ทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะปี 2566 เป้าหมายที่ต้องการให้ผู้คนสุขภาพดีจากการกิน

ทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะปี 2566 เป้าหมายปลายทางที่ต้องการให้ผู้คนสุขภาพดีจากการกินอาหารที่ดี

ประชาชนมีความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ คือเป้าหมายการดำเนินงานของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ที่จะต้องเกิดขึ้นจากการบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร คือ ความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ภาคีแผนอาหารเพื่อสุขภาวะได้ดำเนินงานไปตามแนวทางดังกล่าวเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

ในการประชุมรายงานผลดำเนินการงานแผนงานวิชาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ปี 2565 ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ได้กล่าวถึงทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ปี 2566 และอีก 5 ปีต่อจากนี้เอาไว้ว่า เป้าหมายสุดท้ายของ สสส. คือการต้องการให้คนมีสุขภาพดีจากการบริโภคอาหารดี แต่การจะมาถึงเป้าหมายนั้นได้ จะต้องขับเคลื่อนตลอดทั้งห่วงโซ่ คือการผลิต การกระจายและการตลาด และการบริโภค

โดยในต้นทางซึ่งหมายถึงการผลิตนั้น เน้นการทำงานสนับสนุนต้นแบบการผลิตปลอดภัย ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ดีต่อสุขภาพ

ที่ผ่านมา ภาคีแผนอาหารมีการขับเคลื่อนทั้งเรื่องวัตถุดิบประเภทผักผลไม้ ด้วยการรณรงค์การทำเกษตรอินทรีย์ การแบนสารเคมีในการเพาะปลูก สนับสนุนอาหารอุตสาหกรรมที่ดีต่อสุขภาพ และใน 5 ปีต่อจากนี้ วัตถุดิบอาหารจะขยายไปยังกลุ่มเนื้อสัตว์ปลอดภัย ส่วนการผลิตกลุ่มอาหารในภาคอุตสาหกรรม แผนอาหารเพื่อสุขภาวะเน้นความสำคัญไปยังกลุ่มอาหารที่ทำให้เกิดปัญหา NDCs นั่นคือ หวานเกินไป เค็มเกินไป และมันมากเกินไป

ส่วนการกระจายและการตลาดนั้น ได้มีการจัดระบบที่ทำให้การผลิตและการบริโภคเคลื่อนตัวไปด้วยกัน ด้วยการส่งเสริมกลไกกระจายอาหารที่เข้าถึงง่าย และหนุนเสริมตลาดเขียว ตลาดชุมชน ตลาดเชิงสถาบัน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล องค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อเกิดการบริโภคในวงกว้างขึ้น ก็จะสามารถรองรับการผลิตได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังทำงานสนับสนุนเศรษฐกิจอาหาร การควบคุมการตลาดอาหารที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ โดยมีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อาทิ เรื่องฉลากโภชนาการ สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ แอปพลิเคชั่น FoodChoice เป็นต้น

ในส่วนการบริโภคนั้น ได้มีการพัฒนาทักษะการบริโภคเพื่อสุขภาวะ สื่อสารความรอบรู้ด้านอาหาร การสร้างจิตสำนึก และสนับสนุนการขับเคลื่อนพลเมืองอาหาร และจะเน้นสร้างความรอบรู้ในประชาชน รวมถึงนโยบายเพื่อการบริโภคปลอดภัยและมีคุณค่า ในโรงเรียน โรงพยาบาล และองค์กร

โดยในปี 2566 หรือ 5 ปีต่อจากนี้ แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ จะเน้นการทำงานในยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ Food Literacy, Food Environment, Food Economy และ Food Policy ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ, เกิดต้นแบบระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่, เกิดนวัตกรรม รูปแบบ ช่องทางการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะของประชาชนในชุมชน, และเกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และระบบอาหารที่ยั่งยืน

“สิ่งที่อยากเห็นคือการทำงานในชุมชน เพราะการผลิตอาหาร ไม่ว่าเกษตรกรหรืออาหารอุตสาหกรรม จะมีการเดินทางไปกลับ เมื่อเกษตรกรเป็นผู้ผลิต มีการส่งถึงผู้บริโภค แล้วสินทรัพย์จะย้อนกลับไปที่เกษตรกร ซึ่งวันนี้การขับเคลื่อนไปได้ดีในระดับชุมชน หากในระดับจังหวัดหรือในประเทศยังทำไม่ได้ หากเกิดชุมชนเล็กๆ แบบนี้มากขึ้น มันคือการพัฒนาประเทศในอีกด้านหนึ่ง” ทพญ.จันทนากล่าวก่อนปิดท้าย

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.