บำบัดผู้ป่วยจิตเวชด้วย ‘โคริงกะ’ ให้ดอกไม้เป็นยารักษาใจ
“จน เครียด กินเหล้า” วาทะติดหูนี้เกิดขึ้นจากแคมเปญรณรงค์เลิกเหล้าเลิกจนของ สสส. ที่สะท้อนว่าการกินเหล้าเป็นหนึ่งในวงจรของความจน และการก่อโรค แต่คำว่า ‘เครียด’ ที่อยู่ตรงกลางประโยคก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน สะท้อนจากตัวเลขผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มากขึ้นทุกวัน รายงานผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช จากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2558-2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก 1.3 ล้านคน เป็น 2.3 ล้านคน อาการทางจิตเวชเกิดจากสารเคมีสื่อสมองถูกรบกวนจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้สารเสพติด กรรมพันธุ์ การติดเชื้อ เป็นต้น
แนวทางการรักษามีทั้งกินยา และไม่ใช้ยา เพื่อปรับสารเคมีที่หลั่งผิดปกติในสมองให้สมดุล ส่วนการรักษาแบบไม่ใช้ยาจะดูแลเรื่องความเครียด อารมณ์ที่ส่งผลต่อสมองกระตุ้นให้เกิดโรค เมื่อได้พูดคุยกับ สกาวรัตน์ พวงลัดดา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลศรีธัญญา ถึงจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น เธอมองว่า อาจเป็นเพราะการเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าผ่านโซเชียลมีเดีย วิธีการรักษาผู้ป่วยคือรับฟังด้วยหัวใจ นักบำบัดต้องเริ่มที่บำบัดตัวเองก่อนด้วย
และนั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจการบำบัดด้วยการจัดดอกไม้โคริงกะของเธอ กับมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai Foundation) ซึ่งถือเป็นการบำบัดด้วยการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า Horticultural Therapy หรือ Plant Therapy
คอร์สเรียนจัดดอกไม้โคริงกะ มีการเรียนต่อยอดเป็นนักส่งเสริมวิธีถ่ายทอด ทั้งส่งเสริมสุขภาพจิตและบำบัด คือ รักษา ส่งเสริมสุขภาพให้กับคนที่ยังไม่เป็นโรคซึมเศร้า และรักษาหรือฟื้นฟูคนที่เป็นโรคซึมเศร้าแล้ว สกาวรัตน์จึงริเริ่มกิจกรรม ‘จัดดอกไม้จัดใจ’ เมื่อเดือนมกราคม 2565 โดยจัดขึ้นทุกวันจันทร์ เพื่อเป็นทางเลือกในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ผ่อนคลายจากความเครียด ความเบื่อ
การจัดดอกไม้โคริงกะช่วยบำบัดผู้ป่วยซึมเศร้าได้อย่างไร?
สกาวรัตน์อธิบายว่า ระหว่างที่มือทำงาน จะช่วยให้มีสมาธิ จดจ่อ ช่วยการจดจำ เพราะปกติแล้วผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะครุ่นคิดซ้ำไปซ้ำมา การจัดดอกไม้ทำให้สมาธิจดจ่อ แต่ด้วยธรรมชาติของโรคทำให้มีอาการกลับมาเป็นซ้ำใหม่ หรือ recurrence การทำสติบำบัดจะช่วยลดเรื่องนี้
และการจัดดอกไม้โคริงกะ ยังเป็นการบำบัดด้วยธรรมชาติ ผู้จัดจะมีความสุข สดชื่นด้วยความสวยงามของดอกไม้ ทำให้จิตใจอ่อนโยนขึ้น ในวงการจิตเวชถือว่าเป็นการดูแลขั้นพื้นฐาน หลังการจัดดอกไม้พบว่าคลื่นอัลฟ่าในสมอง หรือคลื่นแห่งความสงบของผู้จัดดอกไม้ มีระดับที่เพิ่มขึ้น
ในการเข้าคอร์สจัดดอกไม้นั้น สัปดาห์แรกจะฝึกจัดดอกไม้หนึ่งดอก แล้วให้ผู้ป่วยกลับไปจัดที่บ้าน ถ่ายรูปส่งกลับมา อาทิตย์ที่สองเพิ่มดอกไม้จัดเป็นหนึ่งช่อ และจัดแบบผสมผสานดอกไม้หลากหลายชนิด การเลือกดอกไม้ เลือกแจกัน จะสะท้อนความคิดและจิตใจของผู้จัด สิ่งที่ได้ทำให้ผู้จัดเรียนรู้อารมณ์ของตัวเองไปด้วย
เธอย้ำว่า การจัดดอกไม้ไม่จำเป็นต้องใช้ดอกไม้ที่มีราคาแพง ดอกไม้ใบหญ้ารอบตัวสามารถนำมาจัดลงแจกันได้หมด เพราะโคริงกะไม่ได้กำหนดรูปแบบการจัดที่ตายตัวหรือแบบแผนที่ชัดเจน เน้นการสัมผัสธรรมชาติและชื่นชมความงามของดอกไม้ สามารถทำได้ที่บ้าน เพียงเตรียมอุปกรณ์ง่ายๆ ไม่กี่อย่าง ได้แก่ กรรไกรตัดดอกไม้ ถังใส่น้ำ แจกัน เป็นต้น
เมื่อเตรียมอุปกรณ์แล้วก็เริ่มขั้นตอนการจัด ตามด้วยมองหาพื้นที่สำหรับจัดวางดอกไม้ หาดอกไม้ที่เหมาะสมกับสถานที่ จากนั้นเลือกดอกไม้รอบบริเวณบ้าน โดยใช้ความเชื่อมโยงของดอกไม้กับความรู้สึกของผู้จัด ตัดและใส่ถังน้ำ นำดอกไม้ที่เลือกไว้ใส่ในแจกันที่เตรียมไว้ และดื่มด่ำกับความสวยงามของดอกไม้บนแจกัน
การจัดดอกไม้โคริงกะไม่เพียงบำบัดผู้ป่วยเท่านั้น แต่ได้ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศโรงพยาบาลจิตเวชให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ
“ผู้ชายบางคนหน้าตาดูเคร่งขรึม ยืนมองดอกไม้และชื่นชมว่าสวยจัง ทำให้เขาดูอ่อนโยนขึ้น” สกาวรัตน์เล่าด้วยความเอ็นดูชายผู้ผ่านมาพบดอกไม้ที่วางหน้าลิฟต์ของโรงพยาบาล การบำบัดผู้ป่วยจิตเวชด้วยโคริงกะ คือการให้ดอกไม้เป็นอาหารปรุงจิตใจแทนการให้ยาบำบัด