‘โคริงกะ’ ดอกไม้บนผืนดิน สู่สวรรค์บนแจกัน
“ศิลปะช่วยยกระดับจิตใจคนได้” รัตนาภรณ์ ศรีอร่ามมณี หรือ ‘ครูนุช’ วิทยากรสอนจัดดอกไม้โคริงกะ คลี่คลายความสงสัยที่ว่า ดอกไม้จะสวยได้เมื่ออยู่บนต้น? ด้วยคำตอบทำให้ฉุกคิดได้ว่า ดอกไม้เกิดมาเพื่ออวดโฉมความสวยงามให้แก่โลก และเขาจะทำหน้าที่สมบูรณ์มากขึ้นด้วยการจัดแต่งลงแจกันด้วยมือมนุษย์ หน้าที่เราจึงต้องทำให้ดอกไม้โดดเด่นที่สุด
การจัดดอกไม้โคริงกะถือเป็นศิลปะชั้นสูง ริเริ่มโดยท่านโมกิจิ โอกาดะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai Foundation) ซึ่งนำเสนอการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มิติแรก คือร่างกาย ส่งเสริมการกินพืชจากเกษตรธรรมชาติและอาหารธรรมชาติ เรียนการปลูกพืชผักโดยไม่ใช้สารเคมี โดยเชื่อว่าพลังชีวิตที่อยู่ในดินส่งต่อพืชที่กินเข้ามาหล่อเลี้ยงร่างกายของมนุษย์ ให้มีพลังชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น
ส่วนมิติด้านจิตวิญญาณ ส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพแนวทางเลือก การชำระล้างจิตใจในการส่งเสริมสุขภาพ เอาพลังธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ที่อยู่ในจักรวาล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของธรรมชาติมารวมกัน
การทำงานทั้งหมดกำหนดการเปลี่ยนแปลงไว้ 7 ด้าน คือร่างกาย จิตใจ พฤติกรรม คำพูด ครอบครัว มุมมองที่มีต่อชีวิต และโชคชะตา
กว่า 33 ปีที่มูลนิธิเอ็มโอเอไทยทำงานมา ได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับครอบครัวมากที่สุด ผู้เข้าอบรมเข้าใจความเป็นธรรมชาติของสมาชิกในครอบครัว เกิดเป็นความเข้าใจกันมากขึ้น ความทุกข์ในใจลดลง สุขภาพทางใจก็แข็งแรงขึ้น บางท่านไปถึงมิติของโชคชะตา คือการผันตัวเองไปเป็นจิตอาสา
อุษณีย์ พรหมมาศ หนึ่งในผู้อบรมและผันตัวมาเป็นอาสาสมัครสอนจัดดอกไม้โคริงกะตั้งแต่ปี 2552 เข้าร่วมเรียนจัดดอกไม้จากคำแนะนำของเพื่อน ตอนนั้นเธอหาทางกำจัดความเครียดจากงาน การเรียนจัดดอกไม้โคริงกะทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น และแผ่ขยายการจัดดอกไม้ไปในพื้นที่ทำงาน ทำให้ความสัมพันธ์กับหัวหน้าและเพื่อนทำงานดีขึ้น
เมื่อออฟฟิศปิดตัวจากภาวะเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ บทบาท NGO ของเธอก็ถูกสนับสนุนเงินทุนน้อยลง ขณะเดียวกันวัยเกษียณก็จะคืบคลานเข้ามาอีกไม่กี่ปี เธอจึงตัดสินใจเข้ามาเป็นอาสาสมัครสอนจัดดอกไม้ที่ MOA ในวันรุ่งขึ้นที่ไม่ต้องไปทำงาน
“คนเมืองอยู่ในสังคมแห่งความเครียด อยู่กับปัญหาเฉพาะหน้า ลืมว่าจริงๆ แล้วองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือเรื่องของจิตใจ ชีวิตประจำวันอยู่กับโซเชียลมีเดียมากเกินไป คนเราต้องการความรู้สึกที่สงบทางใจ ให้ได้หยุดนิ่งบ้าง อยู่กับสิ่งรอบตัวบ้าง ตรงนี้ต่างหากที่เราคิดว่าความงามของธรรมชาติ ไม่ว่าจะผ่านดอกไม้ ใบหญ้าอะไรก็ตาม มันทำให้เราได้หันกลับมาดูตัวเอง”
โคริงกะ แปลว่า ดอกไม้แห่งแสงสว่าง ไม่มีรูปแบบการจัดที่ตายตัว ซึ่งต่างจากโรงเรียนสอนจัดดอกไม้ในประเทศญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบเหมือนๆ กัน หัวใจสำคัญของการจัดดอกไม้แบบโคริงกะ คือ ‘การมองพืชมีชีวิต’
“พืชเขามีชีวิต ถ้าอยู่ในมือเรานานเกินไปพืชจะเหี่ยวเฉาได้ง่าย แต่เราสามารถที่จะจัดวาง ตัดใบก้าน มองทิศทางที่ควรวาง ก็ต่อเมื่อเราได้ผ่านกระบวนการระดับต่างๆ มาจนใช้เวลาไม่นานเกินไป
“เวลาที่เราเอาพืชมาใช้งานอย่าจับเล่นมากเกินไป ข้อสำคัญคือ การที่เราเคารพต่อชีวิตพืช เคารพความเป็นธรรมชาติของเขา จึงต้องทำทุกขั้นตอนให้เหมือนเขามีจิตวิญญาณ อาจจะไม่ได้มีจิตวิญญาณที่สลับซับซ้อนเหมือนมนุษย์ แต่ก็ต้องการความรักความทะนุถนอมเหมือนกัน ถ้าเราสามารถจัดการกับพืชให้น้อยลง เขาเป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น พืชก็จะแสดงพลังได้
“การจัดดอกไม้แบบโคริงกะ คือการปฏิรูปการจัดดอกไม้ด้วยการแสดงสัจธรรม ท่านโอกาดะต้องการแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราจะได้จากพืช จริงๆ มันนอกเหนือความงาม แต่คือพลังชีวิตที่เขามาช่วยที่ช่วยเยียวยาจิตใจมนุษย์” อุษณีย์ขยายความให้เราเข้าใจ
พืชมีพลังช่วยให้จิตใจปลอดโปร่ง ลดความขุ่นมัวในจิตวิญญาณ ลดความเครียด ความวิตกกังวล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง และระบบประสาท ตรงนี้ต่างหากที่เราได้จากการจัดดอกไม้ เพราะฉะนั้นการจัดดอกไม้ของท่านโอกาดะ คือการขับเคลื่อนความงามที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่จะงดงามมากขึ้นจากการผสมผสานระหว่างพืชกับแจกันด้วย
“บางกิ่งเล็ดลอดเพื่อหนีจากกิ่งอื่นๆ ให้ตัวเองรับแสงแดด และโชว์ความงามของเขาเอง เวลาที่เราตัดเขาออกจากต้น เขาดีใจนะ เพราะมันเหมือนว่าเขาได้เด่นในแจกันนั้นขึ้นมาทันที เหมือนได้ทำประโยชน์ ได้ทำหน้าที่ของเขา คนสมัยก่อนได้เรียนรู้จากพืช ได้เคารพชีวิตของพืช
“เวลาที่เราจัดดอกไม้ก็ต้องให้เข้ากับบรรยากาศของภาพวาด ภาพแขวน มันก็ทำให้เรารู้สึกถึงความเข้ากันและเป็นองค์ประกอบของศิลปะชั้นสูง ซึ่งช่วยยกระดับจิตวิญญาณของคนจัดและคนที่เห็นด้วย ไม่ได้เน้นการซื้อหาดอกไม้ในราคาแพง หรือดอกไม้นอกฤดู
“ดอกไม้ที่ดีที่สุดควรเป็นดอกไม้ในฤดูกาล เพราะว่ามีพลังชีวิตเยอะ”
การเรียนจัดดอกไม้โคริงกะแบ่งเป็น 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เป็นระดับเริ่มต้นที่เน้นให้ผู้จัดเพลิดเพลินมีความสุขด้วยตัวเอง ก่อนที่จะเดินไปเลือกพืช เลือกแจกัน คือการยืนเพื่อดึงความคิดกลับมาที่ตัวเอง เวลาที่เราสงบจิตใจแล้วจะสื่อสารกับพืช พืชจะรับรู้ความรู้สึกของเราได้ บางครั้งจะรู้สึกว่าพืชเรียกเรา ขั้นตอนนี้จะยังไม่วิจารณ์ผลงาน
ระดับกลาง จะเรียนรู้โลกของธรรมชาติ ซึ่งมีความงามที่ซ่อนเร้นอยู่ แบ่งเป็น 3 หัวข้อคือ เส้น รูปร่าง และสีสัน เรียนรู้เทคนิคเพิ่มขึ้น เพื่อให้พืชสามารถโชว์ความงามได้ ซึ่งมีเทคนิคที่ทำกับพืชและแจกัน การจัดวางที่สามารถรับตัวกิ่ง ให้พืชแสดงพลังอย่างสูงสุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพืชที่มีพลังแข็งแกร่ง ต้นที่มีความนุ่มนวลก็มีพลังได้ ผลงานต้องเป็นมาตรฐาน ไม่ใช่แค่เราที่เห็นว่าสวย แต่คนอื่นก็ต้องเห็นว่าสวย
ระดับสูง ฝึกเป็นผู้ให้คำแนะนำ เน้นหัวใจสำคัญของการจัดดอกไม้โคริงกะ คือพยายามใช้ดอกไม้ให้น้อยเพื่อให้เห็นความงามที่เด่นชัด คำนึงถึงความผสมผสานกลมกลืนของพืชและแจกัน และความกลมกลืนระหว่างพืชด้วยกันเอง ว่าเราควรจะเลือกเขาแบบไหน และใช้เวลาจัดให้น้อยลง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เร็วหรือเกิดขึ้นได้ง่ายก็ต่อเมื่อผู้จัดได้ผ่านการฝึกฝนในแต่ละระดับแล้ว
“ทุกระดับจะมีขั้นตอนถอยหลังออกมาดูภาพรวม เราต้องสมมติตัวเองเป็นบุคคลที่สอง เพื่อประเมินผลงานตัวเอง คำว่าบุคคลที่สอง หมายความว่า ไม่ใช่ตัวเรา ไม่อย่างนั้นเราอาจจะเข้าข้างตัวเอง แต่ถ้าเราคิดว่าเราเป็นผู้ชม ไม่ใช่ผู้จัด จะมองในมุมมองที่ต่างออกไปได้ด้วยความเที่ยงตรง เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องฝึก เมื่อถอยออกมาแล้ว การเห็นของเราจะกว้างขึ้น จะไม่ได้มองแค่พืช แต่จะมองเห็นแจกันด้วย
“ท่านโอกาดะบอกว่า เราควรทำแบบนี้ให้เป็นประจำ เป็นการเตือนตัวเองดีกว่าให้คนอื่นเตือน เป็นการฝึกให้เราเป็นผู้ประเมินด้วยการสวมหมวกคนละใบ”
เมื่อความสวยของแต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน อะไรคือความสวยแบบโคริงกะ? เราตั้งคำถาม
“ความงามของพืชเห็นได้ชัดเจนตอนเขาโดนแสงอาทิตย์ ถ้าเป็นดอกไม้เราก็จะเห็นหน้าดอกที่ชัดเจน ถ้าเป็นใบเราก็จะเห็นความเข้มของใบที่ชัดเจน การเจริญเติบโตของกิ่งก้านต่างๆ จะได้รับแสงเต็มที่ ส่วนด้านที่ไม่ได้รับแสงจะสีชืดๆ จืดๆ หรือไม่เข้มเหมือนด้านหน้าที่ถูกแสง เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วด้านที่สวยจะเป็นด้านที่รับแสง
“อะไรก็ตามที่เป็นพืช หันด้านนั้นมาเราก็จะเห็นความงามที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่จัดดอกไม้ พยายามให้ด้านที่โดนแสงหันหาเรา แล้วดูองค์ประกอบว่าลงตัวหรือเข้ากันได้ไหม มีความเป็นเอกภาพไหม ใช้ดอกไม้ให้น้อย อย่าหลากชนิดเกินไป เพราะแทนที่เขาจะเสริมก็กลับแข่งกัน นึกภาพถ้าเราเอาดอกกล้วยไม้ ลิลลี่ กุหลาบ บางทีมันมากเกินไปในแจกัน
“ท่านโอกาดะตั้งใจปลูกดอกไม้ ออกแบบสวน เพื่อต้องการสร้างสวรรค์บนพื้นพิภพ ความงามของดอกไม้รังสรรค์ให้โลกน่าอยู่ขึ้น ช่วยบรรเทาสภาพเยี่ยงนรกให้น้อยลง เมื่อพบกับปัญหา อยากให้มองธรรมชาติ ท้องฟ้า ดวงดาว มันสร้างความหวังให้กับใครหลายคน”
อ่านมาถึงตอนจบ คุณคงเกิดคำถามว่าจัดดอกไม้สัมพันธ์อย่างไรกับ ‘กินดีmeสุข’
ตอบง่ายๆ ว่า เพราะความงามเหล่านี้คือ ‘อาหารใจ’ สุขภาพที่ดี ต้องมาจากอาหารที่ดี และหัวใจที่ดีด้วย