ตลาดเขียวโรงพยาบาลเชียงแสน ‘ตลาดรักสุขภาพ’ ที่ตั้งต้นให้ผู้คนสุขภาพดีด้วยผลผลิตที่ปลอดภัย
ทุกๆ วันพุธและศุกร์ ตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปจนถึงเที่ยง ที่โรงพยาบาลเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จะมี ‘กาดสีเขียว’ ย่อมๆ ที่เกษตรกรชาวเชียงแสน นำผลผลิตจากการปลูกในวิถีเกษตรธรรมชาติมาจำหน่าย นอกจากจะมีพืชผักสดๆ แล้ว ยังมีอาหารพร้อมปรุงหน้าตาเรียบง่าย ทว่ามั่นใจว่าปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ
กาดสีเขียว หรือตลาดเขียวโรงพยาบาลเชียงแสน ทำหน้าที่เป็นจุดกระจายผลผลิตปลอดสารเคมีให้กับชาวเชียงแสน มานานหลายปี แนวคิดตั้งต้นนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 โดยนายแพทย์อิทธิพล ไชยถา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงแสนในขณะนั้น ซึ่งทำหน้าที่บริหารงานโรงพยาบาลมาร่วม 30 ปี
แนวคิดตลาดเขียวในโรงพยาบาล มีที่มาจากปัญหาผู้ป่วยในพื้นที่ ที่พบว่าป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs และโรคมะเร็งอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากสืบย้อนไปที่ต้นตอ ก็มาจากการกินอาหารที่ไม่ถูกหลัก และด้วยบทบาทของการเป็นหน่วยบริการสุขภาพ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลสุขภาพของประชาชน โรงพยาบาลเชียงแสนจึงเลือกที่จะทำงานเชิงรุก โดยแก้ที่ต้นตอของปัญหา
“ที่โรงพยาบาลเชียงแสนมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเยอะ คุณหมออิทธิพลท่านจึงเห็นว่า ถ้าในโรงพยาบาลเรามีตลาดเขียว ก็จะทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เห็นตัวอย่างในการกินที่ดี นั่นคือกินผักปลอดสาร แล้วเขาจะได้กลับไปทำผักปลอดสารในชุมชนของตัวเอง”
ศรีวรรณ เหลี่ยมทอง พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้างานบริการพยาบาลปฐมภูมิและองค์รวม หรือที่ชาวเชียงแสนเรียกเธอว่า ‘หมอต้อม’ เล่าให้ฟังถึงการริเริ่มตลาดสีเขียวในโรงพยาบาลเชียงแสนครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรกคือเกิดมีผู้ค้านำผักตลาดเข้ามาปลอมปน ทำให้ต้องงดจัดตลาดชั่วคราวและปรับกระบวนทัพกันใหม่
ในขณะที่โรงพยาบาลพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้ตลาดเขียว เกษตรกรในเชียงแสนก็มีความพร้อมในเรื่องการผลิตอยู่เช่นกัน ด้วยว่าชาวชุมชนซอย 8 ริมโขง ก็มีมีวิถีการผลิตในแนวทางเกษตรธรรมชาติอยู่หลายครัวเรือน พลเมืองอาหารกลุ่มนี้ล้วนผ่านการอบรม ‘สวนผักคนเวียง แกนนำนักส่งเสริมสุขภาพ MOA’ กับมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai) ซึ่งได้เข้าไปขับเคลื่อน ‘โครงการพัฒนาบริหารจัดการระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ’ ในพื้นที่นี้ ตั้งแต่ปี 2559 และเกษตรกรได้พัฒนาสู่การจัดตลาดเขียว ‘กองคนม่วน ของกิ๋นคนเมือง’ ขึ้นในชุมชนในเวลาต่อมา
ประกอบกับในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบาย ‘Green & Clean Hospital’ กำหนดให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องเป็นโรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบกับชุมชน และขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล แล้วนโยบายนี้ก็ทำให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ง่ายขึ้น
ในที่สุด ผลผลิตชั้นดีของเกษตรกร ก็ผนวกเข้ากับแนวคิดตลาดเขียวของโรงพยาบาล ด้วยการเชื่อมโยงของบุคลากรโรงพยาบาล กับแกนนำเกษตรธรรมชาติอย่าง ‘ติ๊ก’ กรรณิกา นาราต๊ะ ซึ่งทำงานเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขในโรงพยาบาล และทำเกษตรไปด้วย
ตลาดเขียวในโรงพยาบาลครั้งใหม่จึงเกิดขึ้น ในชื่อ ‘ตลาดรักสุขภาพ’ ที่เกษตรกรนำผลผลิตปลอดเคมีมาจำหน่าย ในขณะที่ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งถูกส่งเข้าครัวของโรงพยาบาลเพื่อประกอบเมนูอาหารให้กับผู้ป่วย
“เราวางแผนร่วมกันว่าจะผลักดันในสามเรื่อง คือเอาอาหารปลอดภัยเข้ามาในโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้กินผักที่ปลอดภัย โภชนากรของโรงพยาบาลจะออกแบบเมนูอาหารสามเดือน เพื่อกลุ่มเกษตรกรจะได้วางแผนปลูกผักตามฤดูกาลที่โรงพยาบาลต้องการ การทำแบบนี้เกษตรกรก็จะมีรายได้ ได้ภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ และเราเองก็ได้ผักที่ปลอดภัย
“จากนั้นเราต่อยอดไปที่ร้านอาหารในโรงพยาบาล โดยร้านอาหารมาซื้อผักที่ปลูกตามแนวทางเกษตรธรรมชาติไปใช้ และเรื่องที่สามคือ เปิดตลาดเขียวให้คนไข้และญาติที่มารับบริการ รวมถึงคนทั่วไปได้เข้าจับจ่าย ทำให้คนกลุ่มนี้และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยด้วย” หมอต้อมเล่า
นอกจากเรื่องราวของอาหารปลอดภัยที่เกิดขึ้นในครัวและร้านอาหารโรงพยาบาล กระจายสู่ครัวของชาวเชียงแสนผ่านตลาดเขียวแล้ว ยังต่อยอดไปถึงแปลงผักของโรงพยาบาลและการทำสวนผักบำบัดในกลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดด้วย
เรื่องราวในเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเชียงแสน คลี่ให้เห็นภาพของหน่วยบริการสุขภาพที่ทำงานแบบรอบทิศ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นตอโดยเฉพาะอาหารการกินที่เป็นปัจจัยต่อความเจ็บป่วย ด้วยการขับเคลื่อนชุมชนอาหารปลอดภัยเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ภาพ : กาดกอง8ปงสนุก