พลังตลาดเขียว ระบบนิเวศอาหารปลอดภัย เพื่อคนไทยทุกภาคส่วน

สสส. x มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนและภาคีเครือข่าย เดินหน้านวัตกรรม ‘ตลาดเขียว’ สร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยเพื่อคนไทยทุกภาคส่วน

ในทุกวันนี้ผู้คนต่างหันมาให้ใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอาหารการกินเพื่อสุขภาพมากขึ้น ด้วยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ เครื่องปรุง ผัก ผลไม้อินทรีย์ที่มีความปลอดภัย ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงตลาดออร์แกนิก หรือ ‘ตลาดสีเขียว’ แหล่งซื้อขายสินค้าและอาหารปลอดที่ได้รับมาตรฐานการรับรองอย่างมีส่วนร่วม

เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น สสส. จึงร่วมมือกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เดินหน้าผลักดันนวัตกรรมตลาดเขียว สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกรอินทรีย์ ผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงระบบนิเวศอาหารปลอดภัยให้ทุกภาคส่วน ผ่านการจัดงานเสวนา ‘พลังตลาดเขียว ระบบนิเวศอาหารปลอดภัย’ ภายใต้แนวคิดพลเมืองอาหาร ชุมชนอาหาร และระบบอาหารที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ City Farm Market มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ไทรม้า จ.นนทบุรี

cover28 01 Gindee Club กินดี คลับ

นำโดย ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมทั้งคุณวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด นักวิจัย โครงการบูรณาการเพื่อหนุนเสริมยุทธศาสตร์แผนอาหารและร่วมกับภาคีเพื่อการขยายผลระบบอาหารสุขภาวะ สสส. คุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery Market และพัฒนาแพลตฟอร์มระบบตลาดเขียวออนไลน์ คุณทัศนีย์ วีระกันต์ แห่งมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และตัวแทนเครือข่ายตลาดเขียว

ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ตลาดเขียว เป็นนวัตกรรมที่ให้ความรู้ด้านอาหารปลอดภัย ส่งเสริมให้เกิดเข้าใจและเห็นคุณค่าของกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ทั้งยังทำให้เกิดสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมทั้งการมีส่วนร่วมของหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน

โดยภายในปี 2566 สสส.และเครือข่ายภาคี ได้ตั้งเป้าหมายของการทำให้ตลาดเขียวในพื้นที่เติบโต พร้อมขยายออกไปสู่นอกพื้นที่ได้มากขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้เกิดตลาดเขียวด้วยวิธีการพัฒนาตลาดในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดตลาดเขียวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีกว่า 338 แห่ง ให้มีเพิ่มมากขึ้น

มีการสร้างตลาดเขียวควบคู่กับตลาดเขียวออนกราวด์ เปิดมุมตลาดเขียวในมุมหนึ่งของตลาดทั่วไป ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดชุมชนคนตลาดเขียว เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย กำหนดมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สังเกตได้จากโลโก้ตลาดสีเขียวที่ทาง สสส.ได้ร่วมพัฒนาขึ้น

ด้าน ทัศนีย์ วีระกันต์ แห่งมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน อธิบายที่มาของตลาดสีเขียวไว้ว่า เดิมทีตลาดเขียวเรียกว่า ตลาดทางเลือก ซึ่งเกิดจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำในช่วงปี 2528 เกิดการสนับสนุนให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี เพื่อทำตลาดใหม่ พร้อมส่งเสริมระบบการผลิตอาหารปลอดภัยอื่นๆ ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค ท้ายสุดได้พัฒนามาเป็นตลาด (นัด) สีเขียว รูปแบบตลาดที่น่าสนใจที่มีความเป็นกันเอง ผ่านการนัดมาเจอกัน เพื่อจำหน่าย และเลือกซื้ออาหารปลอดภัยอย่างในปัจจุบัน

ในมุมของ คุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery. หนึ่งในผู้จัดตลาดเขียวในกรุงเทพฯ อย่าง Greenery Market ได้กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ได้จัดตลาดเขียวมา พบว่า ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าและอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น แต่ไม่ค่อยมีตลาดเขียวที่เข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นการที่สสส.ลุกขึ้นมาผลักดันตลาดเขียวให้เกิดมากขึ้น จึงเป็นการสร้างตลาดให้กับเกษตรที่ทำอยู่แล้วได้มีพื้นที่จำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น ทางด้านผู้บริโภคก็สามารถเข้าถึงตลาดเขียวได้สะดวกมากขึ้น สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ในราคาที่เป็นธรรม ทั้งยังเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้พูดคุยกันมากขึ้น

นอกจากความน่าสนใจของตลาดเขียวแล้ว คุณวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด นักวิจัย โครงการบูรณาการเพื่อหนุนเสริมยุทธศาสตร์แผนอาหาร และร่วมกับภาคีเพื่อการขยายผลระบบอาหารสุขภาวะ สสส. ได้กล่าวว่า ตลาดเขียวเป็นมากกว่าตลาดทั่วไป เพราะมีเกิดจากพลังหลักสามอย่าง

พลังที่หนึ่ง ‘พลังอาหาร’ ในอาหารมีพลังชีวิตที่ดีต่อสุขภาพทั้งของผู้ผลิตและผู้บริโภค พลังที่สองคือ ‘พลังความร่วมมือ’ ที่เกิดจากการพลังของพลเมือง ทำให้เกิดระบบนิเวศอาหารปลอดภัยและตลาดสีเขียวขึ้นหลายแห่ง พลังที่สามคือ ‘พลังความรู้’ ที่เกิดจากความใส่ใจในทุกขั้นตอนของการผลิตที่ดีในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ พร้อมส่งต่อเรื่องราวที่ดีมากมายสู่เครือข่าย และผู้บริโภคให้ได้เห็นคุณค่าของอาหารปลอดภัยได้ในระยะยาว

พลังดังกล่าว สามารถสร้างตลาดเขียวในรูปแบบที่แตกต่างกันได้มากมาย บางที่เป็นเพียงมุมเล็กๆ ในโรงเรียนจากสองมือของเด็กนักเรียนร่วมกับคุณครู ทำอาหารปลอดภัยจากวัตถุดิบท้องถิ่นจำหน่าย เพื่อเป็นแบบฝึกหัดให้เด็กได้รอบรู้ด้านอาหาร หรือร้านอาหารที่มีมุมแปลงผักปลอดภัยเล็กๆ ไว้ทำเมนูอาหารของตัวเอง แล้วต่อยอดจัดหน่ายผลผลิตให้กับผู้บริโภค รวมไปถึงการรวมตัวกันของผู้ผลิตหลายคน สร้างตลาดเขียวเล็กๆ ในพื้นที่ของตัวเอง

ทุกคนเริ่มได้ ทุกคนทำได้ ด้วยการออกแบบการปรับตัว เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอาหารได้ ตลาดเขียวตลาดเล็กตลาดน้อยก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.