อาหารคือ ‘สมบัติร่วม’ และมนุษย์คือผู้อารักขาธรรมชาติ
เทศกาลอาหาร ผู้คน วัฒนธรรมและระบบนิเวศ จัดโดยโครงการ Connecting the Commons (CTC) และภาคีเครือข่าย (ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชียแปซิฟิก) เมื่อวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ณ มูลนิธิเสฐียรเศศ-นาคะประทีป สวนเงินมีมาเจริญนคร คลองสาน กิจกรรมขับเคลื่อนความยั่งยืนทางอาหาร สื่อสารความหมายของ ‘อาหารคือสมบัติร่วม’ กิจกรรมล้อมวงกินอาหารร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารแต่ละพื้นที่ ทำให้เมนูบนโต๊ะอาหารกลางวันนี้กินอิ่มด้วยความลึกซึ้งต่างจากมื้ออื่น
อาหารคือ สมบัติร่วม-มรดก-การแบ่งปัน
‘แกงอ่อมไก่ผักรวมสินสมบูรณ์’ ใส่ผักที่ปลูกในชุมชนสินสมบูรณ์ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ปลูกในอดีตพื้นที่โรงเรียนร้างมานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันชาวบ้านร่วมมือกันปรับแต่งพื้นที่ให้เป็นสวนผักประจำหมู่บ้าน
‘แกงแค’ อาหารพื้นถิ่นภาคเหนือที่คนโบราณมักกินในช่วงปลายฝนต้นหนาว เพื่อปรับสมดุลร่างกาย พืชผักที่นำมาใส่ในแกงแค สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอาหาร การจัดการดินน้ำป่าของชาวน่าน
‘โรลบุปผาสวรรค์’ รังสรรค์จากดอกไม้กินได้ที่ปลูกในบริเวณบ้านเรียนสวนผองเพื่อน จังหวัดบุรีรัมย์ บ้านเรียนที่ใช้การปลูกผัก การทำอาหาร เปลี่ยนชีวิตของเยาวชนที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือประสบภาวะซึมเศร้าจากการถูกกระทำในครอบครัว
‘ลาบอาข่า’ เมนูอาหารดั้งเดิมท้องถิ่นชาติพันธุ์อาข่า จังหวัดเชียงราย รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะปรุงจากวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่าง สะระแหน่ ผักแพว ผักชีฝรั่ง ผักชี พริก ใบมะกรูด ทีเด็ดคือเปลือกต้นมะกอก และรากชู พืชท้องถิ่นรสชาติซ่า เมื่อสุกจะรสหวาน ชาวอาข่าจะใช้แทนผงชูรส ช่วยให้อาหารกลมกล่อม เป็นวัฒนธรรมร่วมหลายชนเผา วัตถุดิบทุกอย่างคลุกเคล้ารวมกันช่วยตัดสัมผัสความมันจากเนื้อหมูไม่ให้มันเยิ้ม เมื่อห่อใบตองย่างด้วยเตาถ่านแบบดั้งเดิม ก็ทำให้บรรยากาศภายในงานอบอวลไปด้วยกลิ่นควันอ่อนๆ ให้อารมณ์เหมือนอยู่เชิงดอย
‘หอยกัน’ หอยที่เติบโตในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดพังงา สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่สั่งสมภูมิปัญญาของชาวเล ส่งต่อแลกเปลี่ยนไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางอาหารร่วมกัน
จากชายเล สู่ทุ่งกุลา ถึงป่าต้นน้ำ
อรวรรณ หาญทะเล กลุ่มสตรีชาวเลพังงา ชาวมอแกนผู้ขนหอยกันจากพังงามาให้เราชิมวันนี้ บรรยายภาพให้เห็นทะเลบ้านของเธอว่า “พี่น้องชาวเลเชื่อว่าโลกนี้ ไม่ว่าทะเล ดิน น้ำ อากาศ เป็นของทุกคน จึงให้ความสำคัญแก่พื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ภูเขา ต้นไม้ ลำธาร นี่คือสมบัติของพวกเรา สักวันเราก็ต้องตายไป เมื่อมีใช้มีกินก็ต้องรักษาสมบัติไว้ให้ลูกหลาน”
ชาวเลเสริมว่า มากกว่าสมบัติร่วมแล้ว สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้คือ ‘ภูมิปัญญาสาธารณะ’ ในยุคที่คนห่างหายจากธรรมชาติ ไม่รู้จักปลา ไม่รู้จักเสียงลม ไม่รู้จักดวงดาว ไม่รู้จักทะเล ไม่รู้ว่าเจอปลาแล้วจะจับปลาอย่างไร การจับปลาเป็นสมบัติทางภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่สมควรได้รับการถ่ายทอด ถ้าเกิดไม่มีภูมิปัญญา หอยนับพันตัวในดินก็คงหาไม่พบ เพราะไม่รู้จักวิธีหา
สมบัตินี้ถูกแบ่งไปถึงพี่น้องในภาคอื่นๆ ด้วย “ช่วงโควิดเราทำโครงการข้าวแลกปลา เราส่งปลาให้พี่น้องภาคอีสานกับพี่น้องชนเผ่าภาคเหนือแลกข้าวเหนียว เมล็ดพันธุ์ นำทรัพยากรที่ทุกคนต่างมีมาแลกกันแทนเงิน การแลกกันบ่งบอกว่าชุมชนมีทรัพยากรอย่างเพียงพอ ถ้าเราซื้อขายกันไม่ได้ เราก็สามารถส่งต่อและแลกเปลี่ยนกันได้ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันอย่างอื่นได้อีกด้วย”
“ทะเลที่ทุกคนเคยไปมันสวยงาม บ้านเราอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน ทุกวันนี้ป่าชายเลนเยอะมาก แต่กำลังถูกทำลาย หมู่บ้านถูกเอกชน หรือหลายส่วนถมที่ดินทับป่าโกงกาง ไม่ใช่แค่แหล่งอาหารของเรา แต่ยังเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงอนุบาลสัตว์ทะเลหลายชนิด เป็นพื้นที่ป้องกันภัยพิบัติ ทั้งสึนามิที่ผ่านมาหลายปี พายุอีกมากมาย แต่วันนี้พื้นที่นั้นกำลังหายไป พื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหารของพวกเราก็กำลังจะหายไปเหมือนกัน” หญิงชาวเลเล่า
มนุษย์ คือผู้อารักขาสมบัติร่วม
วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้บุกเบิก อินี่ (INI Innovation network international) ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม สร้างภาคีเครือข่าย ขยายภาพของคำว่า ‘สมบัติร่วม’ ว่าเป็นทั้งเรื่องอาหาร เรื่องความรู้ เป็นสิ่งที่สั่งสมกันมา
“สมบัติร่วมอยู่บนผืนดิน ผืนน้ำ อากาศ ในระบบนิเวศธรรมชาติ ถ้าเราคิดว่าเรามีสมบัติร่วม เราจะใส่ใจจากหลักคิดของการเป็นเจ้าของร่วมกัน การปลูกพืชลักษณะการค้ามากเกินไป เอาผลผลิตในระยะสั้น หวังผลกำไร รวยไว้ก่อน นั่นคือสมบัติส่วนตัว มันไม่ยั่งยืน
“แต่สมบัติร่วมจะใช้ร่วมกันและคิดถึงระยะยาว ส่งต่อเป็นภูมิปัญญาร่วมให้ลูกหลาน รวมถึงแลกสมบัติระหว่างคนต้นน้ำและคนปลายน้ำ และแบ่งสมบัติกันในยามวิกฤติของชาวนากับชาวประมง วิถีนี้ทำให้เห็นว่าข้าวปลาเป็นมากกว่าอาหารกินให้อิ่มท้อง”
ราชาโคปาล พี.วี. นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในที่ดิน ผู้ก่อตั้ง Ekta Parisha จากประเทศอินเดีย กล่าวว่า การเชื่อมโยงผู้คนในเมืองและนอกเมืองเข้าด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นงานเชิงจิตวิญญาณ คือการมองมนุษย์ในฐานะผู้ปกปักษ์โลก
“คนคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่คนเป็นเจ้าของธรรมชาติหรือโลก มนุษย์ไม่ใช่เจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง เอาแต่ตักตวงประโยชน์ที่อยู่ในธรรมชาติเพียงเท่านั้น แต่เรากำลังวางบทบาทของมนุษย์ในฐานะผู้ดูแลรักษาธรรมชาติร่วมกัน ไม่ว่าคนนอกเมืองหรือในเมืองมีหน้าที่อารักขาให้โลกดำเนินต่อไปได้”