นมแม่ดีแท้ แต่ทำไมอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึงน้อยลง?
ไม่นานมานี้ ในสังคมออนไลน์มีการแสดงทัศนะเปรียบเทียบเรื่องนมแม่และนม formula อย่างกว้างขวางผ่านสื่อทวิตเตอร์ จริงเท็จเพียงใดที่กล่าวว่านม formula นั้นดีกว่านมแม่ เราขอเชิญชวนทุกฝ่ายล้อมวงเข้ามาหาคำตอบในประเด็นนี้ด้วยกัน
นม formula ดีกว่านมแม่แน่หรือ?
นมผงสูตรดัดแปลงทำให้อิ่มท้องและให้สารอาหารก็จริง แต่ไม่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ไม่สามารถกระตุ้นการพัฒนาสมองของเด็กทารกซึ่งเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบ
นม formula มาจากคำเต็มว่า Instant formula หรือนมผงสูตรดัดแปลงสำหรับทารกแรกเกิดถึง 1 ปี ผลิตจากน้ำนมวัวที่มีการปรับลดโปรตีนและเกลือแร่ เติมวิตามินและสารอาหารต่างๆ เพื่อให้มีคุณค่าและสารอาหารในปริมาณใกล้เคียงกับนมแม่ สามารถทดแทนนมแม่ได้บางครั้ง แต่ไม่ควรนำมาเลี้ยงทารกแทนนมแม่ เพราะจะก่อให้เกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเด็กในระยะยาว
นมแม่สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้จริงหรือ?
ในน้ำนมแม่มีสารภูมิคุ้มกันเข้มข้นที่เรียกว่า น้ำนมทอง (Colostrum) ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในทารก ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดอัตราการท้องเสียและลดการเสียชีวิตในเด็กทารก ดังนั้นทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ หรือได้รับไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุเบื้องหลังการเสียชีวิตของวัยทารกถึงร้อยละ 44
มีการวิจัยเรื่องนี้กับเด็กทารก โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้ดื่มนมแม่อย่างเดียว กลุ่มที่ 2 ให้ดื่มนมแม่เสริมน้ำ กลุ่มที่ 3 ให้ดื่มนมแม่และสารอาหารอื่นๆ กลุ่มที่ 4 ไม่ให้ดื่มนมแม่เลย ปรากฏว่า เด็กทารกกลุ่มที่ 2, 3 และ 4 มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าเด็กทารกที่ดื่มนมแม่อย่างเดียวเป็นอัตรา 1.7 เท่า, 4. 58 เท่า และ 8.66 เท่าโดยลำดับ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทุกประเทศสนับสนุนให้ทารกดื่มนมแม่อย่างกว้างขวาง
นมแม่ช่วยลดอัตราการเกิดโรค NCDs หรือโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมจริงหรือ?
เด็กที่ได้รับนมแม่อย่างพอเพียง ในวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน และเสริมด้วยอาหารอาหารตามวัยควบคู่ไปกับนมแม่ จะได้รับการปลูกฝังเรื่องพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง ต่างจากเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่ อาจกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ มีพฤติกรรมเลือกกิน เช่น กินอาหารตามใจปาก ปรุงรสชาติด้วยเกลือ น้ำตาล ไขมัน มากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรค NCDs ได้ง่าย (กลุ่มโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ) เมื่อเติบโตขึ้น
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเด็กทารกที่ไม่ได้รับนมแม่อย่างพอเพียง เป็นผลพวงจากการฝากเลี้ยงกับญาติผู้ใหญ่ หรือพี่เลี้ยง เด็กขาดความอบอุ่น ทำให้มีพฤติกรรมกินยาก กินข้าวแล้วอม ไม่ยอมเคี้ยว ไม่ยอมกลืน กินแล้วเขวี้ยง ไม่กินผัก ฯลฯ ผู้เลี้ยงที่ไม่เข้าใจพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก จะใช้วิธีดุ ขู่ หรือตามใจ เพื่อให้เด็กยอมกิน สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่ไม่พึงประสงค์ ตลอดจนทิ้งปมในใจให้กับเด็กซึ่งกำลังสร้างตัวตนในช่วง 3 ขวบปีแรก
นมแม่มีผลต่อการพัฒนาสมองจริงหรือ?
จากการศึกษาพบว่า การเลี้ยงดูในช่วง 1,000 วันแรกของมนุษย์ หรือแรกเกิดถึง 3 ขวบปี ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมอง และร่างกายถึง 80% ส่งผลต่อการมีสุขภาพดีไปตลอดชีวิต ทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน จะมีเยื่อหุ้มใยประสาทหนากว่าทารกที่ได้รับนมผสมอย่างเดียว ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีกว่า ทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก จะช่วยเพิ่ม IQ 3.4 จุด
การกินนมแม่ช่วยเพิ่มปริมาณเนื้อสมองสีเทา (Gray Matter) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ และการให้ความรู้สึก ทั้งประสาทสัมผัส ความนึกคิด ความจำ การเห็น การพูด การได้ยิน ซึ่งทารกแรกเกิดถึง 3 ขวบปี จะมีการพัฒนาสมองในส่วนนี้มากที่สุด การจะเร่งพัฒนาสมองตอนโตก็นับว่าสายไปเสียแล้ว
แม่ต้องรวยเท่านั้นหรือ จึงจะสามารถเก็บนมปั๊มไว้ให้ลูกกินได้?
จริงอยู่ที่เครื่องปั๊มนมมีราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่นขึ้นอยู่กับยี่ห้อ แต่เครื่องปั๊มนมราคาหลักร้อยถึงหลักพันต้นๆ ก็สามารถใช้การได้ดีแล้ว เปรียบเทียบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมผงดัดแปลง คุณแม่ต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 3,000-5,000 บาท ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงประหยัดและได้ประโยชน์คุ้มกว่า
Fed is the best กำลังจะมาแทน Breast is the best จริงหรือ?
ที่กล่าวว่าแคมเปญ ‘Breast is the best’ ซึ่งรณรงค์ส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมจากเต้ากำลังจะถูกปลดระวาง เปลี่ยนเป็น ‘Fed is the best’ เพราะสภาพสังคมทำให้แม่เหน็ดเหนื่อย ต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน การรณรงค์ว่านมแม่ดีที่สุดอาจจะทำให้แม่หลายคนต้องแบกรับความรู้สึกผิด แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุที่จะนำมากล่าวว่า ‘นมแม่เป็นแค่ Myth’ หรือตำนานที่เล่าขานกันต่อๆ มา เพราะนมแม่เป็นอาหารปลอดภัย อาหารยั่งยืน อาหารที่มีคุณค่าที่สุดของมนุษย์
สังคมต้องช่วยประคับประคองแม่ ไม่ใช่บอกว่านมแม่ไม่ดี
สาเหตุหลักที่อาจจะทำให้นมแม่มีคุณภาพลดลง มาจากการที่แม่ไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนซึ่งจำเป็นต่อการผลิตน้ำนมให้ลูก
สิ่งที่สังคมควรต้องหันมามองและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน คือการส่งเสริม สนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงดูทารกได้อย่างมีคุณภาพ ที่ทำงานทุกแห่งควรจัด ‘มุมแม่และเด็ก’ ให้แม่มีมุมสำหรับการเตรียมน้ำนมให้กับลูกเมื่อกลับไปถึงบ้าน และสามารถทำงานได้อย่างไม่ต้องกังวล
คุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21
องค์การยูนิเซฟ ได้นำเสนอแนวทาง Early Childhood Education & Care : ECEC (UNICEF ค.ศ.1991) ต่อมาเรียกว่า EDC : Early Development of Childhood ซึ่งบ่งบอกผลลัพธ์ในการเลี้ยงดูเด็กในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมี 8 ด้าน ได้แก่ สุขภาพดี มีอารมณ์และจิตใจดี มีทักษะทางสังคม มีสติปัญญาดี มีความสามารถในการใช้ภาษาที่สองอย่างแคล่วคล่อง มีความคิดสร้างสรรค์ มีจริยธรรม มีสุนทรียะพหุวัฒนธรรม ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้คือคุณสมบัติอันพึงมีของประชากรโลก (Global Citizen)
องค์การอนามัยโลก บรรจุการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก เป็นตัวชี้วัดด้านโภชนาการระดับโลก (Global Nutrition Targets 2025) ช่วยเร่งรัดการก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในขณะที่ทุกวันนี้อัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง
สังคมพลาดอะไรบ้าง หากทารกไม่ได้กินนมแม่?
หยุด ‘ด้อยค่านมแม่’ ด้วยการบอกว่านมแม่เป็นสัญญะของแม่อันประเสริฐ ซึ่งเป็นการยกย่องแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนม และขณะเดียวกันก็เป็นการกดข่มแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา ในทางปฏิบัติคือการมีสถานรับเลี้ยงเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี พร้อมพี่เลี้ยงที่มีความรู้ ความเข้าใจในพัฒนาการของเด็ก และมีความใส่ใจในการเลี้ยงดูเด็ก เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความระแวดระวังอย่างสูง
เพราะรางวัลของแม่คือการสร้างประชากรคุณภาพให้กับสังคม มิใช่การรับโล่รางวัลแม่ดีเด่นเพราะมีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานกว่าคนอื่น แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจบิดเบือนได้ ก็คือไม่มีสารอาหารใดที่มีคุณค่าไปกว่านมแม่ ที่สร้างสายสัมพันธ์อันอบอุ่นเชื่อมระหว่างแม่กับลูก สร้างปราการความปลอดภัย เตรียมการเติบโตให้ทารกน้อยได้อย่างมีคุณภาพ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมต้องร่วมมือกันประคับประคองแม่ อย่าทอดทิ้งแม่และเด็กทารกให้เผชิญความเหน็ดเหนื่อยในการเลี้ยงดูบุตรอย่างเดียวดายท่ามกลางปัญหาสังคมรอบด้าน เพราะนมแม่คือคำตอบของทุกการสร้างประชากรคุณภาพให้กับโลกใบนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจากโครงการ ‘สร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล’ โดยมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.