คุณค่าทางโภชนาการลดลง เมื่อปลูกพืชผลด้วยระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว
มีการศึกษาล่าสุดของ FAO ซึ่งเผยแพร่ในการประชุม COP 26 ที่กลาสโกว์ระบุว่า ภาคเกษตรกรรมและการผลิตอาหารนั้น มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 17 ล้านตันคาร์บอน หรือคิดเป็นสัดส่วน 31% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

ซึ่งเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว เป็นสาเหตุใหญ่ของการปล่อยแกสเรือนกระจกและเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเขตร้อนมาเป็นแปลงถั่วเหลือง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน การผลิตและการใช้ปุ๋ยเคมีทางการเกษตร ซึ่งรวมทั้งปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งเปลี่ยนแปลงเป็นไนตรัสออกไซด์ ที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 298 เท่า และการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณมหาศาล
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและมาพร้อมกับความน่ากังวล คือระบบอาหารปัจจุบันที่นับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและปฏิวัติเกษตรกรรม กำลังยืนอยู่บนความไม่มั่นคงอย่างยิ่ง โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประเมินว่า พันธุ์พืชที่เราใช้ในปัจจุบัน มีอยู่เพียง 10% จากที่เราเคยใช้เมื่อร้อยปีก่อน ที่เหลือสูญหายไปจากการขยายทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ในขณะที่พันธุกรรมสัตว์ก็ลดลงเหลือครึ่งเดียวเช่นกัน
การเกษตรที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กระบวนการผลิตที่ลดความหลากหลาย และการปรับปรุงพันธุ์ให้เหลือไม่กี่ชนิด โดยเน้นผลการผลิตจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

มีงานวิจัยที่เก่าแก่ที่สุด โดย USDA ของสหรัฐอเมริกา ที่ประเมินโดยนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัย และเผยแพร่เมื่อปี 2004 พบว่าคุณค่าทางอาหารในผักผลไม้ 43 ชนิด ลดลงแทบทั้งสิ้นนับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา โดยวิตามินเอ ลดลง 18%, วิตามินบี 2 ลดลง 38%, วิตามินซี ลดลง 15%, เหล็ก ลดลง 15% และแคลเซียม ลดลง 16%
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีงานวิจัยที่ร่วมศึกษาโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตัน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และอีกสามมหาวิทยาลัยทั่วโลก เผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับอย่างไม่มีข้อโต้แย้งว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลต่อความถดถอยของคุณค่าสารอาหารในข้าว
ผลวิจัยระบุว่า โภชนาการในข้าวลดลงทั้งหมด โดยโปรตีน ลดลง 10%, เหล็ก ลดลง 8%, สังกะสี ลดลง 5%, วิตามิน บี1 ลดลง 17%, วิตามิน บี2 ลดลง 17%, วิตามิน บี5 ลดลง 13% และวิตามิน บี9 ลดลง 30%
ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ของวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนิเวศเกษตรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคืนกลับสู่การผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จึงเป็นทางออกหนึ่งในการฟื้นคืนที่สำคัญ
ที่มา: วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) จากเวที Ted Talk สิ่งแวดล้อม วันที่ 19 ธันวาคม 2565