ภัยเงียบของสารเคมีทางการเกษตร ผลกระทบ แนวโน้ม และทางออกที่ควรจะเป็น
นับตั้งแต่วันที่เกษตรกรทั่วโลกได้รู้จักกับสารเคมีจำกัดศัตรูพืช ชีวิตของผู้ผลิตและผู้บริโภคก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป พิษภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม และค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนมาอย่างยาวนาน เป็นภัยเงียบที่ทำลายชีวิตผู้คนทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นภัยที่ก่อความเสียหายให้กับโลกอย่างช้าๆ
อย่างเหตุการณ์ก๊าซพิษรั่วไหลจากโรงงานเคมียูเนียนคาร์ไบด์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เรียกว่า เซวิน (Sevin) โดยการผสมสารแอลฟาแนพทอล (alpha naphthol) กับเมทิลไอโซไซยาเนต (methyl isocyanate, MIC) ที่เมืองโภปาล ประเทศอินเดีย เมื่อปี 1984
หายนะทางด้านอุตสาหกรรมที่เลวร้ายที่สุดในโลก ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อถังเก็บสาร MIC ระเบิด ก๊าซพิษจำนวนมหาศาลฟุ้งกระจายปกคลุมไปทั่วเมือง ส่งผลให้ภายใน 24 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตทันทีกว่า 2,000 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 5 แสนคน มีผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง และกลายเป็นผู้พิการอีกนับไม่ถ้วน ทั้งยังกระทบต่อสุขภาพของแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาจึงมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง ทารกบางคนมีความผิดปกติทางด้านร่างกายและสมอง จนถึงทุกวันนี้
เมื่อหมุนโลกกลับมาที่ประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่าในปี 2559-2562 มีผู้เสียชีวิตจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาทิ ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต(Organophosphate and Carbamates Insecticides) ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา (Herbicides and Fungicides) รวมทั้งสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆ จำนวนกว่า 2,000 ราย
ทั้งยังพบว่ามีผู้ป่วยเรื้อรังที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกว่า 4,000 คนต่อปี และมีการเบิกค่ารักษาพยาบาลปีละกว่า 20 ล้านบาท
จากข้อมูลข้างต้น นำมาสู่การพูดคุยในเวทีสาธารณะ ‘องค์ความรู้ในการจัดการศัตรูพืชโดยไม่พึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ แบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 ภายใต้หัวข้อ ‘ผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันและแนวโน้ม’ บอกเล่าเรื่องราวโดย ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตรที่ถูกแบนไปแล้ว 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ยกเลิกการใช้สารเคมีไปแล้ว แต่ปัจจุบันกลับยังพบการใช้สารเคมีเหล่านี้อยู่ และยังส่งสร้างผลกระทบในเชิงสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า ‘สารพาราควอต’ เมื่อสัมผัสทางผิวหนังจะเกิดแผลพุพอง กรณีเรื้อรังจะเกิดพิษรุนแรง ยกตัวอย่างจากฐานข้อมูลผู้ป่วย โรงพยาบาลหนองบัวลำภู ระหว่างปี 2550–2560 พบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่า ผิวหนังลอก เฉลี่ยปีละ 111-176 ราย เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และไตวาย
การสัมผัสสารพาราควอตมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันสูงถึง 250% ทั้งยังเป็นต้นตอของการเกิดโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือโรคพุ่มพวง โรคผิวหนังแข็ง รวมไปถึงโรงมะเร็ง โดยฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และที่น่าตกใจคือ มีการใช้พาราควอตเพื่อฆ่าตัวตายมากขึ้นร้อยละ 20-25
ส่วนยาฆ่าแมลง ‘สารคลอไพรีฟอส’ มีรายงานการวิจัยของ ดร.เวอร์จิเนีย ราวห์ มหาวิทยาลับโคลัมเบีย พบว่า ทำให้เด็กสมองฝ่อ เนื้อสมองบางลง และผิดรูปในบริเวณที่ควบคุมสมาธิ การเรียนรู้ภาษา การรับรู้ทางสังคม การควบคุมอารมณ์และการยับยั้งชั่งใจ รวมไปการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตายได้ในที่สุด
เช่นเดียวกับสารกำจัดวัชพืช ‘ไกลโฟเซต’ ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีการใช้มากที่สุดในโลก และมักจะปนเปื้อนอยู่ในผลผลิตทางการเกษตรที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นต้น
สารชนิดนี้จะไปทำให้สารอาหารและแร่ธาตุในพืชผักลดลง ลดการดูดซึมแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ ไปทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทั้งในดินและในลำไส้ของผู้คน เมื่อจุลินทรีย์ดีถูกทำลาย จุลินทรีย์ร้ายก็จะเติบโต ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย
ก่อให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม ไขมันผิดปกติ โรคตับแข็ง และโรคไตวาย ไตเสื่อม รวมทั้งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออทิสซึมในเด็กสูงขึ้น ที่สำคัญคือ สารไกลโฟเซตยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็ง และทำให้ระบบการป้องกันร่างกาย และทำลายสารพิษในร่างกายเสียหาย ส่งผลให้ผู้คนล้มป่วยง่ายกว่าปกติ
แม้ว่าสารไกลโฟเซตจะอันตรายเป็นวงกว้าง และในหลายๆ ประเทศได้ยกเลิกการใช้แล้ว แต่สำหรับในประเทศไทยเป็นเพียงการรณรงค์ให้ยกเลิก ใช้ได้ในวงจำกัด ยังไม่ได้รับการอนุมัติเพื่อถอนทะเบียนห้ามใช้ และในขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม และคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมากขึ้น อาทิ โรคมะเร็งบางชนิดที่ต้องใช้ยารักษาบางตัวสูงถึง 1,500,000 บาทต่อปี ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว บางรายนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ได้หมายความว่าให้ใช้สารเคมีชนิดอื่นมาทดแทน แต่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรทั่วประเทศ นำองค์ความรู้ที่มี ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติอาหาร
ตั้งแต่การสนับสนุนให้เกิดระบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย การดูแลสุขภาพแบบธรรชาติบำบัด ลดการใช้ยารักษา เพิ่มอาหารการกินที่ดีเพื่อการป้องกัน และสร้างสุขภาวะที่ดีในระยะยาวของทุกคน