ลดโรคคนไทย ด้วยกลไกภาษีความเค็ม
เติมน้ำปลาทุกครั้งที่สั่งก๋วยเตี๋ยว ราดพริกน้ำปลาบนกะเพราไข่ดาว ยกซดน้ำซุปบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีหมดถ้วย ใครมีพฤติกรรมเหล่านี้ยกมือขึ้น รู้หรือไม่ว่า คุณกำลังรับโซเดียมสูงเกินความต้องการของร่างกาย และการบริโภคโซเดียมที่สูงเกินนี้ ทำให้เกิดความพยายามที่จะผลักดัน ‘#ภาษีความเค็ม’ เพื่อช่วยคนไทยห่างไกลจากโรค
งานเสวนาออนไลน์ เรื่อง ‘ภาษีความเค็ม: ช่วยคนไทยลดเกลือ ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง’ จัดโดย MUSEF Conference มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีความเค็ม แล้วเรื่องนี้สำคัญอย่างไร
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าสถานการณ์การเกิดโรคของคนไทยที่เปลี่ยนไปจากอดีตที่คนส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อจากเชื้อโรค อาทิ อหิวาตกโรค วัณโรค แต่ปัจจุบันพบว่า 3 ใน 4 คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (non-communicable diseases) ซึ่งมักป่วยตามแพ็กเกจ เริ่มจากเบาหวาน ความดัน ไขมัน มะเร็ง ปอด หัวใจ
โดยล้วนเกิดขึ้นจากพฤติกรรม ตั้งแต่การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีกิจกรรมทางกายน้อยลง และมลพิษทางอากาศ ไม่เพียงชีวิตที่ต้องสูญเสีย แต่รัฐยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายกับสวัสดิการหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นงบประมาณมหาศาล
“อาหารเป็นเรื่องสำคัญ การกินที่มากเกินจำเป็นทำให้เกิดโรคอ้วน อีกเรื่องคือคุณภาพอาหาร เรากินทั้งหวาน มัน เค็ม วันนี้เราอยากคุยเรื่องเค็ม ซึ่งก่อให้เกิดโรคมากมาย ที่เราคุ้นเคยคือโรคไต และหลักการควบคุมความหวานสามารถนำมาใช้ควบคุมเรื่องเค็มได้ด้วย”
เกลือที่มองไม่เห็น คนไทยกินความเค็มแฝง
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนไทยกินอาหารเค็มมากกว่าความต้องการ เฉลี่ยแล้วมากกว่า 2 เท่า จากปกติที่แนะนำให้กินไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม โดยภาคใต้เป็นภาคที่กินเค็มมากที่สุด อยู่ที่ 4,000 มิลลิกรัม ส่วนภาคอื่นๆ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,600 มิลลิกรัม
“คนไทยได้โซเดียมมาจากเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว คิดเป็นความเค็มโดยตรง 15-20% อีก 80% มาจากเครื่องปรุง ทั้งผงชูรส ซุปก้อน และโซเดียมที่แฝงอยู่ในสารกันบูด ผงฟู ซึ่งพบเป็นปริมาณมาก”
ตัวอย่างโซเดียมในอาหารที่คนไทยชอบบริโภค เช่น มาม่าหม้อไฟเกาหลี มีโซเดียม 6,035 มิลลิกรัม คิดเป็น 3 เท่าของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน ไก่ทอดซอสเกาหลี มีโซเดียม 3,370 มิลลิกรัม คิดเป็น 2 เท่าของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน หมูกระทะ น้ำซุป+น้ำจิ้ม มีโซเดียม 11,764 มิลลิกรัม คิดเป็นเกือบ 6 เท่าของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน และส้มตำถาด มีโซเดียม 4,264 มิลลิกรัม คิดเป็น 2 เท่าของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน
ดูแลสุขภาพคนไทยด้วยมาตรการภาษี ‘ลดเค็ม’
ณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กล่าวอ้างอิงถึง องค์การอนามัยโลกที่ว่า ‘มาตรการภาษี’ คือวิธีที่ใช้ต้นทุนถูกที่สุดในการลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะพฤติกรรมจะถูกเปลี่ยนทันทีตามมาตรการภาษี
“เรื่องการบริโภคความเค็ม รณรงค์มานานแล้วเป็นสิบปีแล้ว แต่ปัญหานี้เพิ่มขึ้นตลอด ผู้ป่วย NCDs เพิ่มขึ้นทุกปี ฉะนั้นหนีไม่พ้นที่จะต้องเอามาตรการภาษีมาใช้ควบคุมโซเดียมในอาหาร ให้ผู้ผลิตปฏิรูปสินค้า และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค”
ยกตัวอย่างภาษีความหวาน มีการใช้สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice logo) ในเครื่องดื่มทางเลือก ผู้ผลิตพยายามลดน้ำตาลในสินค้า หรือออกสินค้าใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ตอนนี้มีสินค้าเพิ่มมาประมาณ 3 เท่า จาก 200 กว่าสินค้า เป็น 3,000 สินค้า เป็นการจุดประกายให้ภาคเอกชน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ หันมารณรงค์ให้ประชาชนมีทางเลือกในการเลือกสินค้าที่มีความหวานน้อย
การลดเกลือโซเดียม หลักการไม่ได้ต่างจากภาษีความหวาน คือเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอสปรุงรส ขนมขบเคี้ยวต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปฏิรูปลดปริมาณโซเดียม แต่การออกภาษีความเค็มยากกว่าภาษีน้ำตาล เพราะมีอาหารบางประเภทที่ใช้โซเดียมในการถนอมอาหาร รสไม่เค็ม แต่อยู่ในส่วนผสมของสินค้า
ในประเทศฮังการี ประสบความสำเร็จกับการใช้มาตรการภาษีโซเดียม แต่ค่อนข้างแตกต่างจากไทย เนื่องจากในฮังการีใช้โซเดียมในอาหารขบเคี้ยวเป็นส่วนใหญ่ซึ่งไม่ใช่อาหารหลัก แต่บ้านเรามักใช้ในอาหารหลัก อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การเริ่ม มาตรการภาษีในระบบอาหารอุตสาหกรรมก่อน เป็นการค่อยๆ ปรับพฤติกรรมคน นำไปสู่การเปลี่ยนการกินในรูปแบบอื่นๆ
“ลดมากลดน้อยก็ยังดีกว่าไม่ลด ต้องคิดว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการหวังรายได้ เราต้องการจะเปลี่ยนพฤติกรรม หรือพูดง่ายๆ เราต้องการจะจุดพลุให้เห็นว่าความเค็มก็มีความสำคัญเหมือนกัน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เมื่อออกมาตรการให้ผู้ผลิตใช้โซเดียมน้อยลง เกิดการพัฒนาสินค้าโซเดียมต่ำ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค”
ภาษีความเค็ม จิ๊กซอว์เติมเต็มการป้องกันโรค
ผู้รู้ทุกท่านมีความเห็นตรงกันว่า การค่อยๆ ปรับพฤติกรรมเป็นวิธีที่เริ่มได้ด้วยตัวเอง ไม่เติมเครื่องปรุงเพิ่มในอาหาร ลดจำนวนขวดซอสปรุงรสในห้องครัวลง เพื่อลดทางเลือกในการเติมเครื่องปรุง และใช้สมุนไพรเพิ่มรสชาติอาหารแทน นอกจากนี้ควรหมั่นตรวจสุขภาพด้วย
ดร.นพ.ไพโรจน์ อธิบายว่า การลดปริมาณโซเดียมในปริมาณ 10% ไม่ได้ทำให้คนกินรู้สึกถึงความแตกต่าง ค่อยๆ ลดปีละ 10% เพราะถ้าลดพรวดพราด ผู้บริโภคก็จะบอกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติไม่ดี และจะกลับไปเติมเครื่องปรุงอยู่ดี แต่ถ้าค่อยๆ ลดก็จะไม่รู้สึกว่ารสชาติเปลี่ยน
มาตรการที่ต้องทำคู่ขนานกันคือการให้ความรู้ การสร้างคุณค่า การทำแคมเปญจะกินใจกว่า สังเกตจากการณรงค์ภาษีความหวาน ตอนนี้คนไทยรับรู้แล้วว่าไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะขึ้นภาษีหรือลดภาษี ผู้บริโภคก็จะเป็นผู้ปรับพฤติกรรมเอง
“ส่วนการใช้มาตรการทางภาษีมากำกับอีกชั้น จะทำให้จิ๊กซอว์ของการควบคุมความเค็มครบองค์ประกอบ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย