เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ ให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เหมาะสมตามหลักโภชนาการ และพัฒนานวัตกรรมเชื่อมโยงอาหารจากการผลิต การกระจายสู่ผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ลดความเหลื่อมล้ำในระบบอาหาร จึงเกิดการสานพลังของ สสส. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา วันอาหารโลก “Food For Better Life กินดี me สุข” เมื่อวันอาหารโลก (World Food Day) ในวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหารและร่วมปกป้องระบบอาหารที่ยั่งยืน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า “ประชาคมโลกมีการพัฒนาความก้าวหน้าในด้านต่างๆ มากขึ้น แต่ยังพบว่าคนจำนวนมาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ นวัตกรรม และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพมาบริโภคได้
“ปัญหานี้นำไปสู่ความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารและภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชากร ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เก็บข้อมูล 84,000 ครัวเรือนทั่วไทย พบว่า อาหารที่กินเป็นประจำ 3-7 วันต่อสัปดาห์ คืออาหารไขมันสูง 42% แปรรูป 39% น้ำหวาน 34% กลายเป็นรายจ่ายที่เกินความจำเป็นเฉลี่ย 7,450 บาทต่อสัปดาห์
“ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนความไม่มั่นคงทางอาหาร ส่งผลให้หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันยกระดับสิทธิด้านอาหาร ส่งเสริมโภชนาการ อธิปไตยทางอาหาร ความเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดระบบอาหารที่ยั่งยืนขึ้น”
ทั้งนี้ สสส. ได้กำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์เพื่อสร้างการเข้าถึงการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างค่านิยม พฤติกรรม และวิถีการบริโภคอาหารสุขภาพ ได้พัฒนาแบบทดสอบพลังพลเมืองอาหารในตัวคุณ 10 ข้อง่ายๆ เพื่อยกระดับผู้บริโภคเป็น “พลเมืองอาหาร” ที่มีความรู้ ความเข้าใจสิทธิในการเข้าถึงระบบอาหารที่ดี สามารถเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ใส่ใจต่อระบบนิเวศ และสนับสนุนอาหารท้องถิ่นสู่การเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนระบบอาหารและความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ตั้งแต่มื้ออาหารของตนเอง ชุมชน และสังคม โดยทุกคนที่สนใจสามารถทดสอบความเป็นพลเมืองอาหารของตนเองได้ที่ shorturl.asia/VstR5
ในส่วนของการเสวนาวันอาหารโลก “Food For Better Life กินดี me สุข” โดย ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แหห่งชาติ (เนคเทค) โอวา-ธนาวัตน์ จันนิม ผู้ก่อตั้งเพจ โอวาข้าวหอมมะลิแท้สุรินทร์ 100% และ นุ่น-สินิทธา บุณยศักดิ์ ผู้บริโภคที่ชาญฉลาด หรือ Smart Consumer ต่างร่วมนำเสนอมุมมองเพื่อสร้างพลเมืองอาหารและระบบอาหารที่ยั่งยืนเอาไว้อย่างน่าสนใจ
ระบบอาหารและวิถีแห่งโลกดิจิทัล
ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการประชุมเอเปค 2565 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้จัดหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
เสริมศักยภาพการพัฒนานโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางการค้า เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
และได้ย้ำถึงนโยบาย #3S ซึ่งประกอบด้วย #Safety (ความปลอดภัย), #Security (ความมั่นคงทางอาหาร) และ #Sustainability (ความยั่งยืน) โดยนโยบายนี้จะตอบโจทย์ประเทศไทยในการเป็นผู้ผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพ นำไปสู่การบริโภคและการจัดการที่ยั่งยืน ดูแลภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นต้นน้ำด้านอาหาร และเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องระบบอาหารและความมั่นคงทางอาหาร
รวมทั้งสร้างการรับรู้ในผู้บริโภคต่อความสำคัญในการช่วยสนับสนุนสินค้าอินทรีย์ ที่จะนำมาสู่การบริโภคที่ปลอดภัย เพื่อผลที่จะสะท้อนกลับมายังเรื่องต้นทุนการรักษาพยาบาลและระบบห่วงโซ่อาหาร และหากเกิดการบริโภคมากขึ้น จะสามารถทำให้ราคาของสินค้าอินทรีย์เข้าถึงได้มากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ สนับสนุนให้มีระบบเกษตรกรรมยั่งยืน คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ความปลอดภัยของผู้บริโภค เพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร ความสมดุลของระบบนิเวศ พัฒนาต้นแบบอาหารปลอดภัย ที่สามารถขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ กล่าวว่า เนคเทคได้ร่วมกับ สสส. พัฒนาและจัดอบรมการใช้นวัตกรรม Thai School Lunch เครื่องมือสำหรับแนะนำครูบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและคำนวณปริมาณวัตถุดิบทำเมนูอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนได้กว่า 1,000 เมนู
พร้อมเชื่อมโยงผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ชุมชน มาสู่การทำอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมตามหลักโภชนาการ โดยผู้ปกครองสามารถติดตามการจัดอาหาร รวมถึงพัฒนาการด้านน้ำหนัก-ส่วนสูงของลูกผ่านมือถือได้แบบเรียลไทม์
ในขณะที่แอปพลิเคชัน Food Choice จะเป็นเครื่องมือช่วยเลือกซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป โดยสามารถแสกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย
โดยทั้งสองนวัตกรรมนี้ ได้มีการขยายผลในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ เพื่อสร้างเสริมความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ และปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพในประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ #NCDs
พลิกชีวิต ชาวนา me สุข
โอวา ลูกหลานชาวนาที่ต่อยอดอาชีพของครอบครัวสู่การเป็นเกษตรกรอินทรีย์และเกษตรปลอดสาร ขายข้าวอินทรีย์ออนไลน์ สะท้อนถึงต้นทุนการผลิตที่เป็นปัจจัยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าอินทรีย์ได้ยาก การให้ความรู้กับผู้บริโภคและเกษตรในการให้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ตรง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนวิถีมาสู่การบริโภคและการทำเกษตรอินทรีย์
อีกด้านหนึ่งคือการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เพื่อดึงกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยี มาเข้าสู่แพลตฟอร์มการขาย และหาผู้บริโภคของตนเองให้เจอ ทั้งควรใช้การเล่าเรื่องมาเป็นเครื่องมือในการขาย ซึ่งการมีเรื่องเล่าที่ดีและน่าสนใจ จะได้ผลทางการขาย ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีในการทำเกษตรควรมีราคาที่เกษตรกรเข้าถึงได้ หากต้องการผลักดันให้คนรุ่นใหม่หันเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม
“และอยากให้มองว่า อาหารคือสวัสดิการ รัฐอาจเข้ามาอุดหนุนเรื่องราคาอาหารอินทรีย์ที่มีราคาสูง หากอุดหนุนในส่วนนี้ เราอาจไม่ต้องไปอุดหนุนเรื่อง 30 รักษาทุกโรค เพราะคนสุขภาพดีขึ้นแล้ว และควรติดตามดูว่าใครได้รับผลกระทบจากการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพบ้าง หากนำเสนอออกมาให้เห็นได้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของประเทศนี้”
รู้ก่อนกิน ชีวิตดี me สุข
จากที่เคยป่วยเพราะการกินที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ นุ่น สินิทธา ค่อยๆ เรียนรู้และเปลี่ยนตัวเองมาสู่การเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด การเรียนรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ทำให้เข้าใจเหตุและผล ซึ่งการรู้ที่มาที่ไปของอาหารเป็นเรื่องสำคัญ การได้รู้ว่าอาหารที่กินปลูกแบบไหน ให้แร่ธาตุสารอาหารอะไรที่จำเป็น จะทำให้รู้ว่าควรเลือกอย่างไร
“เราถูกบดบังด้วยโฆษณาที่เป็นตัวชี้นำ ผู้บริโภคที่ไม่เข้าใจมักฝากชีวิตไว้กับคนอื่นเสมอ เมื่อป่วยเราฝากชีวิตไว้กับหมอ เมื่อจะกินเราฝากชีวิตไว้กับผู้ผลิต ฉะนั้นเราควรเป็น smart consumer อ่านฉลากสักนิด หรือศึกษาเพื่อรู้ที่มา การได้คุยกับผู้ผลิตโดยตรงจะทำให้เราได้รู้ทั้งที่มาและวิธีกินที่ถูกต้อง ผู้บริโภคมีสิทธินี้ และควรใช้สิทธินี้ในการสอบถาม เพื่อรู้ที่มาที่ไปของอาหาร
“เราใช้โต๊ะอาหารเพื่อเชื่อมโยงกับครอบครัว เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ แต่เราไม่ได้เชื่อมโยงกับสุขภาพของเราเลย เราตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงป่วย ทั้งที่คำตอบมันอยู่ตรงหน้าเรา ฉะนั้นเรามาเริ่มที่ you are what you eat เริ่มจากอาหารที่เรากิน เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน และชีวิตที่ยั่งยืน”