#ทางเลือกสุขภาพ เครื่องมือเลือกซื้ออาหารง่ายๆ ภายใน 6 วินาที
“เคยได้ยินไหมว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและอาหารประมาณ 6 วินาที ซึ่งการตัดสินใจด้วยความเคยชินนี่ล่ะ ที่อาจจะทำให้เรามองข้ามอาหารที่มีประโยชน์ไป ตราบใดที่เรายังมีความสุขกับการกินให้อร่อยมากกว่ากินเพื่อสุขภาพ”
รองศาสตราจารย์ ดร. วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตโภชนการและการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล หยิบยกตัวเลขที่มาจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และผลการศึกษาทางการตลาด ก่อนจะพูดคุยถึง ‘สัญลักษณ์ทางโภชนาการ’ ที่จะช่วยให้คนไทยตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีสุขภาพได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ในเมื่อ ‘ของอร่อย’ แปรค่าเท่ากับ ‘ความสุข’ สำหรับบางคน แต่อาหารรสชาติดีก็อาจเป็นหลุมพรางที่ทำให้เราเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ ฯลฯ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับ ‘ปริมาณ’ ของสิ่งที่เรากินเข้าไปในแต่ละวัน เช่น น้ำตาล โซเดียม และไขมัน ส่งผลให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความจำเป็นและเก็บสะสมตามอวัยวะต่างๆ
นักโภชนาการจึงออกแบบ ‘เครื่องมือ’ ที่ช่วยให้ตัดสินใจภายในไม่กี่วินาที ก็เพียงพอแล้วที่เราจะเลือกกินให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย การสื่อสารผ่าน ‘ฉลากโภชนาการ’ จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเน้นเข้าใจง่าย ลดความซับซ้อน และเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม และภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรให้เหมาะสม
หนึ่งในนั้นคือสัญลักษณ์ ‘ทางเลือกสุขภาพ’ (Healthier Choice) ที่ระบุปริมาณน้ำตาล โซเดียม และไขมันของผลิตภัณฑ์ 1 หน่วย ต้องไม่เกินต่อความต้องการของร่างกายตามสูตร 6:6:1 หมายถึง ปริมาณน้ำตาล (6 ช้อนชา) ไขมัน (6 ช้อนชา) และเกลือ (1 ช้อนชา) ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน จัดเป็น ‘สูตรรสกลมกล่อมห่างไกลโรค’ เพื่อสุขภาพดี และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
“สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาอันสั้น เพราะการบริโภคที่ดีคือ ‘กินเพื่อสมดุล’ พูดให้เข้าใจง่ายคือ ลดหวาน มัน เค็ม เติมเต็มผักและผลไม้มากขึ้น .
“เพราะทุกวันนี้เรากินอาหารด้วยความเคยชิน บวกกับสิ่งแวดล้อมทางอาหารของคนทั่วโลกเริ่มไม่เอื้อประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้คนหันมาเลือกซื้ออาหารจานด่วน อาหารอุตสาหกรรม หรืออาหารแช่แข็งกันมากขึ้น
“เราจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจที่ดีและกระตุ้นให้ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แทนที่จะหมดเงินกับการรักษาสุขภาพในอนาคต แล้วยังช่วยให้ภาครัฐลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพอีกด้วย”
โครงการ ‘กลุ่มอาหารทางเลือกสุขภาพ’ ได้แบ่งประเภทผลิตภัณฑ์ออกเป็น 13 กลุ่มและ 40 ชนิดอาหาร เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ขอขึ้นทะเบียนกับโครงการถึง 2,582 ผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาด 1,375 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบอีกครั้งทุก 2-3 ปี
“กว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา เราได้รับความร่วมมือจากอาหารกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นการขอความร่วมมือมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้แบรนด์เพิ่มเมนูทางเลือกหรือปรับสูตรใหม่ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เรายังเคลื่อนไหวไปสู่กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ให้ความร่วมมือในการลดน้ำตาลหรือความหวาน เช่น Café Amazon, All Café ที่บางเมนูได้ปรับสูตรใหม่ ภายใต้มาตรฐานของนักโภชนาการ และได้รับโลโก้ทางเลือกสุขภาพจากเรา เวลาที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาขอขึ้นทะเบียน เราจึงต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดภายใต้เกณฑ์มาตรฐานที่มีคุณภาพ”
แม้นักโภชนาการและหลายภาคส่วนจะทุ่มเทในการขับเคลื่อน ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ ให้กระจายสู่คนทุกกลุ่มในประเทศไทย แต่ก็ยังทำได้ในกลุ่มอาหารอุตสาหกรรม ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมกินสตรีทฟู้ดมากกว่า
“เราก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการ อยากให้คำนึงถึงสุขภาพของลูกค้าด้วยการเพิ่มเมนูที่ปรับสูตรให้อร่อยและดีต่อสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องคำนึงถึงการกินเพื่อสุขภาพด้วยเช่นกัน”
หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่า โลโก้สัญลักษณ์ ‘ทางเลือกสุขภาพ’ มักจะอยู่คู่กับฉลากโภชนาการ ‘GDA’ หรือ Guideline Daily Amount บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แสดงค่าพลังงานเป็นกิโลแคลอรี ประกอบด้วย พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เพื่อให้เราสามารถคำนวนปริมาณแคลอรี หรือเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมของผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งยังช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น แต่ก่อนอื่นเราควรจะรู้ปริมาณแคลอรีที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เพื่อนำมาประมวลผลร่วมกับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมต่างๆ เช่น การกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย เป็นต้น
“ไม่ใช่ว่าเรากินหวาน มัน เค็ม หรือของทอดไม่ได้เลย แต่มันขึ้นอยู่กับปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน บางคนอาจจะต้องการพลังงานเฉลี่ย 1,500 กิโลแคลอรี ส่วนคนที่ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมแอ็กทีฟสูงก็อาจจะต้องการพลังงานถึง 2,000 กิโลแคลอรี
“ถ้าคุณเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพควบคู่กับ GDA ก็จะช่วยให้คำนวนปริมาณแคลอรีและพลังงานที่ร่างกายต้องการได้ง่ายขึ้น แล้วยังช่วยให้คุณกินน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม แต่ถ้าคุณกินอาหารสตรีทฟู้ดก็อยากให้สังเกตว่า อาหารเค็มไปมั้ย? หวานไปมั้ย? กินของทอดมากไปหรือเปล่า? นี่เป็นส่วนที่เราพยายามขับเคลื่อนการสื่อสารให้ลงไปถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม” รองศาสตราจารย์ ดร. วันทนีย์ กล่าวทิ้งท้าย เพื่อให้เรานำไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายดายขึ้น
อย่างไรก็ดี สัญลักษณ์ ‘ทางเลือกสุขภาพ’ อาจจะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย แต่เราก็ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย และการผ่อนคลายจิตใจให้สมดุล โดยมีสัญลักษณ์ทางโภชนาการเหล่านี้เป็นหนึ่งใน ‘เครื่องมือ’ ที่จะเปลี่ยนระยะเวลาสั้นๆ เพียง 6 วินาที ให้เป็นการตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น