Greenery Market ตลาดเขียวที่ชวนมาเรียนรู้วิถีกินดี กรีนดี
Eat Good, Live Green คือประเด็นการสื่อสารหลักของ Greenery. กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนสังคมโดยการใช้สื่อร่วมสมัย นำเสนอความรู้และแนวคิดสร้างสรรค์ในการปรับเปลี่ยนวิถีการกินการอยู่ของผู้คน ให้หันมาใส่ใจสุขภาพผ่านอาหารการกิน และใส่ใจโลกผ่านการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ไลฟ์สไตล์เช่นนี้ได้สอดแทรกเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืน
นอกจากการวางเป้าหมายไว้บนคำว่า Inspiration, Education และ Action ที่สร้างแรงบันดาลใจและเรียนรู้การร่วมกัน ผ่านบทความ คลิปวิดีโอ เวิร์กช็อปต่างๆ รวมถึงเปิดการสนทนาแลกเปลี่ยนไอเดียกันผ่านกลุ่ม Greenery Eat Good, Greenery Challenge กระทั่งเกิดการลงมือทำ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่การกินการใช้สินค้าที่ดีต่อสุขภาพของตนและดีกับสุขภาพของโลกไปด้วยพร้อมกันแล้ว
การเรียนรู้ร่วมกันดังกล่าว ได้นำมาสู่การจัดให้มีตลาดเขียวภายใต้ชื่อ ‘Greenery Market’ ด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อเชื่อมโยงให้คนเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้อย่างสะดวกขึ้น
ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการ Greenery. เล่าให้ฟังว่า “จุดหมายของกรีนเนอรี่ คือทำพื้นที่เมืองหรือพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เข้าถึงอาหารปลอดภัย โดยเชื่อมโยงกับเกษตรกรอินทรีย์ และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราส่งต่อความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากกินอาหารปลอดภัยด้วยบทความที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ greenery.org วิดีโอคลิปฮาวทู หรือเวิร์กช็อปต่างๆ
“และเมื่อให้ความรู้แล้ว คนอ่านหรือคนดูเกิดความสนใจในสิ่งที่เราพูดถึง และเขาอยากจะกินอาหารดีๆ เหล่านั้น เขาจะซื้อได้ที่ไหน เราจึงได้เชื่อมโยงให้เกษตรกรอินทรีย์และผู้บริโภคได้มาเจอกัน ผ่านการจัดตลาด Greenery Market”
Greenery Market เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2560 โดยจัดขึ้นในกลางเมืองย่านสยาม ที่ไม่เพียงแต่เกิดการซื้อขายโดยตรงของผู้ผลิตและผู้บริโภค หากยังมีกิจกรรมที่สอดแทรกความรู้เรื่องการกินดี กรีนดี ที่ตอบไลฟ์สไตล์คนเมือง และจากการจัดตลาดต่อเนื่องมา 4 ปี ระหว่างปี 2560-2563 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด ธนบูรณ์เล่าว่า เขาพบประเด็นน่าสนใจที่ทำให้เห็นว่า เรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงความยั่งยืน ได้เข้าไปสู่การรับรู้ของผู้บริโภคในกลุ่มที่กว้างขึ้นกว่าเดิมมาก
“ก่อนหน้านี้ความสนใจเรื่องสุขภาพมักจะอยู่ในกลุ่มผู้บริโภควัย 40-45 ปี แต่ปัจจุบันสินค้าเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในความสนใจของผู้บริโภคที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และจากที่ความสนใจหลักอยู่ในสินค้าประเภทอาหาร ก็ต่อยอดไปสู่สินค้าที่หลากหลายขึ้น เช่นผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ไปจนถึงสินค้าสำหรับเกษตรกรอินทรีย์มือใหม่ ที่อยากปลูกผักกินเองที่บ้าน
“สินค้าที่มาจำหน่ายในตลาด ต้องดีต่อสุขภาพ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสังคม” ธนบูรณ์เล่าถึงวิสัยทัศน์หลัก โดยสินค้าที่จำหน่ายใน Greenery Market จำแนกออกเป็นสามกลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ที่มีการเลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติ ประมงพื้นบ้าน อาหารแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
กลุ่มที่สอง คือสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของใช้ในครัวเรือนหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์น้ำยาที่ใช้ในครัวเรือนต่างๆ ของใช้จากชุมชนที่ปลอดสารพิษในกระบวนการผลิต เช่น เสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายธรรมชาติ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ เครื่องจักสาน ของเล่นไม้ที่ใช้สีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยกับเด็ก
และกลุ่มที่สาม คือกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม ที่มองถึงประโยชน์ของธุรกิจที่มีต่อสังคมเป็นหลัก เช่น มีสินค้าที่นำรายได้จากการจำหน่ายไปช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ องค์กรที่เปิดรับของมือสองเพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษา มีบริการนวดคลายเมื่อยล้าจากอาการออฟฟิศซินโดรมจากวิสาหกิจสุขภาพชุมชน หรือธุรกิจที่รับบริจาคขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิลและสร้างคุณค่าได้ต่อ
ในด้านการจัดการตลาดนั้น Greenery Market ให้ความสำคัญต่อประเด็นการลดขยะพลาสติก สนับสนุนการงดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การนำถุงผ้า ถุงรีไซเคิล นำภาชนะแบบใช้ซ้ำมาใส่อาหารและสินค้า ใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติเช่นนี้มาตลอดจนปัจจุบัน
Greenery Market ปิดตลาดชั่วคราวเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ติดต่อซื้อขายกันอย่างต่อเนื่องในชุมชนออนไลน์ ผ่านตลาดบางอีโค่ (Eco & Green Marketplace | ตลาดบางอีโค่) โดยเกษตรกรอินทรีย์และผู้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้นำผลผลิตมาโพสต์จำหน่าย สมาชิกในกลุ่มได้เข้ามาช่วยกันแนะนำวัตถุดิบ หรืออาหารปลอดภัย เพื่อแบ่งปันไอเดียกันในสถานการณ์ที่ไม่อาจพบปะกันได้
กระทั่งปี 2565 ที่ภาวะโรคระบาดคลี่คลาย Greenery Market จึงได้เปิดตลาดขึ้นอีกครั้ง และขยับตัวเองจากการยืนอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง มายังย่านอื่นๆ ในกรุงเทพฯ และมองหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อนำผลผลิตอินทรีย์และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่มือของคนเมืองได้หลากหลายขึ้น
“เป้าหมายในการทำตลาดของเรายังเหมือนเดิม สิ่งที่ต่างไปคือไม่ยึดติดกับพื้นที่ใจกลางเมืองเช่นเดิม แต่หมุนเวียนไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานเอกชนหรือภาครัฐ ที่มีทิศทางการทำงานในประเด็นเดียวกัน เพื่อส่งเสริมการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืน เป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงการบริโภคของผู้คนได้มากขึ้น”
ด้วยรูปแบบการจัดการดังที่ธนบูรณ์ได้กล่าวไว้นั้น ตลาดเขียวภายใต้การดำเนินการของ Greenery. จึงเป็นอีกหนึ่งสะพานที่เชื่อมผู้ผลิตอินทรีย์และผู้ประกอบการที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เข้ามาใกล้ชิดกับผู้บริโภคในเมืองหลวง ที่สนใจในวิถีการกินดี กรีนดี และพร้อมปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การกินและการใช้ชีวิตรอบด้าน มาสู่แนวทางที่ยั่งยืนขึ้น