สถานีเกษตรแบ่งปัน ต้นแบบการผลิตเกษตรอินทรีย์และการบริโภคเชิงบูรณาการ เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างมั่นคงยั่งยืน
วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ดูเหมือนจะเฟื่องฟูมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด จนผู้คนหันมาให้ความสำคัญ และใส่ใจสุขภาพกันอย่างเห็นได้ชัด มุมขายผักปลอดสาร ข้าวของเครื่องใช้ออร์แกนิกส์ในซูเปอร์มาร์เก็ตได้รับการขยับขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น ตลาดนัดหลายแห่งแบ่งพื้นที่ให้พืชผักผลไม้ปลอดสาร แต่กลับพบว่ายังมีการตรวจพบสารเคมีตกค้างในผักผลไม้เกินค่ากำหนดทั้งในห้างค้าปลีก ตลาดค้าส่ง รวมถึงอาหารในโรงเรียน
อีกทั้งเมื่อมีการวิเคราะห์ข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจชาวบ้านในชุมชน พบว่ายังคงมีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรเพื่อรองรับความต้องการผลผลิตปริมาณมาก และความต้องการผลผลิตที่มีความสวยงาม สะท้อนให้เห็นถึงระบบอาหารที่ยังไม่มั่นคง ทั้งการผลิต การบริโภคที่มีปริมาณมากขึ้น แต่กลับไม่ปลอดภัย
‘สถานีเกษตรแบ่งปัน’ จึงเกิดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนชุมชนสู่พลเมืองอาหารเพื่อสุขภาวะ ภายใต้ระบบอาหารที่มีความมั่นคงและยั่งยืน
ราชบุรีโมเดล คือแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ของอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่มีการเชื่อมโยงแหล่งบริโภคอย่างครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มเด็ก เยาวชน พ่อบ้านแม่บ้าน ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ไปจนถึงแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีการพัฒนาแหล่งผลิตที่หลากหลายประเภท ทั้งพืชผัก ผลไม้ ไข่ไก่
เป็นรูปแบบของการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยวิถีการผลิตการบริโภคผลผลิตอินทรีย์ บนจิตสำนึกของสมาชิกผู้เข้าร่วมด้วยบรรยากาศของการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้ และร่วมกันออกแบบให้เหมาะสม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของวัฒนธรรมชุมชน
และได้รับการพัฒนาจนเกิดเป็น ‘โครงการสถานีเกษตรแบ่งปัน ณ ราชบุรี การพัฒนาต้นแบบชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะเชิงบูรณาการสู่วิถีชุมชนง ด้วยการสนับสนุนของ สสส. โดยมีบาทหลวง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย อ่องนาวา แห่งชุมชนคาทอลิก วัดนักบุญอักแนส เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการ
การเกิดขึ้นของโครงการสถานีเกษตรแบ่งปัน ณ ราชบุรี การพัฒนาต้นแบบชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะเชิงบูรณาการสู่วิถีชุมชน ส่งผลต่อการการพัฒนาองค์ความรู้ มีการถอดบทเรียน และต่อยอด ช่วยให้มีการพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านวิถีชีวิตที่สมาชิกในชุมชน รวมถึงภาคีเครือข่าย ให้เกิดการขับเคลื่อนชุมชนให้มีสุขภาวะที่ดี ทั้งการส่งเสริมกระบวนการผลิตเพื่อการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัยและถูกหลักโภชนาการ ร่วมกับสมาชิกในชุมชน รวมถึงภาคี เครือข่าย ในด้านการเป็นต้นแบบและโมเดลต่างๆ คือ
🔸 ต้นแบบแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอสวนผึ้ง ใช้เป็นต้นแบบในการจัดคณะต่างๆ มาศึกษาดูงาน
🔸 ต้นแบบการผลิตที่มีความเชื่อมโยง สอดคล้อง เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์
🔸 ต้นแบบการพัฒนาแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีผลผลิตต่อเนื่องและมีคุณภาพ
🔸 ต้นแบบการพัฒนาแกนนำชุมชนเพื่อให้เกิดชุมชนเกษตรแบ่งปัน
🔸 โมเดลการขับเคลื่อนชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะ
🔸 โมเดลระบบเศรษฐกิจชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะ
🔸 หลักสูตรการพัฒนาชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะ ตามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ
🔸 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบอาหารเพื่อสุขภาวะ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนอาหาร
บาทหลวงผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร.วุฒิชัย อ่องนาวา ผู้ดูแลรับผิดชอบสถานีเกษตรแบ่งปัน เล่าถึงโครงการเพื่อการเป็นต้นแบบอาหารอย่างยั่งยืนและมั่นคงว่า
“สิ่งที่ตั้งเป้าไว้คืออยากให้มีสถานีเกษตรแบ่งปันอำเภอละแห่งในจังหวัดราชบุรี เพื่อสะดวกในการเข้าถึง หากต้องการทำให้เกิดความยั่งยืนต้องมีแบบนี้ ซึ่งตอนนี้ค่อยๆ สะสมต้นทุนทั้งกำลังคน การบริหารจัดการ การบริหารเครือข่าย เราไม่ได้มองเพียงแค่รณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกผัก แต่มองไปถึงองค์รวมการสร้างชุมชน จะสร้างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างไร เพราะเราจะพัฒนาชุมชนอาหาร เราก็ต้องต่อยอดทั้งสามส่วน
“ความที่เราไม่ใช่องค์กรธุรกิจ เราต้องการให้ชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ แล้วจัดการให้เป็นระบบ โดยเราออกแบบการปลูกทุกสัปดาห์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ เพราะตอนนี้เราเชื่อมโยงส่งผักให้กับครัวโรงพยาบาลสวนผึ้ง และส่งครัวโรงเรียน มีรถสถานีเกษตรแบ่งปันซึ่งนัดส่งผักยังจุดรับตามพรีออเดอร์ในวันอังคาร และมีจุดจอดประจำทุกวันพุธที่โรงพยาบาลสวนผึ้ง
“เป็นการจับกลุ่มเชื่อมโยง วางระบบการทำงาน ด้วยการเอาแกนนำชุมชนและครอบครัวมาทำร่วมกัน คนขายก็คือคนปลูก และถึงที่สุดแล้วเราอยากให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของ ส่วนตัวเราคือคนมาช่วยออกแบบ ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของให้เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ไม่ใช่ให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นเพียงลูกจ้าง”
นอกจากการออกแบบการผลิตแล้ว สถานีเกษตรแบ่งปันยังให้ความสำคัญกับการขายคู่ขนานไปด้วยกัน ทั้งการจัดชุดผักให้สอดคล้องกับการบริโภคของครัวเรือนขนาดเล็กและขายในราคาเดียวกัน ออกแบบแพ็กเกจจิ้งอย่างมีมาตรฐาน รวมถึงภาพลักษณ์ มาตรฐานความสะอาดของคนขาย โดยทุกอย่างล้วนต้องมีความส่งเสริมกันและกัน
สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างในการที่จะนำสถานีเกษตรแบ่งปันไปสู่ความยั่งยืนคือ การดำเนินการที่สามารถตอบโจทย์วิถีของคนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะสามารถส่งต่อสิ่งที่ทำอยู่นี้ไปสู่รุ่นต่อไปได้ เช่น การนำโมเดลเรื่องการให้บริการ 24 ชั่วโมงเข้ามา รวมถึงเรื่องของทำเลที่ตั้งของสถานี การเปิดให้บริการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งล้วนส่งผลต่อความยั่งยืนที่ต้องอาศัยเวลาในการดำเนินการ
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ได้มีการพลิกผืนแผ่นดินจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับชุมชนเล็กๆ อย่างชุมชนคาทอลิก วัดนักบุญอักแนส แห่งอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ด้วยการทำให้ชาวบ้าน คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของการทำเกษตร ทุกสิ่งที่ลงมือล้วนมีมูลค่า
และยังได้พัฒนาวิธีคิด ได้เรียนรู้ แบ่งปันข้อมูลว่าการปลูกอย่างละน้อย แต่ปลูกแบบหลากหลาย ต่อเนื่อง และเริ่มต้นจากการปลูกให้ตัวเองกิน จากนั้นจึงนำส่วนที่เหลือไปจำหน่ายจ่ายแจกเพื่อสร้างมูลค่า นับเป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิต
เป็นการบูรณาการที่มีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ คือแหล่งผลิต กลางน้ำ คือการเชื่อมโยง และปลายน้ำ คือแหล่งบริโภค เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน