มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) ขับเคลื่อนโมเดล BCG พลิกวิกฤติเป็นโอกาส พิชิตความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาหารทั่วโลกจึงเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนประชากรและจำนวนการบริโภค ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารที่คนทุกระดับจะสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ มีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในทางกายภาพและทางด้านเศรษฐกิจ
และสิ่งนี้เองที่เป็นต้นทางให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ขึ้น โดย BCG นั้นมีความหมายถึง เศรษฐกิจชีวภาพ (B-Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามาเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยตั้งระยะเวลา 5 ปี คือ 2564-2569
มูลนิธิเสริมสร้างวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) นำโดย จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย สสส. ได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ต่อยอด บูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชนต่างๆ ในประเทศไทย พลิกวิกฤติเป็นโอกาส พิชิตความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
โดยยึดโยงโมเดลเศรษฐกิจ BCG กับการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ที่หลังจากสถานการณ์โควิดยิ่งทำให้ต้องมีการพัฒนาระบบอาหารทั้งในระดับโรงเรียน ระดับแหล่งผลิต-บริโภค อาหารในชุมชนท้องถิ่นใกล้เคียง และเพิ่มประเด็นการพัฒนาที่สูงขึ้น
พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพสถานประกอบการด้านอาหาร ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มระดับชาติ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ ดีต่อสุขภาพ และมีความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมนูอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มวัย มีช่องทางซื้อขายอาหารระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตอาหารอินทรีย์ อาหารปลอดภัย อาหารที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านผู้ประกอบกิจการด้านอาหารทุกระดับ
และยังเกิดเป็นแนวคิดของนักวิชาการ ภาคเอกชน และรัฐบาล ในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบอาหารในอนาคต ให้เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรและอาหาร และ SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
เมื่อปี 2564 มอส. ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนระบบคุณภาพอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน และผลักดันงานอาหารโรงเรียนทั้งระบบเข้าสู่กลไกการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติในระยะเริ่มต้น โดยเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ
จัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาและชุมชน และแต่งตั้งคณะทํางานขึ้น 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน รับผิดชอบโดยมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ คณะทำงานพัฒนากำลังคนด้านอาหารและโภชนาการ รับผิดชอบโดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย และคณะทำงานพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลภาวะโภชนาการและคุณภาพอาหารของนักเรียน รับผิดชอบโดยสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สพฐ. โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 25 หน่วยงาน
กระทั่งปี 2565 โครงการฯ ได้มีเป้าหมายให้เกิดการขับเคลื่อนงานมาตรฐานระบบในการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาและชุมชนต่อเนื่อง โดยรับสมัครสถานศึกษาที่สนใจเข้าร่วมนำร่องตามมาตรฐานเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมทุกจังหวัด
มีกระบวนการให้ความรู้ การติดตาม กระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กวัยเรียน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน ไปจนถึงระดับโรงเรียน ที่ได้ความร่วมมือจากนักเรียน-ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับอาหารเพื่อสุขภาวะที่เหมาะสมตามวัย
โดยวางแผนจะมีการถอดบทเรียนและจัดทำแผนระยะ 10 ปีระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาวิธีแก้ปัญหาด้านกฎระเบียบที่จำเป็น หนุนเสริมให้มีการศึกษาพัฒนารูปแบบกลไกการทำงานของระบบอาหารชุมชนจากตำบล อำเภอ สู่ระดับจังหวัด เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งนำเสนอรูปแบบผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ
ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมนำร่องกว่า 700 แห่ง ทั้งโรงเรียนในสังกัด กทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สพฐ. กระจายในเกือบทุกจังหวัด ส่งผลให้เด็กวัยเรียนสามารถเข้าถึงอาหารสุขภาวะเพิ่มขึ้น ยกระดับภาวะโภชนาการดีขึ้น และสามารถนำไปขยายผลได้ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และสภาพภูมิศาสตร์
และจากการพัฒนาโครงการอาหารและโภชนาการในเครือข่ายเด็กไทยแก้มใสอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี มอส.ได้ค้นพบว่า ปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียน คือการเกิดจุดเปลี่ยนของผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน เกษตรกร และสถาบันการศึกษาทางวิชาการในพื้นที่มีการทำงานร่วมกัน มีความตระหนักถึงปัญหาของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของนักเรียนและการจัดการอาหารโภชนาการของโรงเรียน
ซึ่งการพัฒนาโครงการฯ ได้อาศัยกระบวนการบริหารจัดการภายในโรงเรียน ได้แก่ การกำหนดนโยบายของโรงเรียน การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน การบรรจุเป็นแผนปฏิบัติงานประจำปีของโรงเรียน การจัดการอาหารกลางวัน อาหารเช้าสำหรับนักเรียนขาดแคลน ที่สอดคล้องกับปัญหาด้านทุพโภชนาการและพฤติกรรมด้านสุขภาพของนักเรียน รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรด้านบุคลากร องค์ความรู้ และงบประมาณของโรงเรียน
ทั้งนี้ สสส. และ มอส. มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ต่างๆ และสถาบันการศึกษา ดำเนินงานที่ลงลึกในรายละเอียด เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาในระดับพื้นที่ มุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนระบบคุณภาพอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ เข้าสู่ระบบงานประจำของโรงเรียนในระยะยาว
โดยเน้นการพัฒนาและสร้างความรอบรู้เรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ (Food Literacy) แก่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาหน่วยจัดการกลางผลผลิตอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงจากชุมชนเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ร้านค้า และตลาดเขียวในชุมชน เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เป็นชุมชนตัวอย่าง
และมีพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนระบบอาหารชุมชน ในปี 2564-2565 แล้ว 4 จังหวัด คือเชียงใหม่ น่าน บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยคาดว่าจะสามารถถอดบทเรียนในปี 2567 สู่การขยายผลในวงกว้าง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารของประเทศไทย ให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน”