‘นาเคียงเมือง’ จากทุกข์ของชาวนา สู่การแก้ปัญหาวงจรหนี้สินอย่างยั่งยืน
“จริงๆ แล้วทุกข์ของชาวนากับปัญหาสุขภาพของคนเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน” สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท พูดพลางหยิบส้มปลอดสารแช่เย็นมาวางไว้ตรงหน้า ใกล้กันเป็นถุงข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวกล้องหอมมะลิอินทรีย์ของป้าอำนวย มณีแสง เกษตรกรจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่เข้าร่วมโครงการ ‘นาเคียงเมือง แก้หนี้ชาวนา’
รอยยิ้มสดใสของป้าอำนวยบนบรรจุภัณฑ์ดีไซน์เรียบง่าย ดูเผินๆ เหมือนชาวนาที่มีความสุขกับชีวิต แตกต่างจากเรื่องราวที่สมจิตเปิดบทสนทนา
“กว่าป้าอำนวยจะยิ้มออกเหมือนในภาพ แกต้องใช้เวลาต่อสู้กับหนี้สินและปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวจากเคมีมาเป็นอินทรีย์อยู่หลายปี รอยยิ้มที่เห็นในรูปนี้เลยเกิดจากความสุขในวันที่ชีวิตปลอดหนี้ และการได้เห็นคนเมืองกินข้าวปลอดสารที่ดีต่อสุขภาพ”
ป้าอำนวยเป็นหนึ่งในเกษตรกรตัวอย่างและบทพิสูจน์ความสำเร็จของ ‘นาเคียงเมือง’ โครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวนาและเกษตรกรโดยมูลนิธิชีวิตไท ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2563 ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าให้แก่ชาวนาและเกษตรกรอินทรีย์ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สุพรรณบุรี สระบุรี กาญจนบุรี และนนทบุรี พร้อมจัดส่งผลผลิตปลอดสารสู่มือผู้บริโภคในเมืองที่เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น
“คนส่วนใหญ่จะหันมาใส่ใจเรื่องการกินเพื่อสุขภาพในวันที่เราเจ็บป่วย หรือกินตามค่านิยมของสังคม บางคนกินอาหารเพื่อสุขภาพแต่กลับมองข้ามแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เกษตรกรเลยไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนวิธีการปลูก ตราบใดที่สารเคมียังให้ผลผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด วงจรหนี้สินของชาวนาก็ไม่มีวันสิ้นสุด
“ที่เราเจอเยอะมากคือ กู้ไฟแนนซ์และกู้หนี้นอกระบบมาลงทุนกับปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเพื่อให้ได้ผลผลิตเยอะๆ พอไม่มีเงินชำระหนี้ก็เสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกิน”
นาเคียงเมือง จึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ของเกษตรกรอันเกิดจาก ‘วงจรหนี้สิน’ เพื่อให้คนเมืองได้รับรู้ความเดือดร้อนของชาวนา และช่วยเหลือพวกเขาด้วยการสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรจากเคมีสู่อินทรีย์ ให้เกษตรกรเริ่มต้นชีวิตใหม่ไร้หนี้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“การทำงานแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ มูลนิธิชีวิตไททำหน้าที่แก้หนี้ชาวนาใน 5 จังหวัดที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ เราจึงต้องทำงานเชิงลึกตั้งแต่การปรับเปลี่ยนวิธีคิด การบริหารจัดการเงิน การให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสนับสนุนให้ชาวนาและเกษตรกรเปลี่ยนระบบการผลิตจากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์
“โดยมีนาเคียงเมืองทำหน้าที่สนับสนุนช่องทางการตลาดออนไลน์และการจัดส่งแบบเดลิเวอรีภายในหมู่บ้านเพอร์เฟ็กต์เพลส (รัตนาธิเบศร์) นนทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมูลนิธิชีวิตไท”
หลายปีที่ทีมงานของมูลนิธิฯ ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยและให้ความรู้แก่เกษตรกร สมจิตพบว่า ปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ หนี้ที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และกลไกทางนโยบายของภาครัฐ
“ปัญหาเบื้องลึกจริงๆ อยู่ที่การกำหนดราคาโดยกลไกทางการตลาด ซึ่งชาวนาและเกษตรกรไม่มีสิทธิ์กำหนดราคาผลผลิตได้เลย อีกอย่างชาวนาและเกษตรกรแทบจะไม่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน เพราะบ้านเราไม่ได้ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เราจึงสนับสนุนให้ชาวนาเปิดใจเล่าปัญหานี้สินให้ลูกหลานฟัง แทนที่จะเก็บไว้เครียดลำพังจนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง เพราะคนยุคใหม่มีความรู้เรื่องนี้และเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า ขณะที่ชาวนาและเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ”
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของภาคเกษตรกรรมไทยคือ อายุเฉลี่ยของชาวนาและเกษตรกรอยู่ในกลุ่มสูงอายุมากที่สุด จากการสำรวจพบว่า มีชาวนากว่า 40-50% จัดอยู่ในกลุ่มสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) กว่า 20-30% จัดอยู่ในกลุ่มวัยกลางคนเข้าสู่กลุ่มสูงอายุ ที่เหลือเป็นกลุ่มวัยหนุ่มสาวซึ่งมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ
“เราอาจจะเห็นคนรุ่นใหม่หันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น บางคนทำแล้วไปได้ดีเพราะเขามีการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างเป็นระบบ คนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับคนอื่นๆ บางครอบครัวมีลูกหลานเข้าไปช่วยดูแลเรื่องการขายออนไลน์ก็ช่วยลดภาระหนี้สินได้ดีขึ้น ขณะที่ชาวนาและเกษตรกรส่วนใหญ่กลับเข้าสู่วงจรหนี้สินซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
เหตุผลนี้ทำให้เงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมปลดหนี้กับมูลนิธิชีวิตไท คือชาวนาต้องหยุดการสร้างหนี้ก้อนใหม่ โดยมูลนิธิชีวิตไทจะคอยให้คำแนะนำเรื่องการชำระหนี้ หนี้ก้อนไหนที่ไม่เป็นธรรมก็จะเข้าไปช่วยเหลือเจรจาประนอมหนี้ ต่อสู้คดีในชั้นศาล หรือหากเป็นกรณีที่เจรจายอมความกันได้ จะมีเจ้าหน้าที่อาสาประจำท้องถิ่นคอยให้ความช่วยเหลือ
“เรายังทำงานร่วมกับสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สคปท.) เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและหนี้สินในเชิงนโยบาย เราเชิญนักวิชาการมาให้ความรู้ เรามีทนายความคอยให้ความช่วยเหลือ รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้หนี้อย่างยั่งยืน ทุกครั้งที่ลงพื้นที่เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เช่นเกษตรกรเริ่มมีรายได้เสริม และการเช่าพื้นที่ทำนาก็ลดลง”
นอกจากจะช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรให้ปลอดหนี้ มีอาชีพเสริม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี นาเคียงเมืองยังนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายผลผลิตปลอดสาร ไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ต้องการต้นทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างรัศมี กองจำปา หรือ ‘ทับทิม’ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ยึดอาชีพตัดมันสำปะหลังวันละ 350 บาท เธอมีหนี้สินรวม 350,000 บาท อันเกิดจากมรดกหนี้ การกู้เงินมาลงทุนทำอาชีพ และทุนการศึกษาของลูก
“ทับทิมมีที่นา 5 ไร่ ปลูกข้าวให้ผลผลิตน้อยเลยเก็บไว้กินเอง ส่วนหนึ่งเพราะต้นข้าวขาดน้ำและไม่มีเงินจ้างสูบน้ำ เราจึงมอบเงิน 5,000 บาท เพื่อใช้ในการซื้อเครื่องสูบน้ำ (มูลค่า 8,500 บาท) ส่วนที่เหลือเราเปิดโอกาสให้คนร่วมกันบริจาคเพื่อช่วยเหลือ เพื่อให้เธอมีน้ำจากแหล่งธรรมชาติในการทำนา สวนดอกมะลิ และปลูกผัก ให้เธอและลูกชายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
อีกหนึ่งเคสที่สมจิตภูมิใจคือ ‘ป้าแตงไทย’ ยึดอาชีพเผาถ่านอยู่ที่จังหวัดชัยนาท นอกจากมูลนิธิฯ จะเข้าไปช่วยเหลือเรื่องการแก้หนี้ แล้ว ยังให้ความรู้เรื่องการผลิตน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการเผาถ่าน และน้ำส้มควันไม้ของป้าแตงไทยยังได้รับความสนใจจากภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับผลผลิตอื่นๆ ของโครงการ เช่น ดอกเกลือ น้ำตาลโตนด และมูลไส้เดือน
“เป้าหมายต่อไปของเราจึงเป็นการส่งเสริมการจัดจำหน่ายสินค้า การตั้งราคาสินค้าอย่างเป็นธรรมโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และเชื่อมโยงกับผู้บริโภคจนถึงภาคอุตสาหกรรม
“นาเคียงเมืองจึงไม่ใช่เรื่องการจำหน่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเกื้อกูลชาวนาและเกษตรกรเพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดหนี้ และมีรอยยิ้มแห่งความสุขเหมือนป้าอำนวย ป้าแตงไทย และเกษตรกรอีกหลายคนที่กำลังต่อสู้ ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนวิถีสู่การเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน”
ส้มปลอดสารหวานฉ่ำเป็นอีกหนึ่งความพยายามของเกษตรกรใน 5 จังหวัด ที่พยายามอย่างหนักเพื่อปรับเปลี่ยนจากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ ภาพรอยยิ้มของป้าอำนวยบนถุงข้าวกล้องหอมมะลิอินทรีย์ บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและความสุขกับชีวิต ณ ปัจจุบัน
“หลายคนมองว่าผักและผลไม้ปลอดสารราคาแพงเลยไม่ซื้อ แต่ถ้าเราเข้าใจว่า ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์มาจากกระบวนการเพาะปลูกที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ แล้วยังส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน มันก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการหมดเงินเพื่อรักษาสุขภาพ และลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง”
ภายใต้ผลผลิตทางการเกษตรเหล่านั้น เต็มไปด้วยเรื่องเล่าการต่อสู้นานัปการ โดยมี ‘นาเคียงเมือง’ เป็นเหมือนครอบครัวที่ไม่เคยทอดทิ้งชาวนาและเกษตรกร พร้อมส่งต่อผลผลิตแห่งความภูมิใจของคนสู้ชีวิต เพื่อให้คนเมืองมีสุขภาพที่ดีในอนาคต