เกษตรธรรมชาติกับพลังชีวิต การปลูกและการกินที่สัมพันธ์กันด้วยธรรมชาติ

เกษตรธรรมชาติกับพลังชีวิต การปลูกและการกินที่สัมพันธ์กันด้วยธรรมชาติ

“คนที่จะเข้ามาทำเกษตรธรรมชาติได้ เขาต้องมาด้วยความรัก ความรักในดิน คือไม่เอาสิ่งที่เป็นอันตรายใส่ลงในดิน รักในพืชที่เขาปลูก รักในผู้บริโภค คนที่จะทำเกษตรธรรมชาติจะต้องละทิ้งความเห็นแก่ตัวออกไป” ประสิทธิ์ ชำนาญกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรธรรมชาติของมูลนิธิ MOA Thai เล่าเรื่องนี้ให้ชาวตลาดที่มาจับจ่ายในตลาดเขียว ‘Slow Life บางกอก’ เมื่อต้นเดือนมกราคมได้ฟัง

เรื่องราวของการปลูกพืชผักในวิถีเกษตรธรรมชาติ ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภคว่า

IMG 2912 Gindee Club กินดี คลับ

“เราใช้วิธีปรับปรุงดินด้วยสิ่งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เช่น ใบไม้ ฟางข้าว เราพยายามไม่เอาปัจจัยการผลิตจากภายนอกฟาร์มเข้าไป มีการใช้ปุ๋ยหมักในการปรับปรุงดินแค่ในระยะแรก เมื่อดินร่วนซุย อ่อนนุ่ม เหมาะกับการที่รากของพืชจะชอนไชได้แล้ว ก็จะเลิกใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักธรรมชาติ และเราเน้นการปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล นี่คือหลักการของเกษตรธรรมชาติ”

ด้วยกระบวนการผลิตที่อิงกับธรรมชาติเป็นหัวใจ เกษตรธรรมชาติจึงแตกต่างจากการทำเกษตรในสายอื่นๆ ความสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อดินดีแล้ว พืชจะเจริญเติบโตดี แข็งแรง และต้านทานโรค

“ในเบื้องต้นที่ดินยังไม่ดีพอ เราอนุญาตให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยหมักได้ เราไม่ใช้ปุ๋ยคอก แต่จะแนะนำให้เอาปุ๋ยคอกมาหมักให้เกิดกระบวนการย่อยสลายจนหมด แล้วค่อยนำไปปรับปรุงดิน เพราะปุ๋ยคอกเป็นมูลสัตว์ที่บางครั้งอาจมีพยาธิ หากไม่ได้หมักก่อนแล้วนำไปใส่แปลงพืช เมื่อรดน้ำไข่พยาธิอาจกระเด็นไปบนยอดผัก หากล้างไม่สะอาดก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้”

ผักที่ปลูกด้วยวิถีเกษตรธรรมชาติ จึงเป็นผักที่ถูกโอบอุ้มไว้ด้วยพลังชีวิต ซึ่งอาหารที่มีพลังชีวิตมาก หรือมีปราณมากนั้น มีคุณสมบัติอยู่ว่าเป็นของที่คงความเป็นธรรมชาติ (ไม่สำเร็จรูป) ยิ่งอาหารนั้นคงความเป็นธรรมชาติเท่าใด ยิ่งมีปราณมาก และผักมีความเป็นธรรมชาติเพราะเติบโตจากดิน

เป็นของที่ผลิตได้ตามฤดูกาลหรือมีความสดใหม่ ยิ่งมีปราณมากก็ยิ่งรสชาติดี ยิ่งมีรสชาติดีก็ยิ่งมีสารอาหารมาก ผักที่เก็บไว้นานและมีรสชาติดีลดลงก็เพราะสูญเสียปราณไปนั่นเอง

เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ พลังจากดินจะมีอิทธิพลต่อรสชาติมาก การปลูกแบบไม่ใช้ปุ๋ยหรือปลูกแบบเกษตรธรรมชาติจึงมีรสชาติดีเพราะได้รับพลังจากดินอย่างเต็มที่ ผักที่ได้รับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยคอกจะเสียรสชาติตามธรรมชาติ ในทางกลับกัน ถ้าพืชได้ดูดซึมธาตุอาหารจากดิน ผักก็จะมีรสชาติดีตามธรรมชาติ

เป็นผลผลิตที่มีกลิ่นหอม เพราะสารอาหารคือปราณที่มีอยู่มากในอาหารโดยเฉพาะผัก ผักยิ่งหอมจึงยิ่งมีปราณมาก ผลไม้ที่มีกลิ่นหอมและมีน้ำมากก็มีปราณมากเช่นกัน

อาหารจะมีระยะเวลาการคงอยู่ของปราณสั้นยาวต่างกัน สังเกตได้จากเวลาที่เน่าเสีย ของยิ่งสดจึงยิ่งมีปราณมาก แต่การทำให้เป็นของแห้งและเก็บไว้ได้นานนั้นอาศัยปราณของเกลือและไม่มีความชื้น และนอกจากองค์ความรู้ที่ในวิถีการผลิตที่เกษตรกรได้รับแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่เอ็มโอไทยทำควบคู่กันไปด้วย คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกร ให้รับผิดชอบต่อผู้บริโภครวมไปถึงผู้อื่นอย่างหนักแน่น

“ในขณะที่เกษตรกรรักชีวิต ปลูกผักกินเองเพื่อได้มีผักปลอดภัย ผู้บริโภคก็ต้องการแบบนั้นเหมือนกัน เอ็มโอเอจึงมีเรื่องของการพัฒนาข้างในอยู่ด้วย และเราพยายามเข้าไปช่วยตรวจสอบให้กับผู้บริโภค ด้วยการรับรองพื้นที่โดยมีเจ้าหน้าที่หรือแกนนำเกษตรธรรมชาติในพื้นที่ออกติดตามให้ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้บริโภคพืชผักที่ดีต่อสุขภาพจริงๆ”

ภาพ: MOA Thailand

ที่มา:

– ‘อาหารที่มีพลังชีวิตมาก’ จากหนังสือชุมชนอาหารสุขภาวะ เชียงแสน

– เสวนา ‘เกษตรธรรมชาติและการบริโภค’ ณ Slow Life บางกอก

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.