหนึ่ง และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับต้นๆ การขับเคลื่อนเรื่องอาหารและกิจกรรมทางกายจึงเป็นประเด็นหลักเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และนอกจากเรื่องอุบัติเหตุซึ่งเป็นปัญหารองลงมา ชาวภูเก็ตยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในอาหาร โดยการขับเคลื่อนนี้จะครอบคลุมทั้งกลุ่มคนเมือง ชาติพันธุ์ชาวเล และกลุ่มคนด้อยโอกาสด้วย

ประกอบกับช่วงเวลานี้ ภูเก็ตได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialized Expo 2028 (ซึ่งจะประกาศผลในเดือนมิถุนายน 2566) การเตรียมภูเก็ตให้พร้อมเพื่อรองรับการจัดงาน จึงสอดรับพอดีกับกลไกบูรณาการจังหวัด โดยมีประเด็นอาหารเป็นหนึ่งประเด็นหลักในการขับเคลื่อน ทั้งโครงการนี้ยังเป็นการทำงานที่เกี่ยวร้อยภาคีทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างเสริมสุขภาพระดับจังหวัด

“เราใช้ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานของโครงการฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา ทั้งโมเดลต้นแบบการทำเกษตรกรรมในสวนยาง เรื่องอาหารปลอดภัยในปัตตานี เรื่องบูรณาการโควิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโมเดลระบบตลาดสีเขียว อาหารปลอดภัยและกลไกสหกรณ์ในจังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับผลสำเร็จมาแล้ว นำมาขับเคลื่อนในโครงการเมืองสุขภาวะของภูเก็ต

“โดยใช้กลไก Policy Maker ทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัด นั่นคือชุดความรู้จากโครงการอาหารที่เราได้พื้นที่ต้นแบบและได้โมเดลในแต่ละเรื่อง ถูกนำมาขยายผลเชิงนโยบายสาธารณะผ่านการดำเนินการของสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับภาคีที่สำคัญของทั้ง 2 จังหวัดคือองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และองค์กรบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี”

ซึ่งทั้งสองจังหวัดนี้ มีความพร้อมในการเป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการขับเคลื่อนโครงการนี้ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“เบื้องต้นเราวางแผนงานไว้หนึ่งปี คือเริ่มปลายปี 2565 และสิ้นสุดปี 2566 เพื่อวางรากฐานและถอดบทเรียนของการบูรณาการ ถ้าเป็นไปในแนวทางที่ดี เราอาจจะได้เห็นภาคีอื่นๆ เข้าร่วมมากขึ้น และวางการยกระดับไว้ในระยะยาว เช่น กลไกจังหวัดจัดการตนเอง

“เราปรับรูปแบบการทำงานไม่ให้เป็นเรื่องกองทุน เพราะหากทำแบบนั้น มีคนเข้ามาเสนอโครงการ รับทุนไปทำแล้วก็เสร็จ ปีหน้าลงขันกันใหม่ แบบนั้นจะไม่เห็นความยั่งยืน แต่เราบูรณาการให้เกิดกลไกความร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐ เกิดการบูรณาแผน โดยมีทีมวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เข้ามาช่วยในเชิงวิชาการ

“ซึ่งการขับเคลื่อนของภาคีต่างๆ ในภาคใต้ จะขับเคลื่อนสี่ประเด็นสำคัญ คือความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางมนุษย์ และความมั่นคงทางฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร เราทำเรื่องเกษตรผสมผสานในสวนยาง อาหารปลอดภัย โภชนาการสมวัย และปีนี้มีเรื่องชุมชนสีเขียวในการทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบผลิตอาหาร ทั้งเกษตร ปศุสัตว์ ประมงชายฝั่ง และเชื่อมโยงไปถึง BCG

“เพื่อตอบเป้าหมายภาคใต้แห่งความสุขที่ได้ตั้งเอาไว้”

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.