รักษาอาหารให้เป็นสมบัติร่วม เพื่อรักษาลมหายใจ และปลุกให้รัฐเห็นความสำคัญ
คุณคงเคยได้ยินเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ ที่เล่าเรื่องราวของมนุษย์คู่แรกถูกขับจากสวรรค์เพียงเพราะกินแอปเปิลลูกเดียว
อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียน-นักแปล ผู้มีความสนใจด้านอาหาร ได้หยิบยกขึ้นมาเล่าในเสวนาหัวข้อ อาหารคือสมบัติร่วม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลอาหาร ที่จัดโดย Connecting the commons (CTC) และภาคีเครือข่าย (ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชียแปซิฟิก) เพื่อกำลังบอกว่า การกินสามารถเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ได้
นักเขียนผู้สนใจด้านอาหารอย่างยิ่งยวดคนนี้ ให้มุมมองว่า การกินเป็นสิ่งที่มนุษย์บังคับไม่ได้ ร่างกายมนุษย์แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับอาหาร ไม่สามารถสั่งให้กระเพาะย่อยอาหารได้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ ในขณะเดียวกันอาหารก็เปรียบเสมือนยา สิ่งนี้ถูกมองว่าเป็นพลัง แต่อาหารก็อ่อนแอด้วยเช่นกัน เพราะอาหารไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องทำหน้าที่ปกป้องอาหารและพื้นที่ทางอาหาร
“ทุกครั้งที่ที่ดินทำกินหายไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง เรามักได้รับคำตอบจากรัฐว่าอาหารสามารถหาซื้อได้จากทุกที่ โดยไม่รู้สึกว่าการหายไปของที่ดินทำกินซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารจะกระทบกับชีวิต”
จริงอยู่ว่าความคิดเสรีนิยมใหม่นั้นทำให้โลกก้าวหน้า แต่เป็นความคิดที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน วัตถุดิบอาหารที่เป็นสิ่งร่วมของผู้คนในสังคม ถูกบุคคลภายนอกเข้าไปใช้ทรัพยากรด้วยความคิดเสรีนิยมใหม่ วัตถุดิบที่ดีถูกตั้งราคาสูง แต่ทุกอย่างไม่ได้กลับสู่ชุมชน เป็นปัญหาของเสรีนิยมใหม่ที่เมื่อไหร่ก็ตามหากมองเห็นโอกาสก็จะเข้าไปฉกฉวย
“การที่เรามาทำเรื่องอาหาร ทำให้เราได้เจอคนที่ให้คุณค่าด้านราคาเต็มไปหมด แต่เอาเงินเหล่านั้นเข้ากระเป๋าตัวเอง อาหารซึ่งเป็นสิ่งร่วมจึงไม่งอกงาม ไม่ได้ถูกปกป้องและไม่ถูกขยาย หลายคนเข้ามาใช้สิ่งร่วม เช่น หมู่บ้านหนึ่งมีน้ำผึ้งดีมาก แต่น้ำผึ้งถูกขายออกไปจนคนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ การปกป้องสิ่งร่วมของชุมชนหายไป เพราะพลังของชุมชนไม่เข้มแข็งพอ
“ถ้าเราจะทำงานกับชุมชนเรื่องสิ่งร่วม ต้องมีความรู้สึกอยากแลกเปลี่ยนกันอย่างเท่าเทียมและโปร่งใส มองเห็นจุดอ่อนและจุดแข็ง เช่น จุดอ่อนของชุมชนอาจเป็นเรื่องเทคโนโลยี ส่วนจุดอ่อนของเราคือไม่มีความรู้เรื่องวัตถุดิบ ทำอย่างไรจะทำงานประสานร่วมกันได้ และต้องเอื้อเฟื้อดูแล ผลักดันชุมชนที่ครอบครองสิ่งร่วมด้วย” อนุสรณ์อธิบาย
สำรวย ผัดผล เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน พูดถึงการดูแลทรัพยากรด้วยหลักคิดแบบตะวันออก เป็นการดูแลด้วยกฎกติกาความเชื่อ ผู้ปลูกจะเคารพธรรมชาติ เคารพจิตวิญญาณพืช ในอดีตชาวนาเคารพแม่โพสพ แม่ธรณี แม่คงคา แต่ปัจจุบันถูกควบคุมด้วยกฎหมาย การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ กลายเป็นการกีดกันที่ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะเดียวกันผู้ได้รับผลประโยชน์จากนอกพื้นที่ก็ใช้ทรัพยากรอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ควบคุมโดยคนอื่น ชุมชนเจ้าของทรัพยากรจึงตกอยู่ในภาวะสมยอม
ส่วนในระดับแปลงพืชก็ถูกควบคุมด้วยเมล็ดพันธุ์ที่กวาดเก็บเข้าศูนย์กลาง โดยอ้างว่า ‘เพื่อการเข้าถึง’ แต่ย้อนแย้งด้วยการริบออกจากเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้ที่เข้าถึงกลับเป็นนักวิชาการ มหาวิทยาลัย บริษัท เมล็ดที่ส่งกลับให้เกษตรกรกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ การเข้าถึงพื้นที่และเมล็ดพันธุ์ก็ถูกจำกัดลงเรื่อย ๆ
“กฎกติกากีดกันคนในชุมชนไม่ให้เข้าถึง กลายเป็นว่าคนที่เข้าถึงเป็นบุคคลอื่น ของบางอย่างเมื่อไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกรบางครั้งก็สูญพันธุ์ การส่งเมล็ดพันธุ์เข้าศูนย์กลางเป็นการดึงเมล็ดพันธุ์ออกจากมือผู้ปลูก ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตชาติพันธุ์พื้นเมืองภาคเหนือ ถูกลบด้วยความเป็นเมือง ผสมผสานวิธีแบบใหม่ ทั้งที่พื้นที่อาหารเป็นพื้นที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาโดยเฉพาะผู้หญิง ที่ส่งทอดจากแม่สู่ลูก”
สำรวยเสนอทางออกของการฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยการอนุรักษ์พันธุกรรมในชุมชนโดยการฟื้นฟูระบบนิเวศที่โยงมาสู่เศรษฐกิจ ทั้งแม่น้ำ ป่า ซึ่งมีความสำคัญมาก และคืนอำนาจกลับไปที่ชุมชน รัฐต้องอ่อนน้อมถ่อมตนและกลับไปหาทางออกร่วมกับชุมชน เขาแนะว่าวิถีแบบทะเลต้องถามคนทะเล เช่นเดียวกับวิถีคนดอยก็ต้องถามคนดอย
ขณะที่อาข่ารุ่นใหม่ซึ่งเคยใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และหวนคืนบ้านเกิดในจังหวัดเชียงรายอย่าง สุภาพร หมื่อแล หรือ ‘บิว’ เล่าสิ่งที่เธอกำลังพยายามรื้อฟื้นภูมิปัญญาจากแม่และบรรพบุรุษว่า ในอดีตการเก็บเมล็ดพันธุ์แทบจะเป็นวิถีปฏิบัติของผู้หญิงชนเผ่าอาข่า ไม่ว่าในยามสงคราม หรือการย้ายถิ่นฐาน เมล็ดพันธุ์คือของมีค่าและสำคัญที่สุด
“สมัยก่อนชนเผ่าอาข่ามีการย้ายถิ่นฐานอยู่เรื่อยๆ เมล็ดพันธุ์จึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการไม่อดตาย แน่นอนว่าการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ไม่ได้เป็นการแบ่งเพื่อหวังผลประโยชน์ แต่ปัจจุบันเริ่มมีบุคคลภายนอกเข้ามาฉกฉวยโอกาสมากขึ้น
“พ่อแม่อยากให้ลูกมีการศึกษา ส่งเข้าไปเรียนในเมือง คนที่อยู่ในหมู่บ้านล้วนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ รวมถึงคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่มีความรู้ จึงมีโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลภายนอกที่นำเมล็ดพันธุ์มาให้คนในชุมชนปลูก แล้วการันตีราคาให้ แต่เมล็ดพันธุ์ที่เอามาให้ไม่สามารถเก็บเมล็ดเพื่อไปปลูกต่อได้ เพราะมีการตัดต่อพันธุกรรมมาเรียบร้อยแล้ว
“สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือ ต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ของเขาเพื่อมาปลูกต่อ เมื่อก่อนเรามีเมล็ดข้าวโพดเป็นของตัวเอง เขากลับไม่รับซื้อ ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เล็งเห็นถึงปัญหาเหล่านี้ว่าอาจส่งผลเสียในอนาคต และปัจจุบันเราเริ่มมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ”
บิวบอกว่า การเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปนั้นขัดกับวิถีชีวิตชาติพันธุ์ และเป็นเหตุผลให้วิถีอื่นๆ เปลี่ยนไปด้วย เช่น การรักษาเมล็ดพันธุ์ด้วยการรมควัน ชาวอาข่าจะเก็บเมล็ดพันธุ์ใส่น้ำเต้าแล้วนำไปแขวนหน้าเตาไฟ แต่ครัวรูปแบบเดิมได้เปลี่ยนไปจากการกำหนดให้สร้างบ้านอย่างถาวร และทุกวันนี้จะไปเอาฟืนจากไหนในเมื่อถูกห้ามตัดไม้ด้วย
“หมู่บ้านที่เราอยู่ชื่อหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ ไม้เกี๊ยะซึ่งเป็นหัวเชื้อก็ตัดไม่ได้ เราถูกบังคับให้เปลี่ยนชีวิต สิ่งที่เรารักษาได้คือจิตวิญญาณของความเป็นชนเผ่า และพยายามรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดในเชิงปฏิบัติ ภายนอกอาจไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน แต่เราก็พยายามรื้อฟื้นให้ทุกคนเห็นคุณค่า”
เทศกาลอาหารที่จัดขึ้นนี้ อนุสรณ์มองว่าเป็นการต่อสู้ในรูปแบบกิจกรรม เป็นการกระตุ้นลมหายใจที่กำลังแผ่วลง เพื่อรักษาอาหารซึ่งเป็นสมบัติร่วมให้มีชีวิตต่อไป เป็นวิธีที่ทำเพื่อรักษาลมหายใจ ไม่ใช่การต่อสู้บนความโกรธแค้น แต่เป็นการปลุกให้รัฐเห็นถึงความสำคัญ