ทำความรู้จัก ‘โครงการพัฒนาโรงเรียนสุขภาวะ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสุขภาวะฯ’ ต้นแบบลดอ้วน ลดพุง ลดโรคด้วยผักผลไม้ปลอดภัย’ เพื่อสุขภาพดีอย่างยั่งยืนของคนชัยภูมิ
‘อาหาร’ ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่กินเข้าไปเพื่อหล่อเลี้ยง เสริมสร้างให้ร่างกายเจริญเติบโต และดำรงอยู่ต่อไปเท่านั้น แต่คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพมากที่สุด หาก ‘กินดี’ อาหารคือสิ่งที่มีประโยชน์ช่วยชุบชูร่างกายให้แข็งแรงสดใส แต่หาก ‘กินไม่ดี’ อาหารไม่ต่างจากยาพิษที่ให้โทษต่อร่างกายอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะโรคในกลุ่ม NCDs ที่มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไม่เว้นกระทั่ง ‘เด็ก’ ซึ่งปัจจุบันพบว่า เด็กที่อยู่ในภาวะอ้วนและอ้วนเกินค่ากำหนดมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจัยหลักความอ้วนมาจากการกินไม่ดี และกินผักผลไม้ไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุผลนี้ ‘โครงการพัฒนาโรงเรียนสุขภาวะ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสุขภาวะ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดชัยภูมิ ต้นแบบลดอ้วน ลดพุง ลดโรคด้วยผักผลไม้ปลอดภัย’ จึงเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ สสส.
เด็กคือกุญแจสำคัญของการเริ่มต้นอย่างยั่งยืน
เพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การสร้างการเปลี่ยนแปลงในการลดอ้วน และหันมากินผักผลไม้ อาหารมีประโยชน์อย่างยั่งยืน จึงเป็นเรื่องที่ต้องหันหน้ามาคุยกัน เพื่อส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียน รวมถึงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
การพัฒนาโรงเรียนสุขภาวะ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสุขภาวะ เปรียบเหมือนกุญแจดอกสำคัญในการนำพาเด็ก และคนในชุมชนไปสู่เป้าหมายของการมีสุขภาพดี เพราะเด็กๆ คือแก้วตาดวงใจที่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างมีคุณภาพทั้งทางร่างกายและการเรียนรู้ ซึ่งสามารถบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียน
โดยเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จะสามารถเชื่อมโยงการดูแลอย่างต่อเนื่องกับผู้ปกครองเมื่อเด็กอยู่บ้าน เป็นหลักการดำเนินการที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างความยั่งยืนที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัวตามมา ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารเพื่อสุขภาพ การกินผัก ผลไม้ปลอดภัยให้ได้ปริมาณตามสัดส่วนที่กำหนดคือ 400 กรัมต่อวัน รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
ดร.ดวงใจ วิชัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต ผู้ดำเนินการโครงการพัฒนาโรงเรียนสุขภาวะ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสุขภาวะ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดชัยภูมิ ต้นแบบลดอ้วน ลดพุง ลดโรคด้วยผักผลไม้ปลอดภัย ขยายความถึงกระบวนการทำงานว่า
“โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 เป็นโครงการต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นโมเดลเริ่มต้น ด้วยการเริ่มจากโรงเรียน เพราะเป็นสถานที่ที่สามารถดำเนินการได้ง่าย ที่สำคัญคือโรงเรียนมีงบอาหารกลางวันรองรับ นักเรียนอยู่รวมกัน มีครูคอยดูแล เราอบรมครู แม่ครัว และเด็กเรื่องการกินผักผลไม้ปลอดภัย รวมถึงการลดหวานมันเค็ม
“รวมถึงการให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมด้วยการปลูกผักทั้งที่บ้านและโรงเรียน เมื่อเขาผักเขาโตและนำไปให้แม่ครัวทำเป็นอาหารให้กินได้ ก็จะเกิดความภาคภูมิใจ
“นอกจากนั้นยังให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของผัก ให้เขารู้ว่าผักนี้นำไปประกอบอาหารอะไรได้บ้าง และรู้ด้วยว่าเขาสามารถกินอาหารรสหวานมันเค็มได้วันละมากน้อยแค่ไหน แคลอรีที่ควรบริโภคในหนึ่งวันเท่าไร ขนม 1 ซองที่กินมีโซเดียมเท่าไร วันหนึ่งกินโซเดียมได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แล้วเด็กๆ กินไปเท่าไรแล้ว ทั้งหมดคุณครูจะเป็นผู้นำมาอยู่ในกระบวนการเรียนการสอน ปลูกฝังให้เขารู้จักสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก
“จากนั้นระยะที่ 2 จะเริ่มมีความเข้มข้นขึ้น ด้วยการขยับไปที่ศูนย์เด็กเล็ก เป็นวัยก่อนเรียนที่มีความสำคัญที่ควรต้องปูพื้นฐาน รวมถึงเริ่มขยายมาที่ผู้ปกครอง เด็กๆ ปลูกผักเหลือให้นำกลับไปที่บ้านเพื่อให้ผู้ปกครองประกอบอาหาร ทำให้อีก 2 มื้อที่เขาต้องกินอาหารที่บ้านมีผักเพิ่มขึ้น
“แล้วก็ขยับต่อไปในระยะที่ 3 คือเด็กโตระดับมัธยมศึกษา และขยายไปสร้างโรงเรียนต้นแบบในทุกอำเภอของจังหวัดชัยภูมิ เรามีโรงเรียนต้นแบบทั้งหมด 48 แห่ง ซึ่งในการดำเนินโครงการระยะที่ 3 นี้ทำขึ้นในช่วงปี 2563 และได้พบว่าเด็กที่อยู่ในภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินจะอยู่ในช่วงวัยมัธยมศึกษามากที่สุด”
‘กินผิด’ ต้นเหตุความอ้วนของเด็กยุคใหม่
สำหรับปัจจัยที่ทำให้เด็กมีภาวะอ้วน ดร.ดวงใจ อธิบายว่า มาจากเรื่อง ‘ระบบอาหาร’ ซึ่งการกินอาหารในปัจจุบันของนักเรียน นอกจากจะกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์จำพวก junk food แล้วยังกินเกิน ตัวอย่างหนึ่งที่ยกขึ้นมาให้เห็น คือการมีร้านสะดวกซื้อเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงอยู่รายล้อม ไม่ว่าเด็กจะหิวหรืออยากกินตอนไหนก็สามารถทำได้
หรือเทรนด์การกินอาหารบุฟเฟต์ที่ได้รับความนิยมทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เป็นการกินเพื่อแข่งขันกับความคุ้มค่าจากเงินที่เสียไป ทำให้เกิดการกินเยอะโดยไม่คิดว่าร่างกายควรได้รับอาหารแต่ละมื้อหรือวันละเท่าใด นอกจากนั้นยังมีเครื่องดื่มอย่างน้ำหวาน รวมถึงชา กาแฟที่มีเน้นความหวานให้เข้าถึงได้ง่าย
ไม่ใช่แค่การกินมากเกินไปเท่านั้น คุณภาพความปลอดภัยของอาหารยังเป็นสิ่งที่มักไม่มีใครให้ความสำคัญ
“การทำโครงการนี้ทำให้เราได้ข้อมูลอีกหนึ่งอย่าง ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เด็กนักเรียนเกิดภาวะอ้วนคือ การผูกขาดของบริษัทน้ำหวานที่เข้าไปประมูลเพื่อจำหน่ายในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเขาขายตั้งแต่เช้าก่อนเข้าเรียนไปจนถึงเลิกเรียน ขายทั้งวันแบบไม่มีหยุดพัก เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเชิงธุรกิจที่แทรกซึมอยู่ในโรงเรียนเยอะมาก”
การร่วมแรงร่วมใจทุกภาคส่วนอย่างมีเป้าหมาย คือการไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด
ปัญหาสำคัญเหล่านี้ ดร.ดวงใจให้มุมมองถึงการแก้ไขว่า ต้องใช้วิธีการแก้ไขในแบบที่เป็นภาพใหญ่ โดยการอาศัยเครือข่าย หน่วยงานใหญ่ๆ ต่างๆ เช่น สาธารณสุขซึ่งดูแลเรื่องสุขภาพโดยตรง ลงพื้นที่พูดคุยให้ความรู้ รวมถึงการพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนเพื่อการแก้ไขได้อย่างถูกเป้าหมาย และทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ไม่ใช่แค่ส่งเสริมเรื่องการกินผักผลไม้ให้เพียงพอเท่านั้น แต่ต้องเข้มเรื่ององค์ความรู้ ทั้งยังต้องเชื่อมโยงไปถึงผู้ปกครอง
“ในระดับมัธยมศึกษา ส่วนใหญ่ครูจะเน้นเรื่องการออกกำลังกาย เพราะการกินค่อนข้างควบคุมได้ยาก มีการให้ความรู้ในเชิงวิเคราะห์แคลอรี ด้วยการให้เขารู้ว่าแต่ละมื้อกินไปกี่แคลอรี ใช้องค์ความรู้สะท้อนความจริง น้ำหวานที่เขากินไปใช้น้ำตาล 10 ช้อน แต่หนึ่งวันเรากินน้ำตาลได้ไม่เกิน 6 ช้อน แล้วก็ส่งเสริมให้เด็กๆ ออกกำลังกาย”
ตลอดระยะเวลาที่ทำงานกับเด็กทั้งในเด็กเล็ก เด็กระดับประถมศึกษา และเด็กโตระดับมัธยมศึกษา ผู้ดำเนินโครงการสรุปว่า ในเด็กระดับประถมศึกษาประสบความสำเร็จมากที่สุด เนื่องจากอยู่ในวัยที่เชื่อฟังครู และเป็นระดับชั้นที่มีงบประมาณอาหารกลางวัน จึงดำเนินการเรื่องระบบอาหารได้ง่าย โดยแผนต่อจากนี้จะต้องขยายการให้องค์ความรู้ด้วยการบรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอน
“การปลูกฝังเรื่องการกินผักผลไม้ปลอดภัย รวมถึงข้อมูลความรู้เรื่องอันตรายจากการกินอาหารไม่มีประโยชน์ ปนเปื้อนสารพิษ และการกินหวาน มัน เค็มที่มากเกินไปให้เด็กๆ เป็นวิสัย หรือว่าการเรียนรู้ที่จะฝังเข้าไปในระบบสมอง อีกทั้งการปฏิบัติจริง ด้วยการทำซ้ำๆ บ่อยๆ ย้ำให้เขารู้ว่ากินผักดีอย่างไร
“และขยายผลไปถึงผู้ปกครอง คนรอบข้าง หรือแม้แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวของตัวเอง ทั้งหมดนี้คือการปูพื้นฐานตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ก็คือศูนย์เด็ก แล้วขยับไปที่วัยเรียน คือประถม จากนั้นจะเป็นวัยรุ่น คือมัธยม นับเป็นการสร้างความรู้ที่มีความต่อเนื่อง ส่งต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นความยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต”
และทั้งหมดที่ทำให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จได้ คือความมุ่งมั่นตั้งใจ ดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย และมีองค์ความรู้ รวมถึงกระบวนการทำงานที่ชวนหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างแรงจูงใจให้ผู้ดำเนินการอย่างครูในโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนให้มีส่วนร่วม และเป็นผลงานที่ให้ทั้งความภาคภูมิใจ และสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ
นับเป็นการขับเคลื่อนที่ทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ สามารถปูพื้นฐานการมีสุขภาพที่ดี หรือมีสุขภาวะให้กับชาวชัยภูมิได้