เปลี่ยนนักท่องเที่ยวเป็นนักสื่อสาร การท่องเที่ยวยั่งยืนที่ยืนเคียงข้างเกษตรกรอินทรีย์ ในแบบฉบับของกินสบายใจ
ความสุขของคนอีกรูปแบบหนึ่ง น่าจะเป็นการออกเดินทาง และการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของแต่ละคนก็ต่างกัน หากพีระมิดมียอดเป็นแหลม ยอดสูงสุดของการท่องเที่ยวคงเป็นความสุขจากบริการที่ดีเยี่ยม แต่คงไม่ใช่การท่องเที่ยวในแบบฉบับของกินสบายใจ โดยมูลนิธิสื่อสร้างสุข เพราะผู้ร่วมทริปต้องแบกเต็นท์ ข้าวของเครื่องใช้ และตื่นขึ้นมาช่วยกันทำอาหารร่วมกับเกษตรกรในเครือข่ายกินสบายใจ
การทำงานโดยใช้เรื่องการสื่อสารเป็นตัวตั้ง เป็นแนวคิดที่มูลนิธิสื่อสร้างสุขใช้ดำเนินงานต่าง ๆ ในทุกโปรเจ็กต์ หนึ่งในนั้น คือ กิจกรรมพาคนกินท่องเที่ยวไปในพื้นที่เกษตรกรในเครือข่าย อะไรทำให้สื่อสร้างสุขขยายจากการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรมาสู่คนกิน

เราชวนมาร์ค-ธวัชชัย นนทะสิงห์ ผู้จัดการกินสบายใจช็อป โดยมูลนิธิสื่อสร้างสุข พูดคุยเกี่ยวกับการจัดทริป ‘กินสบายใจ BCG & SUSTAINABLE TRAVEL’ ที่นำเรื่องออร์แกนิกผสมผสานกับการท่องเที่ยวยั่งยืน ชวนผู้บริโภคออกเดินทางหาต้นตอการผลิตอาหารปลอดภัย ออกไปหาแหล่งที่มาของอาหาร
คอนเซ็ปต์เที่ยวตาม ‘ริม’ ตามประสากินสบายใจ
เริ่มจากสารตั้งต้นความน่าสนใจของเกษตรกรเครือข่ายกินสบายใจใน 23 อำเภอ ของจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง นำจุดเด่นของแต่ละพื้นที่จัดทริปโดยใช้คอนเซ็ปต์ ‘ริม’ ครั้งแรกชื่อ ‘วิถีริมโขง’ ณ บ้านตามุย อ.โขงเจียม ล่องเรือยกปลาซิวริมเขื่อนสิรินธร ตามมาด้วยครั้งที่ 2 ปิ้งย่างรับลมหนาวริมสวนผักในชื่อ ‘วิถีริมสวน’ ณ บ้านหนองเม็ก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
และครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านมาในชื่อ ‘วิถีริมเขื่อน’ ณ บ้านคำกลาง อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ล่องเรือชมการจับปลาซิวพื้นบ้านที่เขื่อนสิรินธร เรียนรู้การย้อมคราม และสีจากธรรมชาติ พื้นที่ที่ไปนอกจากจะเห็นในเรื่องนั้นๆ แล้ว ผู้ร่วมทริปยังจะได้เข้าไปรับรู้ถึงความรู้สึก ไปพบความจริงซึ่งบางเรื่องเกษตรกรไม่สามารถพูดได้ในเวทีสาธารณะ เช่น เรื่องราวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเขื่อน หรือต้องแปลกใจกับเกษตรกรสวนส้มโอที่ไม่รู้จักสารเคมี เพราะปุ๋ยเคมีเข้าไม่ถึงในพื้นที่ห่างไกล

“พอพาคนกินมาหาถึงที่ก็เหลื่อเชื่อมาก เพราะว่าส้มโอเกือบ 4 ไร่ถูกขายหมดเกลี้ยงในราคาที่สูงมาก มันทำให้เราเอ๊ะเหมือนกันว่านี่เข้าไปช่วยหรือเข้าไปทำลาย เพราะขายหมดเร็วมาก (หัวเราะ) คนกินไม่ได้เกี่ยงว่าการเดินทางจะไกลขนาดไหน สุดท้ายแล้วเขาก็อยากเสาะหาอาหารปลอดภัย มันคือความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นอย่างชัดเจนจากทริปนี้”
การกินอาหารปลอดภัย เป็นเพียงจุดเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เพราะหมุดหมายที่มากกว่านั้นคือ การใช้ชีวิตที่ต้องเท่าทันสื่อ มากกว่าอาหารการกิน คือเรื่องราวความทุกข์ของเกษตรกร และผู้บริโภคมีส่วนช่วยสื่อสารเรื่องนี้ นี่คือเป้าหมายใหญ่ของการจัดทริป
เปลี่ยนนักท่องเที่ยวให้เป็นนักสื่อสาร รับฟัง ‘สุข-เศร้า’ ของเกษตรกร
กินสบายใจกำลังทำให้มิติการการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป คือการท่องเที่ยวแบบกลับด้าน ที่ไม่ใช่เอาการบริการดีเลิศเป็นตัวตั้ง
จากประสบการณ์การทำงานด้านการท่องเที่ยวมาก่อน ทำให้มาร์คเห็นรูปแบบการท่องเที่ยวแบบเดิมที่เคยเจอเป็นการท่องเที่ยวแบบทำลายและกอบโกย นักท่องเที่ยวต้องเป็นที่หนึ่ง ‘First Come First Serve’ คือมาก่อนได้ก่อน และต้องเป็นการท่องเที่ยวแบบ Service Mind ต้องได้รับการบริการที่ดี เพราะจ่ายเงิน คาดหวังในสิ่งที่ดีที่สุด
เขามองว่า มากกว่าการเที่ยว คือต้องสื่อสารประเด็นเหล่านี้ให้มันเกิดขึ้นมาให้ได้ และมากกว่าการอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม คือเกิดการท่องเที่ยวแบบกระจายสู่ชุมชน ร่วมกันอนุรักษ์ให้มากขึ้น เที่ยวให้เท่ต้องเที่ยวให้ยั่งยืน

“หลายคนอาจจะชอบการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ แต่เสพติดความสะดวก จ่ายแล้วจบ คือการใช้เงินแก้ไขปัญหา สิ่งที่เรากำลังทำคือการบอกว่า คุณจ่าย มันอาจจะไม่สิ้นสุด แต่เป็นการส่งต่อประเด็นต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่เพียงแค่เทรนด์เท่านั้น เป็นการถือโอกาสเอาการท่องเที่ยวมาสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อม เกษตรกรไม่ต้องเตรียมแต่งอะไร อยู่อย่างธรรมชาติตามวิถี เพื่อให้ผู้บริโภคกับเกษตรกรหาทางใช้ชีวิตร่วมกัน ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวต้องไม่คาดหวัง แต่ควรเคารพคนที่อยู่ และขอบคุณเกษตรกรที่ยังอยู่กับวิถีที่สามารถต่อยอดสู่ความยั่งยืนในมิติอื่น
“เมื่อก่อนอาจจะต้องมีนักข่าว นักสื่อสารเดินทางเพื่อหาประเด็น แต่เรากำลังเปลี่ยนผู้บริโภคให้เป็นนักสื่อสาร เป็น Change Agent ที่สามารถตั้งคำถาม แก้ปัญหา และหาทางออกร่วมกับเกษตรได้ มันจะลึกมากกว่าการไปเที่ยวแบบกินดีอยู่ดี บริการสบาย การเก็บเกี่ยวความสุขระหว่างทาง อาจเป็นความสุขของเพื่อนร่วมทริปและเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับกินสบายใจ จุดหมายปลายทางอาจเป็นเรื่องอะไรสักอย่างที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ”
กิน-ดื่ม-เที่ยวอย่างเข้าใจ คือ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
หมุดหมายการท่องเที่ยวในรูปแบบของกินสบายใจ คือการส่งต่อให้องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันกลับมามองการรณรงค์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือการผลิตอาหารปลอดภัย ธรรมชาติที่ยั่งยืน การกินอยู่ ใช้ อย่างยั่งยืนตามแบบ BCG ที่กำลังพูดถึงกันในหลายภาคส่วน ซึ่งกินสบายใจทำมานานแล้ว

“เป็นประเด็นที่เราต้องไขปมเรื่องนี้ให้ประเทศ ตอนนี้ไม่ใช่ประเทศเราไม่มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือ Green Travelling แต่การไปท่องเที่ยวแบบนั้นคุณต้องจ่ายแพงมาก ทำให้คนรู้สึกว่า ถ้าจะต้องท่องเที่ยวธรรมชาติ และได้รับการดูแลอย่างเทวดา แต่สุดท้ายเม็ดเงินไปกองอยู่กับคนที่ไม่ใช่ชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เกิดภาพการท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งสำคัญที่มากกว่าการถ่ายรูป คือ การไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้านในชุมชน”
มาถึงตรงนี้ เรื่องของการท่องเที่ยวคงเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของความยั่งยืนทางอาหารไปแล้ว และถ้าคุณกำลังออกเดินทาง คุณนั่นเองที่กำลังเป็นนักท่องเที่ยว แม้ไม่ได้กินอาหารอินทรีย์ แต่หากเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการเดินทาง พกแก้วน้ำ ทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุด นั่นล่ะคือการใช้ชีวิตแบบ ‘Sustainability is Cool’