‘ห้างสุนีย์’ โค้ชการตลาดของเกษตรกรสีเขียว
เมื่อไปห้างสรรพสินค้า เรามักนึกถึงสถานที่จับจ่ายที่มีทุกสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกเป็นพื้นฐาน แต่ที่ห้างสุนีย์ ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่คู่จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ภาพเกี่ยวกับห้างสรรพสินค้าที่เราคุ้นเคยเปลี่ยนไป เพราะสิ่งที่เพิ่มเข้ามามากกว่าห้างสรรพสินค้าทั่วไป คือการเป็นศูนย์รวมผักจากเกษตรกรตลาดเขียว ‘กินสบายใจ’ โดยมูลนิธิสื่อสร้างสุข ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดอีกด้วย
คนึงนุช วงศ์เย็น ผู้จัดการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ฉายภาพให้เราเห็นความร่วมกับภาคเอกชนอย่างห้างสุนีย์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าห้างไม่ได้เพียงเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรขายฟรีเท่านั้น แต่เกษตรกรที่เข้าไปใช้พื้นก็ได้เรียนรู้เรื่องการตลาดไปด้วยเช่นกัน
คนึงนุชเล่าว่า เมื่อปี 2555 มูลนิธิฯ กำลังหาพื้นที่จัดบูธเกษตรกินสบายใจ เพื่อทำความรู้จัก พบปะผู้บริโภค และภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ขณะที่ห้างสุนีย์เองก็ได้เปิดลานกิจกรรมสำหรับหน่วยงานอยู่แล้ว และยังมีทั้งโรงแรม ศูนย์จัดประชุม โรงหนัง สวนน้ำ ห้างนี้จึงเป็นเสมือนพื้นที่ที่รวมคนในจังหวัดอุบลฯ และต่างจังหวัดที่เข้ามาใช้พื้นที่ และเมื่อได้เข้าไปพูดคุยถึงสิ่งที่มูลนิธิฯ กำลังทำ ห้างสุนีย์ก็เปิดโอกาสให้เข้าไปใช้พื้นที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
สามปีต่อมา ห้างสุนีย์เสนอพื้นที่ของตัวเองให้เปิดตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ เป็นความร่วมมือจากกิจกรรมสู่ความร่วมมือของเกษตรกรที่อยากเปิดตลาด และต่อยอดให้เกิดอีกหลายโครงการร่วมกัน ทั้งตลาดสีเขียวกินสบายใจ ตู้ผักกินสบายใจ กินสบายใจช็อป กินสบายแฟชั่น ที่ขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์
คนึงนุชเล่าถึงเบื้องหลังความคิดนี้ว่า “เจ้าของห้างสุนีย์สนใจที่จะพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกร ด้วยคิดว่าถ้าเกษตรกรจะยืนได้ก็ต้องมีรายได้ และตลาดเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงเปิดช่องทางให้เกษตรกรเข้ามาขายผลผลิตให้ผู้บริโภคคนเมือง ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมแค่โครงการเกษตรอินทรีย์ แต่ยังส่งเสริมงานอื่นๆ ที่ สสส.ทำด้วย อาทิ แผนการอ่าน เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่การอ่านที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานด้วย
“เวลาที่เราทำกิจกรรม เราจะพบว่าภาครัฐให้ความร่วมมือดี แต่ภาครัฐมองในมุมของการส่งเสริมความรู้ และมีกลไกของรัฐที่ทำอะไรไม่ได้มาก โดยเฉพาะการทำธุรกิจ ขณะที่ภาคเอกชนมองอะไรที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงมาก โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจ คือทำแล้วต้องได้ขาย ต้องมีคนซื้อ
“มันจึงเป็นข้อต่อในห่วงโซ่ของการบริโภคที่เราจะเชื่อมไปถึงคนกินจริงๆ เพราะเรื่องการตลาดเป็นจุดอ่อนที่สุดของตลาดอินทรีย์ ถึงผลิตได้แต่ไม่มีที่จำหน่าย เกษตรอินทรีย์ก็ไม่ขยาย” จากนั้นเป็นต้นมา กินสบายใจก็เหมือนมีห้างสุนีย์เป็นโค้ชที่ปรึกษาด้านการตลาดโดยปริยาย
“ห้างมองว่าการเปิดช็อปกับการเปิดตลาดเพียงวันเสาร์แตกต่างกัน ในวันเสาร์คนปลูกจะพบปะผู้บริโภค แต่ถ้าทำช็อปต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนารูปแบบธุรกิจ ทำบรรจุภัณฑ์ แปรรูป ทำโปรโมชั่น ให้ถึงมือกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อจริงๆ แล้วตั้งราคาขายที่ต่างกันอย่างสมเหตุสมผล ทำธุรกิจให้เต็มรูปแบบ คือมีกำไร ไม่ขายของถูกเกินไป เกษตรกรต้องมีเงินเดือน ถ้าไม่มีโครงการของ สสส. สนับสนุนก็ต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง เอากำไรตรงนี้หมุนกลับไปส่งเสริมเกษตรกร
“เป้าของเราตอนนี้คืออยากทำธุรกิจให้อยู่รอด มีกำไรหมุนกลับไปช่วยคนที่เป็นต้นทางคือผู้ผลิต กลับไปทำงานส่งเสริมให้ความรู้สมาชิก ทำเรื่องการตรวจรับรองให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น เพื่อให้เกิดห่วงโซ่อาหารโดยธุรกิจเพื่อสังคมเป็นตัวขับเคลื่อน การตลาดมันเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์บ้านเมือง และพฤติกรรมผู้บริโภค”
ปี 2563 ตลาดเขียวและห้างเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจว่าพฤติกรรมการเดินห้างไม่ใช่ทางออกเดียวแล้ว พวกเขาหันไปเที่ยวสวนผักของเกษตรกรอินทรีย์ เกษตรกรเองก็หันไปเปิดสวนตัวเองแล้วส่งสินค้ามาขายที่ช็อปซึ่งตั้งอยู่ภายในห้าง ลดการออกบูธตลาดเขียว ร้านค้าเกษตรกรที่ออกบูธจึงลดลง แต่กลับไปโตในรูปแบบอื่น นับเป็นพัฒนาการของตลาดแต่ละแบบ ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นของตัวเอง
การได้ทำงานกับห้างสุนีย์ จึงทำให้เกษตรกรมองการตลาดชัดขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของระบบเกษตรอินทรีย์
“เราทำเกษตรเชิงธุรกิจได้ แต่เกษตรอินทรีย์ไม่มีทางที่จะผลิตคะน้าได้ทั้ง 12 เดือน เพราะเราปลูกตามฤดูกาล ผู้บริโภคต้องรู้จักกินผักอย่างอื่น สุดท้ายต้องถามพฤติกรรมผู้บริโภคว่าจะยอมเปลี่ยนให้เกษตรกรได้ทำธุรกิจไหม ไม่ใช่ภาคเอกชนให้พื้นที่อย่างเดียวแล้วสำเร็จ แต่ตัวแปรสำคัญคือพลังซื้อจากผู้บริโภค ถ้าคุณเปลี่ยนการกิน มันก็เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ และเปลี่ยนรูปแบบการผลิตของเกษตรกรด้วย
“ตลอดการทำงานร่วมกับห้างสุนีย์ เรารู้ได้ว่าเรามีศรัทธาในสิ่งเดียวกัน คือการพัฒนาที่ยั่งยืน ห้างสุนีย์บอกว่า คนอุบลอยู่ได้ ห้างก็อยู่ได้ ห้างมองเกษตรกรอินทรีย์ ผู้บริโภค และภาคีแบบเราเป็นหุ้นส่วนของความยั่งยืน ไม่ได้พัฒนาแค่ตัวเอง แต่ต้องพัฒนาคนที่อยู่รอบห้างด้วย”
สิ่งที่ห้างสุนีย์ทำในตอนนี้ นอกจากเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงอาหารที่ดีแล้ว ยังสนับสนุนการผลิตที่ดี และกำลังเปลี่ยนวิถีคนให้มีวิถีชีวิตสีเขียวมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในมิติของเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกษตรกร และห้างสุนีย์กำลังทำหน้าที่เป็นพื้นที่สื่อสารขนาดใหญ่แก่เกษตรกรอินทรีย์