มาตรการภาษีเครื่องดื่มรสหวาน เปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลให้ลดลง ผ่านการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม
ด้วยสาเหตุสำคัญของการบริโภคหวานมากเกินไปของคนไทย มีแหล่งหลักมาจากเครื่องดื่มสำเร็จรูป มาตรการภาษีเครื่องดื่มรสหวาน จึงเป็นแนวทางที่เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานนำเสนอต่อกรมสรรพสามิต กว่าสิบปีของการริเริ่ม นำมาสู่มาตรการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวาน ที่เริ่มระยะแรกเมื่อปี 2560 ผ่านสู่ระยะสองด้วยผลชี้วัดที่น่าพอใจ และจะเข้าสู่ระยะที่สามในเดือนเมษายน 2566 ที่กำลังมาถึง
“การเก็บภาษีมีต้นแบบของประเทศเม็กซิโกและประเทศในยุโรปอีก 4-5 ประเทศที่ทำสำเร็จ ผลการศึกษาของเขาบอกว่า ถ้ามีการขึ้นราคาเครื่องดื่มรสหวาน 20 เปอร์เซ็นต์ คนจะเริ่มคิดหนักในการบริโภค เราต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการเยอะมากเพื่อให้เหตุผลกับกรมสรรพสามิตว่าทำไมต้องทำเรื่องนี้ ซึ่งเป้าของเราคือ จะต้องขึ้นราคาให้ได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์” ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เล่าถึงที่มาของมาตรการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มรสหวาน
จากวันที่เริ่มต้นเป็นแนวคิดเมื่อปี 2552 นับเป็นเวลาไม่น้อยกว่ามาตรการนี้จะเดินทางมาสู่ความสำเร็จ “เราทำงานกันมานาน เก็บข้อมูลกันมานาน เรามีผลวิจัยจากการตั้งคำถามกับผู้บริโภคว่า กินอะไร กินเท่าไร ความถี่เท่าไร ขอบราคาที่จะทำให้เขาเปลี่ยนการตัดสินใจคือเท่าไร คำตอบคือ 20 บาท”
แนวทางนี้ถูกนำขึ้นโต๊ะประชุมกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้องและกรมสรรพสามิตอยู่หลายหนในหลายปีกว่าได้รับการตอบรับจากกรมสรรพสามิต กระนั้นก็ต้องยังหารือกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลซึ่งคัดค้านในตอนแรก จนท้ายที่สุดแนวทางนี้ผ่านเข้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ รัฐบาลรับลูก และกรมสรรพสามิตรับเรื่องไปดำเนินการต่อ
โดยมีการกำหนดโครงสร้างภาษีในอัตราแบบขั้นบันได้ คือระยะที่ 1 ในวันที่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562 ระยะที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564 และระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2566 ก่อนจะมีการขยายเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีระยะ 3 ออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ทว่าการสถานการณ์ระบาดของโควิด ส่งผลให้การปรับขึ้นอัตราภาษีระยะ 3 ถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลา 6 เดือน คือ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 นั่นเท่ากับว่า การปรับขึ้นในระยะ 3 จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายน ที่กำลังจะถึงนี้
ในการประชุมรายงานผลการดำเนินงานแผนวิชาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ปี 2565 ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอโครงการสำรวจติดตามพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานของคนไทย ปีที่ 3 พ.ศ.2563 ระบุว่า การเพิ่มราคาเครื่องดื่มรสหวาน มีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจของคนไทย คนจะไม่ดื่มเครื่องดื่มรสหวานหากมีราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน นอกจากการดำเนินมาตรการภาษีตามที่วางเอาไว้แล้ว การควบคุมมาตรการส่งเสริมการขายก็เป็นสิ่งที่ควรต้องติดตามต่อ เช่นเดียวกับการโฆษณาเครื่องดื่มซึ่งที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มวัยเด็ก ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ
ด้านอาริยา ภู่วัฒนกุล จากสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ได้นำเสนอโครงการศึกษาผลการดำเนินมาตรการภาษีเครื่องดื่มรสหวาน ต่อการปรับตัวภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม พบว่า ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง
โดยในเครื่องดื่มทุกประเทศ มีการปรับลดเข้าใกล้ปริมาณน้ำตาลต่ำกว่า 6 กรัม ต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร ในขณะที่ราคาขายปลีกแนะนำก็มีการปรับตัวสูงขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะเครื่องดื่มน้ำอัดลม จากภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จึงเห็นได้ว่า การปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลไม่มีความสัมพันธ์กับราคาขายปลีก เนื่องจากมีปัจจัยอื่นเข้ามากำหนดต้นทุนการผลิต
“ปริมาณเครื่องดื่มที่ชำระภาษีตามเกณฑ์ความหวานในแต่ละช่วง สะท้อนประสิทธิภาพของมาตรการภาษีในการปรับลดสูตรน้ำตาลลง เปรียบเทียบจากเครื่องดื่มปริมาณน้ำตาลต่ำกว่า 6 กรัมในปี 2561 มีเครื่องดื่มที่เข้ามาในระบบชำระภาษีต่ำกว่า 6 กรัมเพียง 90 ล้านลิตร ในขณะที่ปี 2565 มีเพิ่มขึ้นมากถึง 4,800 ล้านลิตร แสดงให้เห็นว่า การบริโภคน้ำตาลที่สะท้อนจากตัวเลขภาษีค่อนข้างลดลงมหาศาล
“ขณะที่เครื่องดื่มปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 14 กรัมขึ้นไป เมื่อปี 2561 ที่มีการปรับขึ้นภาษีใหม่ๆ มีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 14 กรัม อย่างเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำสี เครื่องดื่มชูกำลัง ชำระภาษีประมาณ 800 ล้านลิตร ปี 2565 มีเหลืออยู่เพียง 9.5 ล้านลิตร และมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนอีกพอสมควรหากมีการขึ้นภาษีระยะ 3 ในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า” อาริยากล่าวสรุป
จากผลการนำเสนอนี้ ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ให้มุมมองว่า “มาตรการภาษีเป็นเส้นทางที่น่าจะมาถูกทาง แต่ผู้บริโภคจะตื่นเต้นในระยะต้น เมื่อเกิดความเคยชินก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ดังนั้นเรื่องการสื่อสารและการบังคับมาตรการการใช้ภาษี เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป”